วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อะไรเอ่ย...คืองานศพ ตอนที่ ๔ - บังสุกุลDhammasarokikku

250914_250379078410553_367931955_n

เอ็นทรี่นี้ สืบเนื่องมาจากงานที่ตั้งใจจะเขียน หนังสือแจกงานศพ ค้างไว้หลายเดือนแล้ว ได้ยินมาว่า การไม่มีงานคั่งค้าง เป็นอุดมมงคล จึงนำมาปัดฝุ่น เรียบเรียงเสียให้เสร็จ เพือให้เป็นมงคลชีวิต แก่ตัวผู้เขียนเอง ความจริงว่าจะดองไว้ก่อน แต่มีผู้อยากทราบ เรื่องราวของการบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย จึงต้องนำมาปัดฝุ่นเร็วขึ้น ตอนนี้จะกล่าวถึงการบังสุกุล ดังนี้

ปริศนาธรรมในงานศพ ให้ข้อคิดสะกิดใจ โดย พระมหาพรชัย กุสฺลจิตโต

ทอดผ้าบังสุกุล

เสียงทอดผ้า พิจารณา บังสุกุล

ใจวายวุ่น มิได้สน คำคาถา

มองให้เห็น ว่านั่นแหละ "ธรรมดา"

เพราะเกิดมา เจ้าจึง ต้องวายปราณ

สุขจริงแท้ นั่นคือ ความสงบ

คิดให้จบ เนือง ๆ สุขจริงหนา

คิดให้ถ้วน ก่อนต้อง วายชีวา

ไม่ต้องมา ให้พระสวด ตอนสิ้นใจ

แต่ความจริง เพียงคิด ใครจะกล้า

ใครจะมา นั่งคิด พิสมัย

คิดไว้ก่อน เป็นลาง "เดี๋ยวตายไว"

คิดคิดไป ไม่ดีกว่า พระคิดแทน ฯ

ส่วนเนื้อหาของอภิธรรม ๗ คัมภีร์ แปลหรือไม่แปล ก็คงคือกัน เพราะย่อไว้เฉพาะหัวข้อธรรม ถ้าจะเอาอรรถเอาธรรมกัน ก็ต้องศึกษาต่อไปอีกมาก แค่ชั่วโมง สองชั่วโมงนี่ ไม่พอเป็นแน่ (พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระมารดาถึง ๓ เดือนเต็ม แม้เวลาบนสวรรค์กับโลกมนุษย์ไม่เท่ากัน แต่บนโน้น ก็คงกินเวลาหลายชั่วโมงทีเดียว) ก็มีเพียงเกร็ดความรู้ที่ควรทราบ คือคำแปลของบทบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย ดังนี้

บังสุกุลตาย

อนิจจา วะตะสังขารา อุปาทายะวะธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปปะสะโมสุโข ฯ

เป็นพุทธพจน์ตรัสไว้ในสติปัฏฐานสูตร ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า

สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ เมื่อเกิดแล้วก็มีความเสื่อมไป สลายไป การเข้าไปสงบในกายนั่นแล คือความสุขแท้

บังสุกุลเป็น

อะจีรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิง อะธิเสสะติ ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโณ นิรัชถัง วะตะริง คะรัง ฯ

ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า กายนี้ไม่เที่ยงหนอ เมื่อตายแล้วก็ถูกทิ้งไว้ ราวกับเป็นท่อนไม้ในป่า (หาค่าไม่ได้)

ทราบมาว่า คำว่าบังสุกุลตาย คือการแสดงธรรมสังเวช สำหรับคนที่ตายแล้ว สมัยก่อนพระจะใช้สวดเวลาพิจารณาผ้าบังสุกุล หรือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าห่อศพ หรือ ผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามป่าช้า กองขยะ เพื่อนำมาเย็บเป็นจีวร  สมัยปัจจุบัน เนื่องจากผ้าจีวร หาได้ง่าย ไม่เหมือนสมัยก่อน จึงนำมาใช้เวลาพิจารณาผ้า ที่ทายกนำมาถวาย เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนตาย

ส่วนคำว่าบังสุกุลเป็น คือการแสดงธรรมแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ พระภิกษุใช้พิจารณาผ้า ที่ทายกนำมาถวาย เพื่อเป็นบุญเป็นกุศลแก่เจ้าภาพ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนใหญ่นิยมทำเมื่อป่วยหนัก

สำหรับที่นำมาสวดสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา คือ ให้นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก ให้พระ ๔ รูป คลุมผ้าขาว สวดบังสุกุลตาย เสร็จแล้วนอนหันหัวไปทางทิศตะวันออก พระสวดบังสุกุลเป็น ก็เป็นการทำทีเหมือนว่า เราตายไปแล้ว นี่ให้พระมาบังสุกุลแล้วนะ แล้วก็เกิดใหม่ เห็นไหมพระยังสวดบังสุกุลเป็นให้ฉันเลย ถ้าคิดไปแบบนั้น ก็ไม่ใคร่ได้ประโยชน์เท่าไหร่

ความจริงน่าจะเป็นปริศนาธรรม ให้คนพิจารณาเรื่องความตายมากกว่า เวลาที่ทำพิธีต้องลงไปนอนในโลง ก่อนลงไปนอน ถ้าคนกลัวผี ก็คงจะกลั้นใจสุด ๆ เลย ชาตินี้ขอนอนแบบนี้แค่หนเดียว บรื๊อส์...น่ากลัวอะไรอย่างนี้ มาให้นอนในโลงผี ถ้าคนไม่กลัว ก็คงเฉย ๆ ก็แค่ไม้มาตอกประกอบเป็นโลง ไม่เห็นน่ากลัวตรงไหน ถ้านอนลงไปแล้ว คิดได้ว่า เมื่อตายแล้ว ก็ต้องมานอนในโลงนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าชาติไหน ผิวพรรณไหน หล่อลากดิน หรือสวยลากไส้ ยากดีมีจนแค่ไหน ตายแล้วเท่ากันหมด หาค่าไม่ได้ เช่นนี้เคราะห์ร้ายแค่ไหน คงกระเด็นหมด เพราะถ้าคิดว่า ตายแล้วก็หมดกัน เคราะห์ก็คือทุกข์ ตายแล้วจะไปหาทุกข์ที่ไหน ทุกข์ หรือเคราะห์ ก็อยู่ที่ใจเรานั่นเอง ปรับใจเสียใหม่ ทุกข์ก็หาย เคราะห์ก็ไม่มี

179683_250081181774101_2071704768_n ครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าเคยปรารภเรื่องการกราบศพ ปัจจุบันจะไม่ค่อยเห็นพระกราบศพคนตายแล้ว สมัยก่อนท่านกราบทุกศพเลย ท่านเห็นอาจารย์ของท่าน กราบศพ ๓ ครั้ง ทุกที ท่านก็กราบตามอาจารย์ วันหนึ่งทนสงสัยไม่ไหวว่า ท่านกราบทำไม ท่านเป็นญาติกับคนตายหรือ แล้วเราเป็นพระ ไปกราบโยม มิผิดธรรมเนียมหรือ แล้วทำไมถึงกราบ ๓ ครั้ง ปกติกราบคนตายกราบแค่ครั้งเดียว แบมือมิใช่หรือ

อาจารย์ท่านหัวเราะครืน ท่านเฉลยว่า ท่านไม่ได้กราบคนตาย ท่านกราบระลึกถึงคุณพระพุทธองค์ ว่าสิ่งที่ท่านตรัสรู้ และสอนไว้นั้น จริงทีเดียว สัตว์โลกเกิดมาเท่าไหร่ ตายเท่านั้น กราบระลึกถึงคุณพระธรรมคำสั่งสอน ที่ทำให้เราได้เห็นความจริง เห็นสัจจธรรม และได้รู้หนทางหลุดพ้น กราบระลึกถึงคุณพระสงฆ์ พระสุปฏิปันโน ทั้งหลายที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอน จนพระศาสนาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน คอนเซ็ปท์นี้ ถ้าท่านจะนำไปปฏิบัติบ้าง ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์

อีกประการหนึ่ง เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมการทำทาน ให้ทำทานอลังการงานสร้างแค่ไหน ก็ไม่สู้การรักษาศีล และการรักษาศีล ต่อให้มั่นคง เคร่งครัด ยาวนาน แค่ไหน ก็ไม่สู้การภาวนา คำถามนี้อาจอธิบายได้โดยอ้างเหตุปัจจัย การทำทาน เป็นปัจจัยให้มีทรัพย์มาก ไม่ว่าจะไปเกิดเป็นเทวดา นางฟ้า หรือเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะร่ำรวยมาก การรักษาศีล เป็นปัจจัยให้ได้เกิดในภพภูมิที่ดี มีความสุข ส่วนการเจริญสมาธิภาวนา เป็นปัจจัยให้เป็นผู้มีปัญญามาก จนอาจสามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ดังนี้แล้ว พอจะมองภาพออกไหม ก็จุดสุดท้ายปลายทาง ความหวังสูงสุดในบวรพระพุทธศาสนา คือการถึงพระนิพพาน ไม่ใช่เป็นการเกิดมาร่ำรวย หรือมีความสุขในชาติใดภพใดทั้งสิ้น ฉะนั้นท่านจึงแนะให้ปฏิบัติไปตามลำดับ

ที่เขียนเช่นนี้ ก็ใช่ว่าจะไม่สรรเสริญทานนะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พาลา หะเว นัปปะสังสันติ ทานัง ซึ่งแปลเป็นใจความว่า มีแต่คนพาลเท่านั้น ที่ไม่สรรเสริญทาน ถ้ามีโอกาสได้อ่านพระไตรปิฎก จะทราบได้เลยว่า คนรวยบรรลุธรรมไม่ใช่น้อย อย่างสิทธัตถะราชกุมารเอง ก็มีทั้งเงิน และอำนาจ ล้นพระหัตถ์ ยสะกุลบุตร ก็ร่ำรวยมหาศาล อนาถปิณฑิกเศรษฐี ก็รวยล้นฟ้า สุดท้ายเมื่อเสพกามคุณ จนเบื่อไปเอง ก็หันหน้าเข้าทางธรรม แต่ก็ใช่ว่า จะมีแต่คนรวยเท่านั้น ที่บรรลุธรรม คนจนเข็ญใจ เป็นโรคเรื้อน อย่างท่านสุปปพุทธกุฏฐิ ก็ยังบรรลุธรรม เป็นพระโสดาบันได้ เอาเป็นว่า ถ้าเลือกได้ คุณจะเลือกเป็นคนรวยบรรลุธรรม หรือเป็นคนจนเข็ญใจบรรลุธรรม ดีล่ะ ไปตัดสินใจกันเอาเองนะ

ปริศนาธรรมในงานศพ ให้ข้อคิดสะกิดใจ โดย พระมหาพรชัย กุสฺลจิตโต

ดอกไม้จันทน์

ดอกไม้จันทน์ พันดอก บอกอะไร

ญาติอาลัย ไห้รัก หักสงสาร

ไม่น่าเลย เห็นกัน อยู่วันวาน

แต่วันนี้ นอนนาน ไม่ตื่นเลย

เคยคิดไหม วันหนึ่ง จะนอนนิ่ง

ไม่ไหวติง แข็งทื่อ เย็นเหมือนเขา

ดอกจันทน์นั้น จะวาง ข้างตัวเรา

เช่นกับเขา ชีวีสิ้น ลมหายใจ ฯ

เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา ข้าพเจ้าขอขันอาสา หากใครมีข้อสงสัย ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องงานศพ เชิญคอมเม้นท์เข้ามา ข้าพเจ้าจะพยายามไปค้นคว้าหาคำตอบให้ และแม้หาไม่ได้ ก็จะได้ไถ่ถามผู้รู้ แล้วนำมาบันทึกไว้ เพื่อประโยชน์ของสาธุชน สืบไป

ยกตัวอย่างเช่น ในตอนก่อนโน้น มีผู้สงสัยว่า ประเพณีตั้งศพ ๓ วัน ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน มีความหมายกระไร ข้าพเจ้าก็ได้ไปเสาะแสวงหาคำตอบมาเรียบร้อยแล้ว จะได้นำขึ้นบล็อกในโอกาสต่อไป ฯ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons