เรื่องราวในวันนี้ เกิดจากโม้(แหลก)...เม้นต์(กระจาย)...แรงเฉื่อย (Moment of Inertia) ที่เนื่องมาแต่เอ็นทรี่เมื่อวาน ที่ออกแนวการเมือง วันนี้เลยอยากออกแนวบู๊ล้างผลาญบ้าง ประกอบกับมีเพื่อนมายืมละครสามก๊กไปดู เลยรู้สึกอยากฟูมฟาย เรื่องราวของขงเบ้ง ฉบับอินเดียดูบ้าง
เรื่องราวของขงเบ้งเวอร์ชั่นแขกนี่ หาอ่านได้ใน มหาปรินิพพานสูตร ครับ เรื่องอปริหานิยธรรม ธรรมอันเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม หรือ เจริญถ่ายเดียว ๗ ประการ
อ่านครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้นครับว่า ใช่แต่จะมีแค่คนจีนเท่านั้น ที่มีความคิดซับซ้อนซ่อนกล แขกอินเดียก็ไม่เบาเหมือนกัน แถมยังถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์โบราณของพระศาสนา ใครจะนึกละครับว่า ในคัมภีร์เก่าแก่ จะมีนิยายสามก๊กซ่อนอยู่ นึกว่า มีแต่เรื่องธรรมะ น่าเบื่อ อ่านแล้วหลับไปเสียหมด ดังนี้
สมัยหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แคว้นมคธ มีความปรารถนาจะแผ่แสนยานุภาพของพระองค์ ไปถล่มแคว้นวัชชี จะด้วยเหตุผลกลใด ไม่อาจทราบ จะด้วยเป็นความแค้นเก่า หรือ ชื่อเสียงร่ำลือของแคว้นวัชชี ในความเกรียงไกร ไปกระทบโสตท่าน ให้ระคายเคืองก็ไม่ทราบ
ต้องขอแนะนำตัวละครเสียหน่อย เดี๋ยวจะไม่รู้จักพระเจ้าอชาตศัตรู ความเดิมนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นลูกศิษย์พระเทวทัต ถูกพระเทวทัตปั่นหัว เป่าหูยุให้ปลงพระชนม์พระราชบิดาเสีย แล้วเถลิงตนขึ้นเป็นกษัตริย์ (อาจารย์จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย) ส่วนพระเทวทัต ก็จะไปปลงพระชนม์พระศาสดา แล้วจักได้เป็นใหญ่ร่วมกัน แต่พอไปจะไปปลงพระชนม์ กลับถูกจับได้ พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสถามพระราชกุมารว่า ลูกต้องการอะไร จึงคิดฆ่าพ่อ พระราชกุมารจึงทูลว่า เป็นเพราะหม่อมฉันอยากได้เศวตฉัตร พระเจ้าพิมพิสารกลับพระราชทานให้โดยดี ด้วยความรักลูก แม้ได้เศวตฉัตรแล้ว ก็ยังไม่หนำใจ ถูกพระเทวทัตปั่นหัวต่อไป ให้นำพระราชบิดา ไปขังคุกใต้ดิน ให้อดอาหารตาย พระมเหสี ก็แอบนำอาหารไปให้หลายครั้ง สุดท้่ายโดนจับได้ จึงหมดโอกาสส่งอาหาร พระเจ้าพิมพิสารก็มิได้อนาทรร้อนใจ ด้วยเป็นพระโสดาบัน เดินจงกรมอยู่ในคุกใต้ดิน ทรงชีวิตอยู่ด้วยธรรมปีติ มีผิวพรรณเปล่งปลั่งยิ่งกว่าเดิม พระเทวทัตจึงยุต่อให้เอามีดกรีดเท้าพระเจ้าพิมพิสารเสีย จักได้จงกรมต่อไปไม่ได้ พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทำตาม และที่สุดพระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จสวรรคต
พอพระเจ้าพิมพิสารเสด็จสวรรคต พระเจ้าอชาตศัตรูเกิดกลับใจ ได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วขอถึงพระรัตนตรัย เมื่อกลับใจ มาเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็ได้บำเพ็ญบุญทั้งหลายอย่างยิ่ง แลตั้งอยู่บนความไม่ประมาท แต่ด้วยเหตุแห่ง อนันตริยกรรม โดยการทำปิตุฆาต หรือ ฆ่าพ่อแท้ ๆ ของตัวเอง จึงถูกห้ามมรรคผลนิพพาน ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ และต้องเสวยทุกข์เวทนาในนรกขุมโลหะกุมภี
กลับมาเรื่องบู๊กับแคว้นวัชชีต่อ
พระเจ้าอชาตศัตรูหลังกลับใจแล้ว มีความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ก่อนจะยกทัพไปลุย จึงอยากได้รับความเห็นชอบจากพระผู้มีพระภาค เสียก่อน แต่ครั้นจะไปถามตรง ๆ คงไม่สมควร อาจถุกตะเพิด หนีกลับพระราชฐานไม่ทัน จึงเรียกวัสสการพราหมณ์เข้ามาสั่งว่า พราหมณะ ดูก่อน พราหมณ์ ท่านจงไปที่สำนักของพระศาสดา แล้วทูลพระศาสดาว่า ตัวเรานี้จะไปปราบเจ้าพวกแคว้นวัชชี (ไม่ได้ถามนะ แค่แสดงเจตนา) ท่านจงฟังว่า พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า เช่นไร
ครั้นวัสสการพราหมณ์ไปถึงสำนักของพระศาสดา ได้ถวายบังคมแล้ว โอภาปราศรัยถามสารทุกข์สุกดิบ เป็นที่สมควรแล้ว ก็ทูลความในที่พระเจ้าอชาตศัตรูสั่งมา
พระพุทธเจ้าไม่ตอบ กลับหันไปตรัสพูดคุยกับพระอานนท์ว่า
๑. อานันทะ ดูก่อน อานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าแคว้นวัชชี ยังหมั่นประชุมอยู่เนือง ๆ หรือ
พระอานนท์ตอบว่า ได้ยินมาเช่นนั้น พระเจ้าข้า
แล้วถามลักษณะเดียวกันต่อไปอีก ๖ ประการ ได้แก่
เจ้าแคว้นวัชชียัง
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำหรือ ฯ
๓. ไม่ได้บัญญัติสิ่งที่มิได้ บัญญัติไว้ ไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของ เก่าตามที่บัญญัติไว้แล้วหรือ ฯ
๔. สักการเคารพนับถือบูชา ท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นหรือ ฯ
๕. ไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือ กุมารีในสกุลให้อยู่ร่วมด้วยหรือ ฯ
๖. สักการะเคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายใน ภายนอก และไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไปหรือ ฯ
๗. จัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่ง ความอารักขาป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็น ผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้หรือ ฯ
พระอานนท์ ตอบว่า ได้ยินมาเช่นนั้น พระเจ้าข้า ในทุกข้อ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรุปว่า ตราบใดที่เจ้าแคว้นวัชชี ยังตั้งอยู่ใน อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ เจ้าแคว้นวัชชี พึงหวังความเจริญได้ถ่ายเดียว ไม่มีเสื่อม
ฝ่ายวัสสการพราหมณ์ได้ฟังพุทธดำรัสเช่นนั้น ก็ทราบทันทีว่า พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ถึงแคว้นวัชชีว่า ยังเข้มแข็งนัก ไม่ควรเข้าไปถล่มในเพลานี้ แล้วรีบกลับไปกราบทูลพระเ้จ้าอชาตศัตรู
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงกลุ้มพระทัยยิ่งนัก ไม่รู้ไปโกรธใครมา ไม่พูดไม่จา ทำหน้าบึ้งตึง ไม่รู้ไปแค้นเจ้าแคว้นวัชชีมาแต่ปางไหน ต้องการจักถล่มให้ราบพนาสูญ เมื่อได้รับพระพุทธพยากรณ์เช่นนั้น ก็วุ่นวายใจอยู่ ปรึกษาวัสสการพราหมณ์ว่า จะมีหนทางใดจักพิฆาต เหล่าเจ้าแคว้นวัชชีได้บ้าง กระไรดี
ลำดับนั้น ขงเบ้งเวอร์ชั่นแขก จึงจัดการออกอุบาย นำอปริหานิยธรรมของพระพุทธองค์นั่นแหละ มาทำลายความสามัคคีของเจ้าแคว้่นวัชชี
ซึ่งถ้าหากไปศึกษาการปกครองของแคว้นวัชชี จะพบความอัศจรรย์อีกอย่าง นั่นคือ แคว้นนี้ปกครองกันด้วยระบอบคณาธิปไตย คือ ปกครองกันด้วยคณะเจ้าแคว้น คล้ายคณะรัฐมนตรี เจ้าครองแคว้นวัชชี มิใช่กษัตริย์เดี่ยว ๆ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู ครองแคว้นมคธ นะ หากแต่มีราชนิกูล ชนชั้นเจ้า ผลัดกันปกครองตามวาระ จำนวนเจ้าทั้งหลาย มีถึง กว่า ๗,๐๐๐ องค์ มีการประชุม คล้ายการประชุมคณะรัฐมนตรีในปัจจุบัน เพียงแต่อำนาจจะถูกสับเปลี่ยนหมุนเวียนในหมู่เจ้าเท่านั้น มีการประชุมลงความเห็น คล้ายระบอบประชาธิปไตย และมีวาระในการดำรงตำแหน่ง คล้ายนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นระบอบการปกครองทีแอดว๊านซ์มาก ในสมัยนั้น
ขงเบ้งแขก ก็สาธยายอุบายอันยิ่ง ได้แก่
ส่งไส้ศึกแทรกแซงเข้าไปในกลุ่มราชนิกุล เข้าไปยุยงให้แตกความสามัคคี ยุยงให้ราชนิกุลทั้งหลาย มาเข้าประชุมบ้าง ไม่มาบ้าง รื้อถอนบัญญัติบ้าง บัญญัติเพิ่มบ้าง ฉุดคร่าขืนใจสตรีบ้าง ทำลายรูปเคารพ ไม่ฟังผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ฯลฯ ทำทุกอย่างให้อปริหานิยธรรม หายไป ทำเช่นนี้อยู่ ๒ ปี แคว้นวัชชีก็อ่อนแอ ขาดความสามัคคีในหมู่คณะ พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพมา เพียงกระดิกนิ้ว แคว้นวัชชี ก็ราบพนาสูญ
อะ...อย่างนี้ก็เท่ากับพระพุทธเจ้า ชี้โพรงให้กระรอกซี
หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อรรถกถาฎีกาจารย์แก้ไว้ว่า ทรงทราบดีว่า การตรัสถึงอปริหานิยธรรมของเจ้าแคว้นวัชชี จักนำมาซึ่ง แผนการณ์อันชั่วร้ายของวัสสการพราหมณ์ แต่ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า อย่างไร พระเ้จ้าอชาตศัตรู ก็ต้องถล่ม แคว้นวัชชีเป็นแน่ ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง แม้จักยกทัพไปในคราวนั้น ก็จักถล่มแคว้นวัชชีได้ยับเยิน ด้วยแคว้นวัชชีเป็นแคว้นเล็กกระจ้อยร่อย คงม้วยมรณาด้วยแสนยานุภาพแห่งแคว้นมคธ ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่กว่าอย่างเทียบกันไ่ม่ได้ ประหนึ่ง ทัพของโจโฉ กับทัพเล่าปี่ตอนติดอยู่ที่เกงจิ๋ว ทีเดียวเชียว หากแต่แคว้นวัชชียังทรงอยู่ซึ่งอปริหานิยธรรม คงไม่ง่ายในการรุกราน จักต้องเสียเลือดเนื้อเป็นจำนวนมาก กว่าจะถล่มสำเร็จ ดังนี้แล้ว จึงตรัสความดังกล่าว เพื่อยื้อเวลา การเข้าถล่มของพระเจ้าอชาตศัตรูออกไป ถึง ๒ ปี ระยะเวลาขนาดนั้น หากเจ้าแคว้น และชาวเมืองทั้งหลาย ตั้งใจปฏิบัติธรรม ก็คงบรรลุธรรมกันไปพอสมควรแล้ว
ครั้นเมื่อคิดถึงเรื่องนี้แล้ว ก็หวนคิดถึงเมืองไทย ขณะนี้ คงไม่ต่างจากแคว้นวัชชี ที่ถูกวัสสการพราหมณ์ ส่งจารชนเข้ามาแทรกแซง เพื่อให้เกิดการแตกความสามัคคีกันในชาติ
อปริหานิยธรรมของประเทศไทย เหลืออยู่กี่ข้อกันหนอ
เมื่อประเทศชาติอ่อนแอได้ที่ และการณ์เหมาะสม พระเจ้าอชาตศัตรู ก็คงถล่มประเทศไทยจนราบพนาสูญ
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ