วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

How to วิธีเป็นหนุ่มคงกระพัน สาวสองพันปี แบบฟรี ๆ

post-3945-1191474765

ไม่อินกระแสเอาซะเลยเรา วันนี้จักขอคลอดเอ็นทรี่แรกสำหรับเดือนมิถุนาแห่งการเขียน หรือ June write (หรือ June read ก็ไม่รู้แฮะ)

วันนี้นั่งทดลองทีวี ๒๑ นิ้ว ที่โยมเอามาถวาย ครับ เขาจักบริจาคไปให้ชาวเขา ข้าพเจ้าก็เอามาลองสักหน่อย ปุ่มทั้งหลายไม่ทำหน้าที่ของมันสักปุ่มเดียว ปุ่มเพิ่มเสียง กลายเป็นปุ่มเปลี่ยนโหมด TV/AV ปุ่มเปลี่ยนช่องกลายเป็นเพิ่มเสียง ทดลอง ๆ อยู่ เสียงก็ดังขึ้นเรื่อย เพราะหาปุ่มลดเสียงไม่เจอ แล้วพลันก็เปิดไปเจอหนังผี

กี๊ซซซซ.... ตกใจกัวผีในหนังหง่ะ ประมาณว่า เสียงมันดังมาก แล้วกำลังเป็นฉากผีโผล่มาพอดี คน (ในทีวี) ร้องกันวี๊ดว้่ายกระตู้วู้ ก็เลยกลัวตามเขาไป (กลางวันแสก ๆ นะเนี่ยะ) เฮ้ย... ปกติไม่ใช่คนกลัวผีนะเฟร้ย

พอสติรู้ว่า กำลังกลัว จิตมันว่างเฉยเลยแฮะ พอดีได้เวลาไปเรียนนักธรรมเอก ปิดทีวี แล้วก็เดินไปเรียน

ก็นั่งเรียนทั้งที่ใจมันว่าง ๆ นิ่ง ๆ อย่างนั้นแหละ แล้วก็หลงไปคิดเรื่องแกนของเวลา เนื้อหาในการเรียนก็ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ ก็เลยคิดออกไปนอกห้องเรียนเล่น ๆ

เวลาของคนเรา เท่ากันหรือไม่?

มองเผิน ๆ เวลาคนเรา ก็เหมือนจะเท่ากัน ครับ ๑ ชั่วโมงมี ๖๐ นาที ๑ นาที มี ๖๐ วินาที เท่ากัน แต่ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีนาฬิกา ไม่มีปฏิทิน ไม่มีดวงอาทิตย์ ไม่มีดวงจันทร์ ไว้ให้คอยนับวันเวลา ท่านคิดว่า เวลาของเราทั้งหลาย จักยังเท่ากันอยู่หรือไม่

สิ่งที่กำหนดเวลาของแต่ละคนอย่างหยาบ ๆ เข้าใจได้ง่าย ๆ กลับกลายเป็นความสุข ความทุกข์ ครับ

เมื่อใดที่เรามีความสุข เราจักรู้สึกว่า เวลาผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน แต่เมื่อใดที่เรามีความทุกข์ เวลากลับยืดออกไป กว่าจักผ่านได้แต่ละนาที รอแล้วรออีก

แสดงว่า เวลาของแต่ละคน ไม่เท่ากัน แล้วแถมยืดหดได้อีกต่างหาก เราจะเรียกเวลาอันเกิดความรู้สึกของแต่ละคนนี้ว่า นาฬิกาชีวะ

เมื่อใดที่เรามีความสุข นาฬิกาชีวะของเรา จักเดินช้าลง เทียบกับนาฬิกาปกติ จึงเป็นธรรมดาที่เรารู้สึกว่า เพิ่งผ่านไปนาทีเดียว แต่หันดูนาฬิกาปรากฏว่า ผ่านไปแล้วครึ่งชั่วโมง พร้อมกับอุทานว่า "ตายแล้ว สามโมงแล้วหรือนี่ เวลาช่างผ่านไปเร็วจัง"

post-3945-1191472541

กลับกันสมมุติว่าเรากำลังมีความทุกข์ เป็นคุณแม่เจ็บท้องใกล้คลอด คุณหมอบอกให้รออีกหนึ่งชั่วโมง แต่ละนาทีที่ผ่านไป จักรู้สึกเหมือนกับว่า เป็นหนึ่งชั่วโมง แสดงว่า นาฬิกาชีวะของเรา เดินเร็วขึ้น

ในทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนสหธรรมมิกของข้าพเจ้าคนหนึ่ง เล่าถึงแนวคิดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เกี่ยวกับเรื่องนี้เหมือนกัน ไอน์สไตน์ก็คิดว่า เวลายืดหดได้ ตามความเร็วสัมพัทธ์ ระหว่างผู้สังเกต กับผู้ถูกสังเกต และสามารถพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ออกมาได้ว่า เวลายืดหดได้ เป็นที่มาสูตร อีเท่ากับเอ็มซีสแควร์อันลือลั่น และเมื่อนำมาสังเกตกับนักบินอวกาศ ก็พบว่า นาฬิกาข้อมือของนักบินอวกาศเดินช้าลงจริง ๆ เพราะเขาเดินทางด้วยความเร็วสูง และนักบินอวกาศก็แก่ช้ากว่าคนที่อยู่บนโลก

จากทฤษฏีสามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่า เมื่อวัตถุใดใด เคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากขึ้น เวลาของเขาจักช้าลง เป็นสัดส่วนกับความร็ว และเมื่อใดที่วัตถุนั้น เร็วเท่าแสง เวลาของวัตถุนั้นจักหยุดนิ่ง สมมุติฐานนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เพราะยังไม่สามารถหาวัตถุใดมาเร็วเท่าแสงได้

เขาจินตนาการไปว่า ณ ที่ที่เวลาหยุดนิ่ง นั่นละ คือ นิพพาน เพราะนิพพาน เป็นนิจจัง เที่ยง และเป็นนิรันดร์

หันมาดูทางธรรม คนที่นั่งสมาธิได้นาน ๆ พอออกจากสมาธิแล้ว เขาจักรู้สึกว่า เพิ่งผ่านไปแป๊บเดียว เป็นไปได้ไหมว่า ความสุขอันเกิดจากการนั่งสมาธิ ทำให้นาฬิกาชีวะของเขา เดินช้าลง ซึ่งก็หมายถึงว่า คนที่นั่งสมาธิบ่อย ๆ จักแก่ช้าลงไปด้วย

มีเพื่อนสหธรรมมิกอีกคน เขาเล่าให้ฟังถึงอาการของการเข้าอัปปนาสมาธิ หรือสมาธิขั้นลึกไว้ว่า เขาเห็นอย่างละเอียดเลยว่า ขันธ์ห้า ทำงานอย่างไร นี่เสียงวิ่งมา กระทบหู เกิดวิญญาณ (การรับรู้) จิตคิดว่า นี่เสียงอะไร สัญญา (ความจำ) ก็ทำงาน บอกนี่เป็นเสียงอะไร พอรู้ว่าเป็นเสียงอะไร เช่น อาจจะเป็นเสียงเพลงฮิต หรือเพลงไทยเดิม จิตก็ปรุงแต่งเป็นสังขาร (ความคิด) และสุดท้ายให้ค่าว่าชอบใจ หรือไม่ชอบใจ เป็นเวทนา เช่น ถ้าเป็นเพลงฮิต เราก็ชอบ เป็นเพลงไทยเดิม เราไม่ชอบ เป็นต้น แยกออกเป็นกอง ๆ เป็นช่อต ๆ เหมือนดูหนังสโลว์โมชั่น ทั้งที่เวลาปกติไม่ได้เข้าสมาธิ ขั้นตอนทั้งหลายนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง ๑ วินาที และคนทั่วไปดูไม่ออก พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะให้ไปดูตัวสุดท้ายตัวเดียว คือ เวทนา ว่าเราให้ค่ามันว่า มันดีต่อเรา เราชอบ ก็เป็นสุขเวทนา เราไม่ชอบ ก็เป็นทุกขเวทนา หรือเราเฉย ๆ ก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา เรียกว่า เวทนานุปัสสนามหาสติปัฎฐาน

จากตัวอย่างข้างต้น เห็นได้ชัดเลยว่า นาฬิกาชีวะ ของคนที่เข้าอัปปนาสมาธิ เดินช้าลง ยิ่งเข้าได้ลึกเท่าไหร่ เวลายิ่งช้าลงเท่านั้น

มีหลักฐานในพระสูตร ถึงเทวดาองค์หนึ่งทำสวนอยู่ ภรรยาขอลาไปเกิดเป็นมนุษย์ มีผัว มีลูกสองคน สิ้นเวลาห้าสิบปี จนตายแล้วกลับขึ้นไปบนวิมานของสามี สามียังทำสวนอยู่เลย ทักว่า เอ๊ะ... เธอหายไปไหนมาตั้งหนึ่งชั่วโมง (ถ้าเรื่องราวคลาดเคลื่อนไปก็ขออภัย จำได้คร่าว ๆ ว่า ประมาณนี้) แสดงว่า เวลาที่คนเราไปเสพสุขบนสวรรค์ ทำให้นาฬิกาชีวะ ของเรา เดินช้าลง เทียบกับเวลาบนโลกมนุษย์ และยิ่งสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป นาฬิกาชีวะก็ยิ่งช้าลงเท่านั้น ในสวรรค์ชั้นพรหม เวลาแทบจะหยุดนิ่งเลยทีเดียว พรหมบางชั้นเช่นพรหมลูกฟัก จึงมีอายุแสนนาน ๘๔,๐๐๐ กัป (๑ กัป เทียบกับเวลาปัจจุบันได้ประมาณ ล้านๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ปี : ล้าน ๒๔ ครั้ง ปี หรือ สิบยกกำลังร้อยสี่สิบปี)

และท่านเอ๋ย ท่านทราบไหมว่า คนเราจักไปเกิดเป็นพรหมได้อย่างไร?

post-3945-1191474361

ต้องเข้าฌานตาย ครับ ยิ่งเข้าก๊านเข้ากัน กับสิ่งที่ข้าพเจ้าคิด

ดังนั้น หากอารมณ์ฟุ้งของข้าพเจ้า ในคลาสเรียนนักธรรมเอกเป็นจริง คนที่มีความสุขมาก ๆ ก็จักแก่ช้ากว่าคนที่เอาแต่เครียด และคนจักมีความสุขมาก ก็เนื่องจากไม่ค่อยยึดติดอะไรมากนัก ปล่อยวางกับเรื่องราวต่าง ๆ ได้ง่าย ส่วนคนที่เครียด ก็เพราะมักจะยึดติดกับโน่นนี่นั่น เช่น เวลาป่วย ก็คิดว่า มันไม่ควรจะป่วย ไม่ได้คิดว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราต้องป่วย ก็ทุกข์ ก็เครียด นาฬิกาชีวะของเขาจักเดินไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็หมายถึง เขาจักแก่ลงอย่างรวดเร็ว หรือ เวลาแก่ ก็คิดว่า มันไม่ควรจะแก่ ไม่อยากแก่ ไม่ได้คิดว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราต้องแก่ ก็ไปขวนขวายหาคอร์สหน้าตึง หน้าเด้ง เสียทรัพย์มากมาย หาไม่ได้ก็เครียด แก่เร็วขึ้นไปอีก

ยังมีหลักฐานสนับสนุนความฟุ้งนี้ในพระไตรปิฎกอีกหลายตอน ครับ เช่น ชาวอุตรกุรุทวีป ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาต เมื่อครั้งเสด็จโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ได้ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุตรกุรุทวีป เป็นสถานที่รื่นรมย์ มนุษย์ในทวีปนี้ มีตัณหาเบาบางไม่ีมีการหวงแหนของกินของใช้ เลี้ยงชีพด้วยข้าวสาลีที่ไม่ต้องไถนา(ขึ้นเอง) ข้าวที่ได้ ไม่มีเปลือก จึงไม่ต้องสี ไม่ต้องขัด เวลาหุงไม่ต้องใช้ไฟ เอาข้าวใส่หม้อ วางบนก้อนหิน (หลวงพ่อฤๅษีฯบอกว่า เป็นแก้วมณี) ข้าวก็จักสุกเอง กับข้าวก็ไม่ต้องหา เพราะข้าวจักมีรสชาติตามที่ปรารถนา สิ่งทั้งหลายนี้เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจแห่งคุณธรรม ครับ ชาวทวีปนี้มีการรักษาศีล ๕ กันเป็นปกติ ลองคิดดูว่า หากชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ไม่มีความเครียดขนาดนี้ เราจักแก่ช้าลงไหม ในตำราบอกชาวทวีปนี้ มีอายุขัย ๑,๐๐๐ ปี ครับ

หรือในยุคพระศรีอาริย์ในอนาคตอีกล้านปีเศษ ท่านว่า เวลานั้น มนุษย์เรามีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี ครับ เหลือเชื่อไหม ครับ ท่านว่า คนไปเกิดสมัยนั้น หล่อหมด สวยหมด โตขึ้นมาแล้วถึงวัยหนึ่ง (ประมาณ ๒๕ ขวบ) ก็จักไม่แก่ต่อไป เป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่จนหมดอายุขัยก็ตาย มีความสุขทุกประการ เนื่องเพราะพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้านั้น บำเพ็ญบารมีมาแบบวิริยาธิกะ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขย ขณะที่พระสมณโคดมพุทธเจ้า องค์ปัจจุบัน บำเพ็ญบารมีมาแบบปัญญาธิกะ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมีเพียง ๔ อสงไขย คนยุคนี้จึงมีความเป็นอยู่อย่างที่เห็น (เวลา ๑ อสงไขย คือ เวลาที่นับไม่ได้ ประกอบด้วยหลายแสนกัป)

แม้่ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ยุคปัจจุบันอย่างหลวงพ่อวัดท่าซุง หรือ หลวงปู่เทศก์ เทสรํสี ก็เคยบอก ครับว่า ถ้ามีลูกศิษย์ที่ปฏิบัติธรรมกันเยอะ ๆ ท่านจักมีอายุยืน (คาดว่า ด้วยเพราะธรรมปีติ) มีปีติ (ความสุข) เป็นปัจจัยอีกแล้ว

avatar188546_1

ดังนั้นที่เขาว่า หัวเราะวันละหน อายุยืนไปหนึ่งวัน นั่นก็อาจจะจริงอีกครับ แต่อาจไม่ได้เป็นไปตามสัดส่วนนี้

ฉะนั้นหากอยากเป็นหนุ่มคงกระพัน สาวสองพันปี แบบไม่ต้องเสียตังค์สักบาท ก็ลองมานั่งสมาธิปฏิบัติธรรมดู ครับ เมื่อท่านได้เข้าถึงความสุขจากการนั่งสมาธิ ท่านก็จักแก่ช้าลงเรื่อย ๆ และจักแก่ช้ามาก ๆ เมื่อสามารถเข้าอัปปนาสมาธิได้ (แต่พอออกมาจากสมาธิก็แก่ลงตามปกติ) ท่านว่า ผู้ที่เข้าถึง จตุตถฌาน หรือ ฌาน ๔ จักหายใจทางผิวหนัง ครับ นั่นหมายถึงเมตาโบลิซึ่มในร่างกาย ก็เกิดน้อยลงตามไปด้วย ก็แก่ช้าลงเห็น ๆ หรือ เจริญวิปัสสนาจนจิตปล่อยวาง เรื่องราวต่าง ๆ ในโลกได้มาก หาความเครียดไม่ได้ เมื่อนั้นท่านก็มีความสุขตลอดเวลา จักเป็นหนุ่มฟ้อ เป็นสาวเฟี้ยว คงกระพันตลอดกาล

อาการฟุ้งซ่านเนื่องจากหนังผี ก็เอวังด้วยประการฉะนี้ ฯ

cadit  by Dhammasarokikku

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons