คำปรารภของผู้เขียน
เนื่องด้วยข้าพเจ้าไปร่วมในงานสวดผีเสียหลายงานแล้ว เห็นเจ้าภาพนั่งหลับฟังสวดอภิธรรมบ้าง ไม่สนใจพระสวดบ้าง ประกอบกับได้ไปทำของชำร่วยแจกงานศพเป็นหนังสือธรรมะมาหลายงาน แต่เนื้อหาในหนังสือไม่เกี่ยวกับงานศพเลย จึงมีไอเดีย จะเขียนหนังสือแจกงานศพขึ้น เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติ และอธิบายปริศนาธรรมในงานศพ
งานนี้มี co-producer หรือ ผู้เอื้อเฟื้อเนื้อหา กิตติมศักดิ์ร่วมมา ๒ รูป ได้แก่ พระมหาพรชัย กุสฺสจิตโต และ พระมหานัธนิติ สุมโน
หากผู้ใดเห็นว่า เนื้อหาดีสมควรเผยแผ่ให้เป็นธรรมทาน สามารถนำไปพิมพ์ได้เลย ไม่ต้องขออนุญาต งานเขียนนี้ เขียนมาหลายเดือนแล้ว เผอิญไปได้ฟังความในมงคลสูตรมาว่า การไม่มีการงานคั่งค้าง เป็นอุดมมงคล เลยรู้สึกว่า สมควรแก่เวลาที่ดองงานมานานแล้ว เดี๋ยวมันจะเค็มเกินไป ต้องรีบเอาขึ้นมาปัดฝุ่น ทำเสียให้เสร็จ จะได้เป็นอุดมมงคลแก่ชีวิต
ขออำนาจแห่งธรรมทานที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้ว จงส่งผลให้ข้าพเจ้ามีปัญญาญาณ จนสามารถตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน ได้เข้าถึง ซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันด้วยเทอญ ฯ
ปล.ใครอยากโมทนา เพื่อเข้านิพพานมั่ง ก็เชิญได้เลย ไม่สงวนลิขสิทธิ์
______________________________________________
อะไรเอ่ย คืองานศพ ?
คุณเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า คุณได้อะไรจากงานศพ คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า ที่เขาว่า ตั้งใจฟังสวดอภิธรรม แล้วได้บุญ มันได้บุญอย่างไร แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมต้องสวดศพด้วยบทพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ บทสวดมนต์อื่นมีตั้งมากมาย ทำไมถึงต้องเป็นพระอภิธรรม การบังสุกุล คืออะไร มีผลอย่างไร บทสวดบางบท (ที่ไม่ยาวมาก)แปลว่าอะไร กราบศพเขาระลึกถึงอะไรกัน
ปริศนาธรรมในงานศพ ให้ข้อคิดสะกิดใจ โดย พระมหาพรชัย กุสฺลจิตโต
พระสวด
“กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา...”
เสียงพระสวด แว่วมา แต่ไกล
หัวใจ กลับยัง วุ่นวาย
ห่วงโน่น คิดนี่ มิคลาย
เสียดาย รู้ไม่ได้ สวดอะไร
พระสวดไป คงสวดให้ คนตายฟัง
เราเพียงนั่ง เป็นพิธี มารยาท
หารู้ไม่ อานิสงส์ ไม่ควรขาด
คงไม่พลาด หากฟัง ด้วยตั้งใจ
ใจคงเห็น ความจริง สิ่งแท้ ๆ
ที่นอนแน่ นิ่งนั้น ไม่ใช่ใคร
ก็เคยเป็น คนที่ มีหัวใจ
เต้นอยู่ใน โพรงอก เหมือนกับเรา
ณ บัดนี้ หัวใจ อยากพักผ่อน
นอนเถิดนอน วันนี้ โอกาสเขา
พรุ่งนี้ไม่ แน่นัก โอกาสเรา
อย่าโฉดเขลา เพียรไม่ ประมาทเอย ฯ
ความตาย... แค่คิดถึงก็สยองแล้ว น่าประหวั่นพรั่นพรึงเป็นที่สุด ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากให้เกิดกับเรา กับพ่อแม่ญาติสนิทมิตรสหาย ผี... ยิ่งน่ากลัวยิ่งกว่า เวลาญาติสนิท หรือเพื่อนสนิทตาย ได้โปรดไปสู่ที่ชอบที่ชอบเถิด อย่าได้มาปรากฏกายให้เห็นเลย ยิ่งเวลาต้องอยู่คนเดียว ในห้องน้ำ ต้องหลับตาถูสบู่ โอย...มันจะตายเสียให้ได้ กลัวว่า ลืมตาขึ้นมา ญาติของเรา เพื่อนของเรา ที่เพิ่งตาย จะมายืนยิ้มเผล่อยู่ ถ้ามาจริงคงจะช็อคตายอยู่ในห้องน้ำ ร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้าเก้า เขาก็ไม่ได้โผล่หน้ามาให้เห็น เวลานอน ก็ต้องนอนคลุมโปง เปิดไฟไว้ เปิดวิทยุทิ้งไว้ เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้เป็นเพื่อน หรือหาใครก็ได้มานอนเป็นเพื่อน ความเชื่อของทางจีน ก็เชื่อว่า การไปงานศพ ไม่เป็นมงคล ไปแล้วจะมีเคราะห์ อย่าพูดเรื่องความตาย พูดแล้วจะซวย เป็นสิ่งอัปมงคล คุณเป็นอย่างนั้น เชื่ออย่างนั้นหรือเปล่า
ยังมีคนอีกพวกหนึ่ง เห็นความตายเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีเกิดแล้วก็ย่อมมีดับเป็นธรรมดา ผีนั่นหรือ ก็คือ จิต นั่นเอง เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น เหมือนเมื่อมีชีวิตอยู่นั่นแหละ เพียงแต่ไม่มีร่างกาย เวลาเขาโผล่มาเละ ๆ เยิน ๆ ก็คิดสงสารเขาว่า โถ... นี่ไปเกิดในภพภูมิใหม่ ทำได้ดีที่สุดแค่นี้เองหรือ พวกผีเวลาเขาจะปรากฏร่างให้คนเห็น เขาไม่ได้ตั้งใจจะทำตัวให้ดูยู่ยี่ยับเยินขนาดนั้น เขาต้องพยายามแต่องค์ทรงเครื่องให้ดูดีที่สุดของเขาแล้ว เพื่อมาขอความช่วยเหลือ จากญาติพี่น้อง จากเพื่อนฝูง จากคนรู้จัก ที่จะสามารถช่วยเขาได้ ช่วยทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้เขาโมทนาได้ อนิจจา... เขาทำได้ดีที่สุดแค่นั้น แสดงว่าตอนมีชิวิตอยู่ไม่ค่อยได้สร้างบุญสร้างกุศล หรือไม่ ตอนตายจิตก็จับสิ่งที่เป็นอกุศล ดังนั้นเวลาเห็นเขา เราต้องสงสารเขา ไม่ใช่ไปกลัวเขา ข้าพเจ้าสมัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ก็เคยกลัวเหมือนกัน แต่พอคิดได้ว่า ที่สุดแล้วเขาก็ทำอันตรายอะไรเราไม่ได้ อย่างมากก็มาแสดงภาพให้ดู ทำเสียงให้ได้ยิน ที่จะมาบีบคอแบบผีไทย กัดคอแบบแวมไพร์ โดดดึ๋ง ๆ แบบผีจีน หรือฆ่าเราแบบผีเกาหลี มันมีแต่ในหนัง แล้วจะไปกลัวทำไม สุดท้ายก็เลิกกลัวไปเอง คนที่เห็นความเกิดก็ธรรมดา ความตายก็ธรรมดา เขาเรียกว่า ผู้มีดวงตาเห็นธรรม ตัวอย่างเช่น กระทาชายนายอุปติสสะ เดินเล่นอยู่แถวอินเดีย ไปพบพระรูปหนึ่ง ผิวพรรณผุดผ่อง จริยาสงบเสงี่ยมน่าเลื่อมใส จึงไปขอฟังธรรม พระรูปนั้น ก็ตอบอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนว่า อาตมาเป็นพระใหม่ เพิ่งบวชได้ไม่นาน จะให้แสดงธรรมนั้นมิกล้า ๆ แต่ถ้าจะยกคำของครูอาจารย์มาก็พอทำได้ แล้วก็แสดงธรรมว่า
เย ธัมมา เหตุปปะภะวา เตสัง เหตุง ตะถาคะโต
เตสัญจะ โย นิโรโธจะ เอวัง วาที มะหาสะมะโณติ
ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสบอกถึงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับซึ่งเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้ามีปกติตรัสสอนอย่างนี้
ฟังจบก็ปิ๊ง ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล บวชแล้วได้ชื่อใหม่ว่า พระสารีบุตร
หรือบางคนก็ยิ้มกริ่ม เมื่อเห็นคนตาย เช่น พนักงานมูลนิธิ คนขายโลง สัปเหร่อ คนขายพวงหรีด ฯลฯ
เหตุใดทัศนคติต่อความตาย จึงผิดแผกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเช่นนั้น ว่ากันตามหลักธรรมะนี่ การกลัวความตาย มาจากกิเลสตัวโมหะ หลงคิดว่า เกิดแล้วจะไม่ตาย หรือตายเหมือนกัน แต่ตายช้าหน่อย คือตายเมื่อแก่ ตายเมื่อโรคภัยเบียดเบียน ถ้ายังหนุ่ม หรือยังเด็กอยู่ สุขภาพแข็งแรง ก็จะยังไม่ตาย (ซึ่งความจริง มันไม่เกี่ยวเลย ดูได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ คนที่ยังเด็ก คนที่แข็งแรง คนที่ยังหนุ่มยังสาว มีโอกาสตายได้ทั้งนั้น) มาจากอุปาทาน การยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นในเรา ในเขา ในของเรา ในของเขา นี่เรา นี่เขา นี่ญาติของเรา นี่เพื่อนของเรา นี่พ่อของเรา นี่ลูกของเรา คำว่า “นี่เรา” กับ “นี่ของเรา” นั่นแหละ คือตัวทุกข์ พอยึดนั่นยึดนี่ว่าเป็นเรา เป็นของเราแล้ว ก็ยังไม่พอ ยึดต่อไปอีกว่า เราจะไม่เสื่อม เราจะไม่ป่วย เราจะไม่แก่ เราจะไม่ตาย เขาจะไม่ตาย ต้องอยู่เห็นหน้ากันไปตลอดกาล สิ่งของทั้งหลายจะไม่บุบสลาย สิ่งของทั้งหลายจะอยู่คงทนเหนือกาลเวลา แล้วพอเกิดแก่ เกิดตาย เกิดพัง ขึ้นมา ก็เศร้าโศกสลด ไม่มีประมาณ ส่วนอาการกลัวผี ก็มาจากจิตสังขาร หรือความคิดปรุงแต่ง จินตนาการไปว่า จะมีอะไรโผล่มาในความมืด หน้าตาจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ยิ่งมีจินตนาการสูงส่งเท่าใด ก็กลัวผีมากขึ้นเท่านั้น และก็เป็นเรื่องแปลกที่คนกลัวผี มักจะชอบดูหนังผี (ประมาณเอาว่า คนที่กลัวผี มักจะเป็นคนชอบคิด ชอบปรุงแต่ง บ้างก็สนุกกับความคิด บ้างก็ทุกข์กับความคิด เลยชอบดูหนังที่มันช่วยปรุง ช่วยแต่ง เพราะเห็นเป็นเรื่องสนุก)
เชื่อว่า ในชีวิตพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ต้องเคยผ่านการร่วมงานศพกันมาบ้าง ความรู้สึกเมื่อไปงานศพ ก็จะแตกต่างกันไป ตามวัยบ้าง ตามความสัมพันธ์กับผู้ตายบ้าง ตามอารมณ์ใจขณะนั้นของแต่ละคนบ้าง ตามวัยของผู้ตายบ้าง เช่น ผู้มาร่วมงานที่อยู่วัยเด็ก มักเห็นงานศพ เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ต้องไปนั่งนาน ๆ ฟังพระสวดอะไรก็ไม่รู้อีกแล้ว ความรู้สึกนี้อาจจะลดลงตามวัยที่สูงอายุขึ้น เห็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงตายมากขึ้น เห็นโลกมากขึ้น เข้าใจธรรมะของพระพุทธองค์มากขึ้น หรือผู้ที่เป็นญาติสนิท เพื่อนสนิท ก็จะกอปรไปด้วยความเศร้าโศกโศกาอาดูร ร้องห่มร้องไห้ปิ่มจะขาดใจ หรือบางคนก็รู้สึกเฉย ๆ เห็นเป็นเรื่องธรรมดาของโลก หรือบางคนก็เฝ้าคิดว่า ไม่น่าเลย ไม่น่าตายเร็วเลย ยังไม่ได้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วยกัน ยังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณ และอื่น ๆ สิ่งหนึ่งที่มักเป็นอารมณ์ร่วมของทุกงานศพ คือบรรยากาศแห่งความเศร้าโศกสลดกับการจากไปของผู้ตาย เว้นแต่บางกรณีที่ผู้ตายได้ประกอบกิจชั่วช้าสามานย์เป็นอันมาก หรือเป็นอริกัน ก็อาจจะมีผู้ร่วมยินดีกับการจากไปของเธอเหล่านั้น นอกจากการร่วมแสดงความเสียใจกับเจ้าภาพ เห็นใจเจ้าภาพ ให้กำลังใจเจ้าภาพ หรือการได้พบปะวงศาคณาญาติเพื่อนสนิทมิตรสหายแล้ว อะไรหนอที่ซ่อนอยู่ในงานศพ และคนไม่ค่อยรู้
อยากทราบปริศนาธรรมในงานศพ เช่น ทำไมต้องล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว ดอกไม้จันทน์คืออะไร ติดตามได้ตอนต่อไป
จบตอน ๑