วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ต่างคนต่างมอง by Dhammakapolokikku

537586_208401675948840_1733574205_n

ถ้าจิตหมองแล้วไซร้ มันก็ย่อมเป็นกิเลสซี ข้าพเจ้าก็ไปนึกทบทวน อ๊ะ...ความโลภ คงไม่ใช่แน่ ความโกรธ ก็คงไม่ใช่อีก แน่นอนเลยมันเหลืออยู่ตัวเดียว โมหะ-ความหลงแน่ ๆ

ทีนี้มันหลงกันอย่างไรล่ะ ความหลง คือ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม แต่ลึกลงไปแล้ว คือ เห็นค้านกับไตรลักษณ์ ละเอียดลงไปอีก ก็เห็นผิดไปจากอริยสัจ ๔

ข้าพเจ้าคงจะไม่ลงไปถึงอริยสัจ มันจะเว่อร์เกินไป แค่ตอบเม้นท์ ไม่ตอบเม้นท์ แค่เนี้ยะ ไล่ไปถึงอริยสัจ เชียว (แต่ความจริงก็ไล่ไปให้ถึงได้นะ)

พิเคราะห์ดูเหตุแห่งทุกข์นั้น น่าจะมาจาก พรหมวิหาร ๔ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คงพอทราบกันดีอยู่ ทีนี้มาดูลักษณะของคุณไอ้แป้น คุณไอ้แป้นเป็นคนที่เจริญเมตตาพรหมวิหารธรรม หรือ ความรักในเพื่อนมนุษย์ อยากให้เขามีความสุข เป็นปกติ

ดูจากการ์ตูนที่คุณไอ้แป้นวาด โดยเอาตัวเอง เป็นตัวเดินเรื่อง เอานิสัยเสีย ๆ ของตัวเองมาแฉ เขียนเป็นการ์ตูนตลกโปกฮา นั่นเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า คุณไอ้แป้นลงทุนเอาตัวเอง เป็นตัวตลก เพื่อต้องการเห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ผ่านทางคอมเม้นท์ ของเพื่อน ๆ ชาว exteen และผู้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน จากที่อื่น ๆ

ในเมตตาพรหมวิหารนั้น มีสิ่งหนึ่งแฝงมาอย่างแนบเนียน และเบาบาง จนแทบไม่รู้สึก และมองไม่ออก สิ่งนั้นคือ สักกายทิฏฐิ-ความรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นของเรา อ่านแล้วอาจจะงงว่า อะไรคือความรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นของเรา ถ้าเปลี่ยนคำแปลเป็น ความรู้สึกว่ามีตัวตน จะเข้าใจง่ายกว่าไหม สักกายทิฏฐินั้น แนบแน่นกับเรา เหมือนเงาตามตัว ไม่ว่า เราจะทำตัวเช่นไร มันก็ติดตามเราไปได้เสมอ

สักกายทิฏฐิของคุณไอ้แป้น จะแปลกกว่าชาวบ้านสักหน่อย ชาวบ้านเขาพยายามทำตัวเองให้ดูดี มีคุณค่า น่านับถือ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แต่ของคุณไอ้แป้นกลับตรงกันข้าม คือ ใครจะมองข้ายังไง ข้าไม่สนหรอก ขอให้เขาได้ยิ้ม ได้หัวเราะ ก็พอใจ ตรงนั้นละ ที่สร้างตัวตนของคุณไอ้แป้นขึ้นมา กลายเป็นว่า ทุกคนรับรู้ตัวตนของคุณไอ้แป้นว่า เป็นคนวาดการ์ตูน เป็นตัวตลก เป็นคนมีอารมณ์ขัน ทุกคนสามารถนึกภาพของคุณไอ้แป้นขึ้นมาได้ว่า หน้าตาคงเป็นอย่างนั้น ๆ ผิวคล้ำเป็นนิโกร ขนจมูกยาว พอ ๆ กับ ขนจักกะแร้ กินเก่ง กระเพาะคราก และหัวเราะร่าได้ตลอดเวลา ทั้งที่ความจริงคุณไอ้แป้นเอง อาจนิยามตัวเองไปอีกอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่ตัวตลก ดาราตลก นักแสดงคาเฟ่ ชีวิตจริงไม่ได้เฮฮาเหมือนตอนอยู่บนเวที บนจอโทรทัศน์ หรือหน้า exteen บนจอคอมฯ

การที่คนอื่นมีภาพของคุณไอ้แป้น และคุณไอ้แป้นเอง ก็นิยามความเป็น"ไอ้แป้น" นั่นแหละ คือ สักกายทิฏฐิ อัตตา หรือ ตัวตน หรือ

การมีตัวตนบนโลกไซเบอร์ หรือที่ไหนก็ตามแต่ในโลกนี้ จักรวาลนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องธรรมด๊า...ธรรมดา ไม่ใช่เรื่องน่าทุกข์แต่อย่างใด สิ่งที่เป็นทุกข์ คือ ตัวอุปาทาน ต่างหาก แล้วอุปาทานคืออะไร?

523597_423090264383627_1297055798_n อุปาทาน คือ การยึดมั่นถือมั่น อย่างกรณีคุณไอ้แป้น ก็ยึดมั่นถือมั่น ในตัวตน บนโลกไซเบอร์ ยึดมั่นในเมตตาพรหมวิหารธรรมที่ตัวเองมี ทุกคนต้องมีความสุข เมื่อเข้ามาเยี่ยมเยียนบล็อกของฉัน ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างดี ตอบทุกคอมเม้นท์ เพราะฉันต้องการให้เขามีความสุข เอาละสิ นี่ข้าพเจ้ากำลังจะบอกว่า คนเราไม่ควรมีเมตตาพรหมวิหารธรรม หรืออย่างไร?

ความจริงแล้ว ถ้าไปศีกษาให้ดี พรหมวิหารธรรม มี ๔ ตัว ครับ และตัวที่สำคัญที่สุด หาในศาสนาอื่นไม่ค่อยเจอ คือ "อุเบกขาพรหมวิหารธรรม" ครับ ตัวอุเบกขา หรือ ปล่อยวาง วางเฉย นี่ละครับ ที่ทำให้เรามีความสุข และไม่ต้องมาคอยกังวลว่า การตอบเม้นท์ หรือ ไม่ตอบเม้นท์ เป็นการละกิเลสหรือเปล่า

ยกตัวอย่างกรณีคุณไอ้แป้น เธอเจริญเมตตาพรหมวิหารธรรม อยากให้คนอื่นยิ้ม อยากให้คนอื่นหัวเราะ เธอก็ทำสำเร็จแล้ว ดูจากการมีเม้นท์เข้ามามากมาย จนตอบไม่หวาดไม่ไหว ซึ่งตรงนี้ถ้ามองด้วยปัญญา ก็จะเห็นว่า ก็เราตอบไม่ไหวจริง ๆ นี่หว่า ไม่ได้แกล้ง เราก็อยากตอบทุกคนนั่นแหละ อยากดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด ตอบแทนที่เขาอุตส่าห์เข้ามาชมบล็อกของเรา แต่ในเมื่อมันเกินความสามารถ ก็ต้อง อุเบกขา หรือ ปล่อยวาง ครับ

ตรงนี้คุณตุ้มเป๊ะ ก็ได้เข้ามาตอบก่อนแล้ว ถึงอุเบกขาพรหมวิหารธรรม แต่ไม่ได้ใช้เทคนิคคอลเทอมอย่างที่ข้าพเจ้าทำ ด้วยการเม้นท์ว่า ของคุณแป้นคนมาเม้นท์เยอะ คนมาเม้นท์เค้าคงเข้าใจว่าเป็นไม่ได้ที่คุณแป้นจะไปตอบกลับทุำกๆคน ตรงนี้ถ้าน้อมใจเชื่อตาม หรือเห็นด้วยปัญญาว่า "เออ...จริงแฮะ" กิเลสโมหะ-ความหลง (หลงยึดนั่นยึดนี่) จะหายไป

ไหน ๆ ก็ว่าธรรมะมาเสียยาวขนาดนี้ ถ้ามีประโยชน์แค่เพียง  เป็นการละกิเลสหรือเปล่า ประโยชน์ก็คงจะน้อยเกินไป เรามาว่ากันต่อไปอีกสักนิด เกิดมันไม่ใช่การเม้นท์ล่ะ เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ สาหัสกว่านี้ เราจะทำอย่างไร จะละอุปาทานอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น กรณีคุณไอ้แป้น วันดีคืนดี ก็มีคนเข้ามาเม้นท์หยาบคาย เม้นท์เสีย ๆ หาย ๆ หรือมีคนอิจฉา ว่าได้ขึ้นฮ็อตโพสต์บ่อยเหลือเกิน มาเม้นท์แดกดัน เสียดสี ความทุกข์มันจะไม่ใช่แค่ความกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้แล้ว แต่เพิ่มระดับขึ้นไปจนเทียบกันไม่ได้

แต่ถ้าว่าถึงกลไกการเกิดทุกข์ มันก็คงเดิมครับ ไม่ว่า เรื่องราวจะหนักหนาสาหัส ซับซ้อนซ่อนเงื่อนแค่ไหน กลไกการเกิดทุกข์ ก็จะคงเดิม นั่นคือ เกิดจากอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น ในตัวตนของเรา หรือ สักกายทิฏฐิ นั่นเอง ยึดมาก ก็ทุกข์มาก

มีหลากหลายวิธีในการมองครับ ขึ้นอยู่กับว่า มองแบบไหนแล้วถูกจริตเรา ลองแนะให้สักสองสามอย่าง

๑. มองเป็นไตรลักษณ์ ทุกอย่างในโลก ล้วนมีสามัญญลักษณะ ร่วมกันอยู่ ๓ ประการ นั่นคือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกขัง คือ เป็นทุกข์ หรือ ทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก อนิจจัง คือ ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ไปตามเหตุ และปัจจัย อนัตตา คือ สุดท้าย ทุกสิ่งก็สลายตัวหมด น้อมเข้ามาหาคุณไอ้แป้น ก็คือ มองว่า ตัวตนบนโลกไซเบอร์ของ "ไอ้แป้น" มันทนอยู่สภาพเดิมได้ยาก มันเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน (บางวัน มุกอาจจะแป่่ก ภาพการ์ตูนอาจจะสวยขึ้น หรือแย่ลง) และสุดท้ายตัวตนของ "ไอ้แป้น" ก็อาจจะหายไป คือ เซิร์ฟเวอร์ล่ม น้ำท่วมกรุงเทพฯ คุณไอ้แป้นหมดไฟเขียนต่อ หรือ อะไรก็แล้วแต่ วันหนึ่งมันต้องเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดในโลกคงอยู่ถาวร ฉะนั้น ถ้ายอมรับในกฎของไตรลักษณ์ การที่มีคนเข้ามาเม้นท์ด่า ทั้งที่ไม่มีมูลความจริง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าทุกข์ร้อนอะไร เพราะความเห็นของคนไม่เที่ยง วันหนึ่งเขาอาจจะชอบการ์ตูนของเรา อีกวันเขาอาจจะเกลียด ก็ในเมื่อมันไม่เที่ยงสักอย่าง จะไปเอาอะไรกับมัน ความคิดที่เห็นว่ามันเที่ยงนั่นแหละ ทำให้เกิดทุกข์ ทุกข์ว่ามันจะต้องเรียกเสียงฮาได้ตลอดไป การมองเป็นไตรลักษณ์ ภาษาเป็นทางการ เรียกว่า ไตรลักษณญาณ

533389_325955294149782_898396795_n ๒. มองเป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธพจน์ว่า นินทา ปสังสา การนินทา เป็นเรื่องธรรมดาของโลก นัตถิ โลเก อนินทิโต คนไม่เคยถูกนินทา ไม่มีในโลก คนเรามีปาก ก็พูดกันไป มีมือก็พิมพ์กันไป มีเน็ตก็เม้นท์กันไป ตามใจตัว เราต้องเห็นด้วยปัญญาว่า แม้เขาว่าเราเลว แต่เรารู้ว่า เราดี เราก็ไม่ได้เลวไปตามปากเขา และต่อให้เขาว่าเราดี แต่เรารู้ว่า เราเลว เราก็ไม่ได้ดีไปตามปากเขาเช่นกัน

๓. มองเทียบกับคนอื่นที่เป็นคนดีกว่าเรา แต่ถูกด่าว่า ได้รับผลเลวร้ายกว่าเรา อาจจะมองคนใกล้ตัว ใกล้บ้าน เพื่อนฝูง พี่น้อง ญาติ พ่อแม่ ใครก็ได้ ที่เขาทำความดีมากกว่าเรา แต่ผลที่ได้กลับเป็นตรงกันข้าม ในที่นี้ลองยกตัวอย่าง พระพุทธเจ้า ก็แล้วกัน มีใครปฏิเสธบ้างว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ ดีอย่างชนิดหาใครเสมอเหมือนได้ยาก พระสมัยนี้ อยากให้ไปเทศน์ ต้องมีกัณฑ์เทศน์ ต้องมีซอง ต้องมีราชรถมาเกย ต้องมีโน่นมีนี่ พระพุทธเจ้ามีอะไรครับ เวลาจะไปเทศน์โปรดใคร ท่านต้องเดินไปเองนะครับ ทรัพย์สินกัณฑ์เทศน์อะไรก็ไม่เคยมี และไม่เคยเลือกว่า จะไปโปรดคนจน หรือ คนรวย บางทีถ้าต้องเลือกระหว่างเข้าไปฉันในวัง กับไปโปรดคนยากจน ที่มีโอกาสได้มรรคผล ท่านยังไม่เสด็จเข้าวัง แต่ไปโปรดคนยากจนแทนเลย พระองค์ดีขนาดนี้ กระนั้น ก็ยังมีคนนินทา ให้ร้าย พระพุทธเจ้า มีคนอิจฉา จ้างคนมาด่าจนพระอานนท์ทนไม่ไหว ชวนพระศาสดาหนีไปเมืองอื่น มีคนคิดจะปลงพระชนม์ มีคนทำร้ายจนห้อพระโลหิต เอ๊ะ...แล้วเราดีเท่าพระพุทธเจ้าหรือยัง พุทโธ่... ถ้ายังไม่ดีเท่าพระพุทธเจ้า ทำไมเสียงนินทาแค่นี้ทนไม่ได้

๔. มองว่ามันเป็นแค่ โลกธรรม โลกธรรม ๘ คือ ธรรมของโลก มีอยู่เฉพาะบนโลก เราจากโลกนี้ไปแล้ว เราก็ทิ้งมันไว้ในโลก เอาไปด้วยไม่ได้ นั่นคือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ๘ อย่างนี้ ท่านแนะว่า มันเข้ามา ก็อย่าไปยินดียินร้าย คนเรามักจะดี๊ด๊าเวลาได้รับสิ่งดี ๆ เช่น ได้ลาภ น้ำตก หรือ ส้มตำ, ได้ยศ, ได้รับการสรรเสริญ (ได้เม้นท์ตูมเลย), หรือ ได้สุข แต่พอสิ่งไม่ดี เช่น เสื่อมลาภ, เสื่อมยศ, นินทา, ทุกข์ เข้ามาก็ทำหน้าเหี่ยว คอตก หมดอาลัยตายอยาก ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าว่า ทั้ง ๘ อย่างนี้เสมอกันครับ ถ้าเรายังดี๊ด๊ากับความสุข ถึงเวลาความทุกข์เข้ามา เราก็จะเหี่ยวสิ้นราศี ครับ ท่านจึงแนะให้ว่า แม้เวลาสุขเข้ามา ก็เฉยเสีย คราวนี้พอทุกข์เข้ามา มันจะเฉยเองครับ ไม่ต้องไปพยายามเฉย เพราะเราเฉยกับสุขเสียแล้ว ทุกข์มันก็เฉยตามไปเอง

๕. มองเป็นมรณานุสสติ คิดว่า อีกไม่เกินร้อยปีข้างหน้า มีวิธีมองเป็นหมื่นเป็นแสนครับ อย่างลึกลงไป มองว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เขาด่า เขาด่าร่างกายของเรา แต่ความจริงเราเป็นจิต เขาด่าจิตเราไม่ได้ ก็มองได้ สุดแท้แต่ว่า เราจะชอบแบบไหน แบบไหนทำให้เราละความยึดมั่นถือมั่นได้

การมองไม่ใช่ว่า จู่ ๆ พอความทุกข์บุกเข้ามา ค่อยมาเริ่มหัดมองนะครับ ถึงตอนนั้นมันเกือบจะสายไปแล้วละครับ ความทุกข์มันทะลุทะลวงเข้าไปในใจ จนยากจะห้ามได้ คนเราพอความทุกข์เข้าครอบงำจิตใจแล้ว บางทีสติหลุด ปัญญาหายครับ มัวแต่ทุกข์โศกเศร้า ข้อปฏิบัติ ข้อแนะนำอะไรที่เคยรู้ ลืมหมดสิ้น นึกไม่ออก

ข้อแนะนำคือ ให้เจริญอยู่เนือง ๆ ครับ ถ้าจะมองเป็นไตรลักษณ์ ก็มองทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ให้หมด ไม่มีอะไรเที่ยงสักอย่าง พ่อด่า ก็ไม่เที่ยง แม่ด่า ก็ไม่เที่ยง เจ้านายด่า ก็ไม่เที่ยง คอมฯเสีย ก็เพราะมันไม่เที่ยง ขนจักกะแร้ร่วง ก็เพราะมันไม่เที่ยง ผิวขาวขึ้น ไม่ดำเหมือนก่อน ก็เพราะมันไม่เที่ยง ขนจมูกพันกัน หรือขนจักกะแร้แตกปลาย ก็เพราะมันไม่เที่ยง ตดไม่ออก มันก็ไม่เที่ยง ไม่นานเดี๋ยวก็ตดออก แล้วทุกอย่างสุดท้าย ก็สลายตัวหมด อะไร ๆ ก็มองเป็นไตรลักษณ์เสียให้หมด ให้เกิดอารมณ์ชิน ทีนี้พอทุกข์ตัวจริงโผล่เข้ามา เราก็หัวเราะ เฮ้อะ...เฮ้อะ...เฮอ มาแล้วเรอะ เจ้าตัวทุกข์ ข้ารอเอ็งมานานแล้ว กว่าเอ็งจะโผล่ ข้าจัดการ "ปลดทุกข์" ล่วงหน้ากดชักโครกไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเช้านี้ เฮอ..เฮอ..เฮอ

ถ้าเรายังละอุปาทาน-การยึดมั่น ถือมั่นไม่ได้ พระพุทธองค์สอนให้เรายึดสิ่งที่เที่ยง ที่เป็นกุศลครับ จะสุขกว่าไปยึดสิ่งไม่เที่ยง หรือเป็นอกุศล แล้วอะไรเที่ยงบ้างหนอ ข้าวเที่ยงหรือเปล่า อุ๊ย...พูดถึง หิวขึ้นมาเลย ท่านว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยงครับ ให้เรายึดไว้เสมอว่า เราตายแน่ ๆ เขาตายแน่ ๆ แต่ยึด มันหนักแน่นเกินไป ท่านเลยให้ยึดเบา ๆ แล้วเรียกใหม่ว่า ระลึกถึงความตาย เนือง ๆ ซึ่งก็คือ มรณานุสสติ นั่นเอง อะไรหนอเที่ยงอีก ท่านว่า นิพพานเที่ยงครับ ถึงแล้ว ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เป็นอมตะครับ ยึดนิพพานไว้ เป็นหลักชัย อุ๊ย...ยึดมันกำแน่นเกินไป ท่านเลยให้กำหลวม ๆ แล้วเรียกใหม่ว่า ระลึกถึงนิพพานเป็นอารมณ์แทน ซึ่งก็คือ อุปสมานุสสติ นั่นเอง

แล้วยึดอะไรอีกดี ถ้าสองรายการแรก ยึดไม่ไหว ท่านว่า ให้ยึด พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ให้มั่นครับ ท่านทั้งหลายนี่ทั้งเที่ยง ทั้งเป็นกุศล เลยครับ เรียกยึดมันไ่ม่เท่ เลยเรียกใหม่ว่า เป็นสรณะ หรือ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ อย่างไรล่ะครับ ข้อควรระวัง พระสมมุติสงฆ์ทั่วไป ที่ไม่ใช่ พระอริยสงฆ์ ยังไม่เที่ยงนะครับ (รวมถึงข้าพเจ้าด้วย) ยึดไปอาจจะเป็นทุกข์ยิ่งกว่าเดิม ดู ๆ เลือก ๆ เสียหน่อยนะครับ

ว้า... ยึดไป ๕ อย่างแล้ว ไม่ประทับใจจอร์จเลย มีอะไรยึดได้อีกไหมล่ะ มีครับ ยึดศีลครับ ศีล ๕, ๘, ๑๐ หรือ ๒๒๗ ยึดไว้ได้เลย เป็นสุขแน่ ระลึกถึงศีลของตัวเองเป็นอารมณ์ เรียกว่า สีลานุสสติ ครับ

601205_418515564853406_850412286_n ยัง... ยังไม่กิ๊บเก๋พอ ชอบห้อยพระอะ ประเภทจตุกาม รามคำแหง จะพอยึดได้ไหมล่ะ ได้ครับ ยึดคุณของเทพ หรือ เทวดา เป็นอารมณ์ หรือที่เขาเรียกว่า เทวธรรม มี หิริ-ความละอายบาป โอตตัปปะ-ความเกรงกลัวต่อผลของบาป คุณธรรม ๒ ประการนี้ ทำให้คนเดินดินอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เป็นเทวดาครับ ระลึกถึงท่านบ่้อย ๆ เรียก เทวตานุสสติ ครับ

หูยย์... งมงาย ไม่ชอบอะ เทวดง เทวดา เทพเทือก อะไร ไม่เอา มีอะไรให้ยึดอีกมะ มีครับ ยึดการให้ทาน เป็นอารมณ์ คิดว่า จะให้ทาน ๆ อยู่เนือง ๆ เรียกว่า จาคานุสสติ ครับ

โอ้ย...ไม่เอา จนจะตายอยู่แล้ว จะให้มาทำทานอีก มีอะไรให้ยึดง่าย ๆ แบบไม่เสียตังค์ไหมล่ะ มีครับ ยึดลมหายใจครับ หายใจเข้ารู้อยู่ว่า หายใจเข้า หายใจออก รู้อยู่ว่า หายใจออก เรียก อานาปานุสสติ ครับ

เอื๊อก...ยากจัง ไม่มีอะไรที่มันยึดง่าย ๆ กว่านี้แล้วหรือ มีอีกตัวหนึ่งครับ ยึดการพิจารณาร่างกาย เป็นอารมณ์ ดูอิริยาบถก็ได้ มี ๔ อย่าง นั่งอยู่ ก็รู้ว่า นั่งอยู่ ยืนอยู่ ก็รู้ว่า ยืนอยู่ เดินอยู่ ก็รู้ว่าเดินอยู่ นอนอยู่ ก็รู้ว่านอนอยู่  เรียกว่า กายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน หรือดูว่ามันประกอบด้วยอะไรบ้าง มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น หรือดูเป็นสิ่งโสโครก สกปรก ปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม ก็คือ อสุภะ หรือ แยกมันเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็คือ จตุธาตววัตถาน ทั้งหมดนี้เรียกว่า กายคตานุสสติ ครับ

เฮือก...เป็นลม (เพราะเจอถล่มด้วย อนุสสติ ๑๐)

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons