วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์ ตอนที่ ๑by Dhammasarokikku

 

lo8

เมื่อกล่าวถึงพระป่า หรือพระธุดงค์ แวบแรกทุกคนคงต้องคิดจินตนาการไปเหมือน ๆ กันว่า คงเป็นพระห่มจีวรสีเข้ม ๆ สีน้ำตาลไหม้ หรือที่ภาษาพระเรียกกันว่า สีกรัก สะพายย่ามใหญ่ ๆ ที่มีบาตรอยู่ข้างใน แบกกลด ที่ดูเหมือนร่มไว้บนบ่า แล้วออกเดินเท้าไปตามป่าตามเขา หรือสถานที่ต่าง ๆ ใส่รองเท้าบ้าง ไม่ใส่บ้าง น้อยคนนักที่จักทราบว่า คำว่า "พระธุดงค์" มิได้หมายความเช่นนั้นเลย

พอดีกำลังทำแนวข้อสอบนักธรรมโท ซึ่งสอบผ่านไปเมื่อปีที่แล้ว ไว้สำหรับรุ่นน้อง จักได้เรียน และสอบผ่านได้โดยสะดวกขึ้น อ่านไปเจอเรื่อง ธุดงควัตร โอ... สมัยก่อนข้าพเจ้าก็เข้าใจผิดไปไกลโขเหมือนกัน ก็เลยยกขึ้นมาแบ่งปัน

เรื่องธุดงควัตรมี ๑๓ ข้อ เป็นอุบายวิธีเครื่องขัดเกลากิเลส ให้เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เพื่อความผ่องใสของศีล ถูกทูลเสนอโดยพระมหากัสสปะ มิได้เป็นข้อบังคับให้ต้องปฏิบัติตามเหมือนพระวินัย คือ ใครใคร่ปฏิบัติ ก็ให้เปล่งวาจากล่าวคำสมาทาน หรืออธิษฐานใจเอา มิได้เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก หรือ การเดินป่าแต่อย่างใด ที่สำคัญแม้อยู่กับที่ ไม่ได้ออกเดินเท้าไปในที่ต่าง ๆ  ก็เป็นพระธุดงค์ได้ ครับ การสมาทาน ก็สมาทานเป็นข้อ ๆ ไป (สมาทานข้อเดียว ก็เรียกว่า ถือธุดงค์แล้ว ครับ พระมหากัสสปะผู้เสนอ ยังถือแค่ ๓ ข้อแรกเอง) หรือจักสมาทานทั้ง ๑๓ ข้อเลยก็ได้ ธุดงควัตร ๑๓ ข้อ มีดังนี้

๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ผ้าบังสุกุล แปลว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น มีคนไม่น้อยเข้าใจว่า ผ้าบังสุกุล เขียนว่า ผ้าบังสกุล (กระทั่งพระบวชมาตั้งสองพรรษาแล้ว ยังเข้าใจว่า เป็นผ้าบังสกุล อยู่เลย) ก็ขอให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ ที่ถูกต้อง คือ ผ้าบังสุกุล ครับ

สมัยก่อนผ้าหายาก และมีราคาแพง เหล่าพระภิกษุจักทำจีวรกันที ก็ต้องไปหาเศษผ้าที่เข้าทิ้งไว้ตามกองขยะ หรือผ้าห่อศพ มาซักทำความสะอาด แล้วเย็บเป็นจีวร ผ้าเหล่านี้แล ที่เรียกว่า ผ้าบังสุกุล ดังนั้น จีวรจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ของสมณะ มีพระวินัยกำหนดเรื่องจีวรไว้อย่างละเอียด

ภิกษุเห็นโทษของผ้าจีวรที่คฤหบดีถวาย แลเห็นประโยชน์ของการถือผ้าบังสุกุล ทำให้ปราศจากความกังวลในการแสวงหา เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่ชาวบ้าน ต่อการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดคฤหบดีจีวรเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

ซึ่งก็หมายถึง พระภิกษุที่สมาทานธุดงควัตรข้อนี้ จักไม่รับผ้าจีวรที่ญาติโยมถวายไว้นุ่งห่ม (อาจจักรับไว้ เพื่อรักษากำลังใจ แต่มิได้ใช้ ส่งต่อให้พระภิกษุที่มิได้สมาทานธุดงควัตรข้อนี้ใช้แทน) แต่จักตัดเย็บย้อมขึ้นเอง ข้าพเจ้าเองสมัยที่บวชครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็มีประสบการณ์เรื่องนี้ ครับ เจ้าอาวาสท่านศรัทธาสายหลวงพ่อชา เวลาเดินธุดงค์ ก็เอาแนวปฏิบัติของหลวงพ่อชา เป็นหลัก ท่านอุตส่าห์เย็บจีวรให้ข้าพเจ้าด้วยมือท่านเอง สมัยนั้นก็ยังเป็นเด็ก ไม่ประสีประสาหรอกว่า ที่ครูบาอาจารย์อุตส่าห์เย็บจีวรให้ เป็นพระคุณขนาดไหน จำได้ว่าผ้าที่ใช้ทำจีวร เป็นผ้าดิบ ค่อนข้างหนา ท่านเย็บให้เสร็จแล้ว ก็นำมาต้มย้อมในปี๊บกันเองกับน้องชาย เป็นที่สนุกสนาน

สมัยปัจจุบันผ้าหาง่ายขึ้น และมีราคาถูกลง ความกังวลในเรื่องการแสวงหาจีวรไม่ใคร่มีแล้ว จึงเห็นพระสมาทานธุดงค์ข้อนี้น้อยลงมาก เห็นไหมว่า มิได้เกี่ยวกับสีจีวร หรือการเดินทางแต่อย่างใด

lo5 ๒. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร หมายถึง ถือครองผ้าเพียง ๓ ผืน สละการสะสมผ้าที่เกินความจำเป็น ภิกษุเห็นประโยชน์จากการใช้ไตรจีวรว่า ทำให้ท่องเที่ยวไปมาได้สะดวก ไม่เป็นภาระ เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "จตุตฺถจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ, เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดจีวรผืนที่ ๔ เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร

ข้อนี้สมัยบวชครั้งแรก ก็เคยถือเหมือนกัน (เพราะมีผ้าอยู่แค่นั้น) สมัยนั้นสบาย ครับ เดินธุดงค์ไป ๗-๘ วัน ไม่ได้เจอแหล่งน้ำเลย หลวงพ่อท่านแนะว่า เมื่อสมาทานธุดงค์ (ข้อหลัง ๆ) แล้ว ไม่ให้ปักกลดใกล้เขตบ้านเรือน หรือวัด ต้องให้ห่างจากชุมชนประมาณ ๒๕ เส้น หรือ ๑ กม. ฉะนั้่น เจอวัดจะเข้าไปปั้นจิ้มปั้นเจ๋อขอสรงน้ำ (อาบน้ำ) ไม่ได้ ต้องสรงน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น ตอนนั้นก็เดินกันขาขวิดเลย กว่าจะเจอน้ำตก จีวรงี้เป็นคราบเกลือสม่ำเสมอทั้งผืน เจอน้ำตกแล้วเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น จำวัด (นอน) กับเสียงน้ำตก สบายแฮ

มาในการบวชครั้งนี้ ตอนพรรษาแรก ก็เอากะเขาเหมือนกัน เวลาอยู่ในอาวาสไม่ลำบากเท่าไหร่ ครับ แต่พอออกนอกสถานที่ ก็หืดขึ้นคอเหมือนกัน มีอยู่คราวหนึ่ง ไปปักกลดในเขตป่าใหม่ที่วัดท่าซุง แล้วฝนตก ตรงที่นอนเป็นแอ่งพอดี ข้าวของลอยน้ำเท้งเต้ง ย้ายที่แล้ว จีวรก็เปียก เอาไปซักก็แห้งไม่ทัน ก็จำวัด ไปทั้งที่เปียก ๆ อย่างนั้น เวลาซักผ้านุ่ง ก็เอาจีวรมานุ่งแทน เอาสังฆาฏิมาห่ม วุ่นวายดีแท้

เอาละวันนี้เอาแค่ ๒ ข้อก่อน เดี๋ยวจักหลับไปกันหมด ส่่งท้ายนิดหนึ่ง พระเดินป่า เขาเรียกว่า เดินรุกขมูล ครับ ใช่ว่าพระใส่จีวรสีแปลกตา แบกบาตร แบกกลด จักเป็นพระธุดงค์กันไปเสียหมด

จบตอน ๑

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons