วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์ ตอนที่ ๔by Dhammasarokikku

551056_377279838988196_1522834993_n

มาว่าเรื่องของพระธุดงค์กันต่อไป หลังจากหนีไปอัพเอ็นทรี่เรียกเรทติ้งเสียหลายเพลา ว่ามาได้ ๗ ข้อละ เป็นเรื่องของจีวร กับบิณฑบาต ส่วนต่อไปเป็นเรื่องของเสนาสนะ หรือที่พักอาศัย เอาละ คราวนี้ค่อยเกี่ยวกับป่า ๆ หน่อย ครับ

๘. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร หมายถึง ภิกษุผู้ถือการอยู่นอกหมู่บ้าน ต้ิองเว้นระยะห่างไว้อย่างน้อย ๔๐๐ เส้น หรือ ๑ กม. เพราะเห็นโทษของการอยู่ในที่อันพลุกพล่าน เห็นประโยชน์ของการอยู่ในที่อันสงัด ว่าเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ, อารญฺญิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดเสนาสนะชายบ้านเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ป่าเป็นวัตร

ข้อนี้ละ ครับ ที่ทำให้คนทั้งหลายเข้าใจไปว่า พระธุดงค์ต้องอยู่ป่าเท่านั้น คงไม่ต้องอธิบาย ไปดูข้อต่อไปกันเลย

๙. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร หมายถึง ภิกษุเว้นไม่อยู่อาศัยในที่มุงที่บัง เห็นประโยชน์ว่า เป็นอิสระจากงานก่อสร้าง ไม่มีความเดือดร้อนในการหาที่อยู่ เห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ, รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดที่อยู่อันมุงบังเสีย สมาทานองค์ของผู้ที่อยู่โคนไม้เป็นวัตร

ข้อนี้ก็ไม่มีกระไรยาก เห็นกันอยู่เป็นประจำว่า พระแบกกลดไปถึงไหน ก็ปักกลดนอนที่นั่น สังเกตนิดหนึ่ง ครับว่า ไม่มีธุดงควัตรข้อไหนระบุให้เดินไปเรื่อย ๆ สมัยก่อน ข้าพเจ้าก็คิดเข้าใจไปเองว่า พระธุดงค์ต้องเดินทางเท่านั้น เดินทางตลอดเวลา เดินไปเรื่อย ๆ อยู่กับที่ได้ไม่เกิน ๑-๒ วัน เพื่อไม่ให้ติดสถานที่ ความจริงแล้ว ท่านทั้งหลายออกเดินเพื่อหาที่สัปปายะ สงบ วิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร แล้วก็อาจปักกลดอยู่นานเป็นเดือนก็ได้ ครับ

แต่จากการที่ได้ไปทดลองเดินธุดงค์ สถานการณ์ในเมืองไทย ไม่เอื้ออำนวยให้ปักกลดอยู่นาน ๆ ครับ มิใช่เพราะไม่ปลอดภัยจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือสถานการณ์ก่อการร้ายภาคใต้หรอก แต่เป็นเพราะโยมที่เป็นญาติกับคุณเอ็ดดี้ ครูสอนคณิตศาสตร์ ครับ พอทราบว่า มีพระเดินธุดงค์มาปักกลดเมื่อไหร่ แทนที่จักกระตือรือร้นหาทางทำบุญ เหล่าญาติธรรมของคุณเอ็ดโด้ จักรีบคว้าเครื่องมือทางคณิตศาสตร์หลาย ๆ ตัว ไม่ว่าจักเป็นสูตรคูณ การแก้สมการเอ็กซ์โปเนนเชียล การถอดค่าสแควร์รูท แฟคโตเรี่ยล หรือการแปลงค่าลาปาซ หรือลาปาซทรานซ์ฟอร์ม พร้อมทั้งเครื่องมือขูดแคะแกะเกา ประเภทกระดาษทราย นิ้วชี้ ตะไบ และอื่น ๆ มาถูพระ ครับ เพื่อหาตัวเลขไปถอดสมการทางคณิตศาสตร์ สำหรับซื้อสลากกินไม่แบ่ง หรืออันเดอร์กราวด์ล็อตโต้

พระธุดงค์เลยอยู่นานไม่ได้ ครับ ถูกถูไถเข้าไปขนาดนั้น นานไปก็สึกสิ ครับ ไม่ใช่พระไททาเนี่ยม ฉะนั้นจึงมักไม่ค่อยเห็นท่านอยู่กับที่

ข้อนี้อย่าไปเข้าใจสับสน กับข้อเสนอของพระเทวทัตนะ ครับ พระเทวทัตเสนอข้อวัตรอันเคร่งครัด คือ บังคับให้พระทั้งหลายอยู่ป่าตลอดชีวิต ข้อเสนอนั้นมีวาระแอบแฝง ครับ คือรู้อยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าจักต้องปฏิเสธ จักได้ใช้เป็นข้ออ้างว่า พระบรมศาสดาลำเอียง เป็นผู้มักมาก ภิกษุทั้งหลายมาอยู่กับเรา พระเทวทัตผู้เคร่งครัด และมักน้อย กันดีกว่า

คราวนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตว่า ภิกษุใดใคร่อยู่ป่า ก็ให้อยู่ป่า ภิกษุใดใคร่อยู่เมือง ก็ให้อยู่เมือง ขืนพระองค์อนุญาตตามข้อเสนอของพระเทวทัต เวลาชาวบ้านจักทำบุญที คงต้องลำบากลำบนแบกข้าวปลาอาหารเข้าไปถวายในป่าโน่น

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ภิกษุเห็นประโยชน์ของการอยู่ในที่โล่งแจ้งว่า สามารถกำจัดความประมาท และความง่วงเหงาได้ ไปมาที่ไหน ก็สะดวกสบายไม่มีอะไรต้องห่วง เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "ฉนฺนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ, อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดที่มุงที่บัง และโคนต้นไม้เสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นวัตร

ข้อนี้ไม่เคยปฏิบัติ ครับ เป็นพระพอนด์นูริชชิ่งโคตรไวทเทนนิ่งครีม ผิว (เหมือนจะ) เป็นโรคด่างขาว เม็ดสีน้อย ไม่อาจต้านทานสายลมแสงแดดนาน ๆ และยุงได้ ครับ

๑๑. โสสานิกังคะ ถืออยูป่าช้าเป็นวัตร หมายถึง ภิกษุเมื่ออาศัยอยู่ในเสนาสนะอื่น อาจเกิดประมาท แต่เมื่ออาศัยในป่าช้า ย่อมได้มรณานุสสติ (ระลึกถึงความตาย) และอสุภนิมิตทั้งหลาย มีซากศพ เป็นต้น เป็นผู้คลายความยึดถือ และไม่มีความสะดุ้งกลัว ต่อสิ่งที่คนอื่นหวาดกลัว เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "อสุสานํ ปฏิกฺขิปามิ, โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดที่ที่มิใช่ป่าช้าเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร

ที่วัดท่าซุง มีการปฏิบัติธรรมถือธุดงควัตรข้อนี้เหมือนกัน ท่านว่า ทุกที่ ทุกตารางมิลลิเมตรบนโลกใบนี้ ไม่มีที่ไหน ไม่มีคนตาย ครับ ดังนั้น ทุก ๆ ที่ ก็คือป่าช้า ความจริงก็พอถูไถไปได้ ครับ แต่เป้าประสงค์หลักของข้อนี้ ก็คือ การทำลายความกลัวในใจของเราเอง ครับ ธรรมดาคนเราก็ต้องคิดจินตนาการไปบ้างละ ครับว่า มีกระไรอยู่ในป่าช้า นอนคนเดียวด้วย

ข้อนี้สมัยบวชเมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยทดลองไปนอนอยู่สองสามคืน ก่อนออกธุดงค์จริง ครับ พบว่า ที่ป่าช้า (ต่างจังหวัด) สงบกว่าในวัดเสียอีก นั่งสมาธิกระไร ๆ ก็ดีไปหมด ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากครูบาอินสม สมัยที่บวชปัจจุบันนี้อีก ครับว่า ในป่าช้านั่น ไม่ค่อยมีผีหรอก ส่วนใหญ่เขาแค่เอากระดูกมาไว้เท่านั้น ผีจริง ๆ จักอยู่ตรงที่เขาตายนั่นแล แล้วก็พวกทางสามแพร่ง สี่แพร่ง

ข้าพเจ้าก็เกือบจะเชื่อ ครับ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นขึ้นในคืนนั้น ท่านเจ้าอาวาสให้ไปนอนในป่าช้า ทดสอบความกล้าหาญ

ช่วงหัวค่ำเหตุการณ์ก็ปกติ ครับ กางกลดแล้วก็สวดมนต์ เตรียมตัวจำวัด

พอตกดึก มีเสียงเหมือนคนเดินรอบกลด ครับ ไม่ใช่คนเดียวเสียด้วย ข้าพเจ้าก็แข็งใจ ทำเป็นไม่ได้ยิน ไม่รู้ไม่ชี้

สักพักกลิ่นสาบก็โชยมาเตะจมูก

หัวใจเต้นระส่ำ แต่ก็ยังไม่กล้าลืมตา ครับ นอนสวดมนต์ไปเรื่อย ๆ ตอนนั้นนึกคาถากระไรได้ ว่าไปให้หมด

สักพักเสียงเดินก็หยุด...

หยุดตรงด้านข้างกลด...

เสียงเหมือนคนล้มตัวลงนอน...

นอกจากเสียง และกลิ่นแล้ว คราวนี้มีสัมผัสด้วย มีอะไรอุ่น ๆ มาสัมผัสข้าพเจ้า รู้สึกเหมือนเป็นเมือก ๆ เละ ๆ

แทบกรี๊ดวิ่งหนีออกนอกกลด ครับ เจอของจริงเข้าแล้วกรู

แข็งใจรวบรวมความกล้า ลืมตาขึ้นดู ครับ ผีก็ผีวะ

ปั๊ด... ไอ้ด่าง สุนัขขี้เรื้อนและพวกพ้อง เจ้าของกลิ่นสาบ ล้มตัวลงนอนอยู่ข้างกลด!!!!

โธ่...วรนุช!!! ไม่น่ามาหลอกกันเลย!!!

จบตอน ๔

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons