วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจ้าชายนันทะเสด็จละจากเจ้าสาวไปตามเสด็จพระพุทธเจ้า

เจ้าชายนันทะเสด็จละจากเจ้าสาวไปตามเสด็จพระพุทธเจ้า
img39

ภายหลังวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ จากการอัญเชิญของ พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระพุทธบิดาแล้ว เมื่อล่วงถึงวันที่สามอันเป็นวันวิวาหมงคล ของเจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระพุทธอนุชาต่างพระชนนี พระผู้มีพระภาคเสด็จไปรับบิณฑบาต แล้วประทานบาตรแก่เจ้าชายนันทะ ทรงอนุโมทนา แล้วเสด็จหลีกไป หาได้ทรงรับบาตรจากเจ้าชายนันทะไม่ เจ้าชายนันทะต้องตามเสด็จติดตามไป ฝ่ายเจ้าหญิงเห็นดังนั้นจึงได้เสด็จไปที่พระแกล แล้วกราบทูลแก่เจ้าชายนันทะว่า ขอให้รีบเสด็จกลับมาโดยเร็วด้วย เจ้าชายนันทะได้ฟังเสียงเจ้าหญิงแล้ว ก็เกิดความละล้าละลัง แต่ก็ได้ตามเสด็จไปจนถึงพระวิหาร และได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ในกาลต่อมา ได้มีคำกล่าวจากเพื่อพรหมจารีว่า พระนันทะบวชเพราะต้องการได้นางสวรรค์ พระผู้มีพระภาคเป็นนายจ้าง พระนันทะเป็นลูกจ้าง เธอได้ฟังก็เกิดความละอายใจ จึงหลีกออกจากหมู่ไปบำเพ็ญเพียร จนในที่สุดก็ได้ประสบสุขชั่วนิรันดร

พระอานนท์และพระเทวทัตออกบวช
loading picture

สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคม เมืองกุสินารา พวกพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ได้ทราบข่าว จึงอนุญาตให้โอรสของตน ๆ ออกบวชตามพระญาติฝ่ายพระมารดา และพระญาติของพระบิดา จำนวนฝ่ายละแปดพันองค์ รวมเป็นหนึ่งหมื่นหกพันองค์
พระมหานามโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ได้อนุญาตให้พระอนุรุทธออกบวช พระอนุรุทธจึงชวนบรรดากษัตริย์คือ พระภัททิยะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ในสมัยนั้น พระอานนท์ ราชโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ พระภคุ พระกิมพิละ พระเทวทัตต์ พระอนุชาของพระนางยโสธราพิมพานอกจากนั้นยังมีอุบาลี ช่างกัลบกประจำราชสำนัก ทั้งหมดได้รับการบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ
ในบรรดาภิกษุใหม่ทั้งเจ็ดรูปนั้น เว้นพระอานนท์และพระเทวทัตต์ ได้บรรลุพระหัตผลทุกรูป ส่วนพระอานนท์ได้ฟังพระธรรมเทศนา จากพระปุณณมัมตานีบุตรเถร จึงได้บรรลุโสดาปัตติผลและได้เป็นผู้ ปรนนิบัติพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด และเชี่ยวชาญในคำสอนของพระพุทธองค์
ส่วนพระเทวทัตต์สำเร็จทางฌาณโลกีย์ ต่อมาภายหลังเมื่อถูกลาภสักการะเข้าครอบงำ คิดจะอยู่ในฐานะของพระพุทธเจ้าเสียเอง ได้ทูลขอปกครองสงฆ์จากพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ไม่ยินยอม จึงได้คบคิดกับพระเจ้าอชาติศัตรูแห่งกรุงราชคฤห์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ผลสุดท้ายได้ทำร้ายพระพุทธเจ้า ถึงขั้นอนันตริยกรรม จึงถูกแผ่นดินสูบทั้งเป็น

อนาถปิณฑิกะ สร้างพระเชตวันวิหารถวายพระพุทธเจ้า
loading picture

ในกรุงสาวัตถีแคว้นโกศล มีคหบดีผู้หนึ่งชื่อ สุทัตตะ ท่านผู้นี้เป็นคนใจเอื้อเฟื้อต่อคนยากจน ได้ตั้งโรงทานเพื่อให้ทานแก่ คนยากจนทั่วไป จึงได้สมญานามว่า อนาถปิณฑิกะ แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวแก่คนอนาถา
วันหนึ่ง อนาถปิณฑิกะไปเยี่ยมราชคฤหเศรษฐี ซึ่งเป็นสามีของพี่สาวของตน พอดีตรงกับวันที่ราชคฤหเศรษฐี นิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมพระภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน
อนาถปิณฑิกะมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งในโอกาสดังกล่าว อยากได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
วันรุ่งขึ้น อนาถปิณฑิกะก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ พระเวฬุวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาคือ อนุปุพพิกถา และอริยสัจสี่ แล้วบรรลุพระโสดาปัตติผล จึงได้สร้างพระเชตวันวิหารถวายพระบรมศาสดา นับเป็นวิหารที่สร้างถวายไว้ในพระพุทธศาสนาแห่งแรก

พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระญาติ
loading picture

กษัตริย์ชาวศากยะ พระญาติฝ่ายพระพุทธบิดาในนครกบิลพัสดุ์ กับกษัตริย์ชาวโกลิยะพระญาติฝ่าย พระพุทธมารดาในนครเทวทหวิวาทกัน เพราะเหตุฝนแล้งจึงแย่งน้ำกันทำนา ขณะนั้นพระบรมศาสดา
ประทับอยู่ที่แคว้นสักกะ ทรงทราบเหตุด้วยพระญาณ จึงได้เสด็จไป ณ ที่ต่อแดนระหว่างนครทั้งสองทรงปราศรัยกับพระญาติทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นการเตือนสติโดยทรงตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายวิวาทกันด้วยเหตุอะไร ก็ได้รับการทูลตอบว่า เพราะเหตุแห่งน้ำ ทรงตรัสถามต่อไปว่า น้ำกับคนอย่างไหนจะมีค่ามากกว่ากัน ก็ได้รับการทูลตอบว่า คนมีค่ามากกว่าน้ำ ทรงตรัสถามต่อไปอีกว่า คนพวกไหนมีค่ามากกว่ากัน ก็ได้รับการทูลตอบว่ากษัตริย์นั้นหาค่ามิได้ (คือมีค่าสูงสุด) ทรงตรัสถามต่อไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้น การที่เอาเรื่องน้ำมาเป็นเหตุฆ่ามนุษย์ ผู้เป็นกษัตริย์ซึ่งมีค่าสูงสุดเช่นนี้ เป็นการสมควรหรือไม่ ก็ได้รับการทูลตอบว่าไม่สมควรเลย
ทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักถึงเหตุผลตามที่พระพุทธองค์ตรัสถามไปตามลำดับแล้ว จึงพากันเลิกลากันไป

พระพุทธองค์เสด็จโปรดพระพุทธบิดา
loading picture

ในพรรษาที่ห้า หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์พร้อมด้วยพระนันทะ พระพุทธอนุชา พระอานนท์ พระพุทธอุปฐาก และพระราหุลพระพุทธโอรส ได้เสด็จไปเยี่ยมอาพาธพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาที่กรุงกบิลพัสดุ์
พระองค์ได้เทศนาโปรดพระพุทธบิดาจนได้บรรลุพระอรหันต์ แล้วพระพุทธบิดาก็ปรินิพพาน พระพุทธองค์พร้อมทั้งพระสาวกเป็นจำนวนมาก ได้ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว
จึงเสด็จจาริกเทศนาอบรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ต่อไป

นางจิญจมานวิกาบริภาษพระพุทธเจ้า
loading picture

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประกาศพระศาสนาแผ่ไพศาล บังเกิดลาภสักการะบังเกิดในพระศาสนาเป็นอันมาก ฝ่ายพวกเดียรถีย์เสื่อมจากลาภสักการะ จึงพากันคิดอุบายใส่ร้ายพระพุทธเจ้า จึงให้นางจิญจมานวิกาผู้เลอโฉม ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับพวกของตน แสดงอาการดังอยู่ในคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดาจำเนียรกาลล่วงมาหลายเดือน ออกอุบายให้นางเอาไม้ผูกที่ท้อง ทุบมือเท้าให้บวม แสดงอาการดุจหญิงมีครรภ์ แล้วให้ไปกล่าวตู่ พระพุทธเจ้าซึ่งกำลังประทับนั่งบนธรรมมาสน์ แสดงพระธรรมเทศนาท่ามกลางประชาชนว่า "พระองค์ทรงรู้แต่การอภิรมย์ ไม่ทรงทราบทำเรือนให้ตลอด ฯ" ยังความกังขาให้เกิดแก่ปุถุชน ยังความสังเวชให้เกิดแก่อริยชนในที่นั้นอย่างยิ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เรื่องนี้รู้กันแต่เธอกับเราเท่านั้น ขณะนั้นท้าวสักกะเทวราชทรงทราบเหตุ จึงได้ให้พระวิษณุกรรมเทพบุตร แปลงกายเป็นหนู เข้าไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ไว้ที่ท้อง และบันดาลให้เกิดลมพัดมาเลิกผ้านุ่งของนาง ท่อนไม้จึงได้ตกลงมาทับเท้านางในท่ามกลางบริษัท
บรรดาบริษัทที่เป็นปุถุชนเห็นความจริงดังนั้น ก็พากันโกรธแค้น ต่างจับท่อนไม้และก้อนดิน เข้าขับไล่นางออกไป เมื่อนางจิญจมานวิกาออกไปพ้นจากคลองจักษุ ก็ถูกแผ่นดินสูบลงไป

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons