มาจนถึงตอนอวสานจนได้ ครับ ว่ามาสี่ตอนแล้ว ครับ วันนี้จบแน่ ๆ
หลังจากพาไปทดสอบความกล้า ด้วยการนอนในป่าช้าเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ใจเราเองนั่นแล ที่หลอกตัวเอง และจังหวะที่คนเรากลัว จิตจักรวมได้ง่าย บางทีก็ตัดสินกันตอนนั้นเลย ครูบาอาจารย์หลายท่าน ก็ได้ธรรมตอนที่ตัดสินใจสละชีวิตนั่นแล ธุดงควัตรนี่พอข้อท้าย ๆ เริ่มโหดขึ้นทุกขณะจิต ครับ
๑๒. ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่ในเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) อันท่านจัดให้อย่างไร หมายถึง ภิกษุกำจัดความปรารถนาในที่อยู่อาศัยที่ผู้อื่นโลภอยากได้ ไม่รู้สึกเดือดร้อน เมื่อถูกขอให้สละที่อยู่อาศัยให้ผู้อื่น เห็นโทษของความโลภในเสนาสนะ เห็นประโยชน์ของการอยู่อาศัยในเสนาสนะตามปกติที่เขาจัดให้ว่า เป็นการละทิ้งความสะดวกสบาย และอยู่ด้วยกรุณาจิตต่อผู้อื่น เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามี, ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดความอยากเอาแต่ใจ ในเสนาสนะเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดสให้เป็นวัตร
ข้อนี้ไม่เคยปฏิบัติแฮะ กอดกุฏิแน่นเลย ไล่ก็ไม่ไป ... เอิ๊ก ไปดูข้อสุดท้ายสุดโหดกัน ครับ
๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร หมายถึง ภิกษุเห็นโทษของการนอน แต่เห็นประโยชน์ของการนั่งว่า เป็นเหตุละความเกียจคร้านได้ บรรเทาความง่วงเหงาที่ครอบงำ เป็นอิริยาบถที่เหมาะแก่การเจริญสมาธิ เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ, เนสชฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดการนอนเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการนั่งเป็นวัตร
ข้อนี้เข้มข้นดี ครับ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทรมานตนมาแต่ไหน ๆ มีนะ ครับ ไม่ใช่ไม่มี ประเภทที่ทรมานร่างกายตัวเองแล้ว ได้ดิบได้ดี ภาวนาคล่องตัว อาจอนุมานได้ว่า เขาเคยปฏิบัติแนวนี้มาแต่ปางก่อน แต่สำหรับบางคน ปฏิบัติแล้ว ยิ่งแย่กว่าเดิม ภาวนาไม่ขึ้น อย่างนี้ก็ต้องเลิกไป ครับ ต้องจำไว้เลยว่า ธุดงควัตร คือ "อุบาย" วิธีเครื่องขัดเกลากิเลส มิใช่เป็นทางพ้นทุกข์ ถ้าทรมานร่างกายตัวเองมาก ๆ แล้วบรรลุ พวกฤๅษีชีไพร บรรลุกันไปนานแล้ว ครับ
เนสัชชิฯ เป็นอุบายในการเร่งความเพียร สั่งสมบารมีให้เต็ม ครับ โดยเฉพาะสัจจบารมี ขันติบารมี และวิริยบารมี เคยพบพระที่ถือเนสัชชิมาหลายรูป บางรูปถือด้วยความงมงาย เอาไว้อวดว่า เขาถือเนสัชชิฯ เขาเก่ง ข้าพเจ้าเห็นพระเหล่านี้ ไม่เห็นคืบหน้าไปไหน ก็ไขว่คว้าหาแนวทางการปฏิบัติที่เคร่งครัดขึ้นไปอีก แล้วก็เห็นละได้แต่กิเลสจิ๊บกิเลสจ้อย แต่กิเลสมานะถืออัตตาตัวตน อันเป็นกิเลสตัวใหญ่ นับวันมีแต่พองขึ้น
ส่วนท่านที่ถือเนสัชชิฯ กันแบบเอาจริงเอาจัง บางทีไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ท่านถือ เพราะท่านมิได้เอาไปคุยโอ้อวดใคร ต้องสังเกตเห็นเอง ท่านจึงบอก ท่านว่า ช่วงแรกทรมานมาก เหมือนร่ายกายจักแตกเป็นเสี่ยง ๆ พอผ่านได้ จักรู้สึกเบาสบาย ภาวนาง่ายขึ้นมาก และทำกระไรก็มักประสบความสำเร็จ
วิธีการ คือ เวลานอน ท่านใช้วิธีฟุบหน้าลงกับบาตรนอน ครับ หลังไม่ให้แตะพื้น แล้วอยากจักสมาทานนานสักเท่าไหร่ ก็สมาทานเอา ข้าพเจ้าเคยสมาทานถือ ๑ คืน ครับ มันก็เหมือนอดนอนธรรมดา ๆ นี่ละ แต่พอตอนกลางวัน สติขาดเมื่อไหร่ มันก็เผลอเอนตัวลงนอนด้วยความเคยชินทันที เป็นการฝึกสติที่ดี ครับ วัตรพวกนี้ ฆราวาสก็เอาไปทำได้ ครับ ช่วยเร่งความเพียร
สองข้อสุดท้ายนี่ ก็ไม่เกี่ยวกับการเดินทางเท้าเปล่า ถือกลด แบกบาตร เที่ยวเดินป่าไปแต่อย่างใด ทำที่วัด ที่บ้านได้อีกแล้ว ครับ สรุปว่า การปฏิบัติใด ๆ ต้องประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยปัญญา ครับ จึงจักเป็นพุทธะ หาไม่แล้วแนวปฏิบัติที่ยิ่งกว่านี้ ศาสนาอื่นเขาก็มีกัน ครับ ไม่เห็นเขาพ้นทุกข์แต่อย่างใด
มาปฏิบัติธรรม ด้วยสติ ด้วยปัญญากันดีกว่า ครับ
อวสาน