Abstract (บทคัดย่อ)
อาตมาไม่ใช่พระวิเศษวิโสอะไร ไม่มีคุณงามความดีอะไร ให้น่าสรรเสริญ บางคนคิดว่า เป็นพระแล้วต้อง มีฌาน มีญาณ มีคุณธรรมวิเศษ จึงจะน่านับถือ น่าตื่นตาตื่นใจ อย่างหนังสือธรรมะหลายเล่ม ที่อาตมาได้อ่าน พระบางรูป บวชเพียงพรรษาเดียว หรือ ๓ เดือน กลับได้อะไรมากมาย ฆราวาสบางคน ปฏิบัติธรรมแค่ ๗ เดือน ก็บรรลุธรรม ส่วนอาตมา ตั้งใจปฏิบัติมาปีเศษแล้ว ก็ยังไม่บรรลุคุณธรรมวิเศษใด ๆ ยังคงเป็นพระปุถุชน คนหนาแน่น ไปด้วยกิเลส หรืออาจเป็นผู้ที่ ยังประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ จึงหาความเจริญในธรรม ไม่ใคร่ได้ ต้องอาศัยการปฏิบัติ ขัดเกลาจิตใจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป บันทึกนี้เป็นบันทึก ของผู้ที่บวชมาอย่างธรรมดา ๆ เป็นคนธรรมดาอย่างที่สุด กรรมฐานก็ ไม่เป็นโล้เป็นพาย อย่างมโนมยิทธินี่ ฆราวาสเขาฝึกกันแป๊บเดียว ครั้งเดียวได้มโนมยิทธิ แบบเต็มกำลัง ส่วนอาตมานั้น แม้ฝึกมาเป็นสิบ ๆ ครั้ง เพียงครึ่งกำลังก็ยังไม่ได้ นั่งสมาธิสัก ๒๐ นาทีก็เหลว เอาแค่ อุปจารสมาธิ ก็ยังบ๊อท่า ปีติ สักตัวเดียวก็ไม่เคยเกิด
(ระดับความสงบของสมาธิ แบ่งเป็น ขณิกสมาธิ ๑=สมาธิขั้นต้น สมาธิประเดี๋ยวประด๋าว สมาธิในการทำงาน เช่น ตั้งใจเลื่อยไม้ให้ตรง เป็นต้น, อุปจารสมาธิ ๑=สมาธิตั้งมั่น ระงับนิวรณ์ ๕ ประการได้ เป็นสมาธิขั้นกลาง ในขั้นนี้จะมีปีติเกิดขึ้น ๕ ตัว มีอาการขนลุก น้ำตาไหล ตัวพองตัวใหญ่ เป็นต้น นิมิตทั้งหลาย จะเกิดในช่วงนี้, อัปปนาสมาธิ ๑=สมาธิขั้นสงบลึกแบ่งเป็น ๘ ลำดับ เรียกว่า สมาบัติ ๘ มี ปฐมฌาน=ฌานที่ ๑, ทุติยฌาน=ฌานที่ ๒ เป็นต้น)
จะมีก็แต่ความเพียร ในการดูลมหายใจ อย่างกัดไม่ปล่อยเท่านั้น (ทราบมาว่ากรรมฐานกองนี้ ใช้เวลาฝึก ๕-๑๐ ปี กว่าจะเป็นโล้เป็นพาย) ที่บันทึกไว้ก็ เผื่อจะเป็นกำลังใจ ให้ผู้ที่เพียรปฏิบัติอยู่ ว่าทำไมปฏิบัติมานานแล้ว ไม่ได้อะไรสักที ไม่เห็นเหมือนในหนังสือที่อ่านมา ให้เขารู้ว่ายังมีพระธรรมดา ๆ อย่างอาตมา ที่เพียรปฏิบัติเช่นเขา แล้วก็ยังไม่ได้อะไรเหมือนกัน จะได้เพียรกันต่อไป อ่านแล้วอย่านึกรังเกียจ ว่ายังเป็น พระกิเลสหนาเลย ก็พยายามอยู่ ลองศึกษาหลาย ๆ แนว ลองปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ลองทุกอย่างที่เขาว่าดี ผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ขอให้เห็น เป็นเรื่องธรรมดาของพระตาดำๆ
การเดินทางปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ ก็ได้ไปพบเอาแก่น ของพระพุทธศาสนา และนิยามอันน่าสนใจของ บุญ และบาป กล่าวไว้ใน คิริมานนทสูตร และปกิณกะธรรมหลายอย่าง ดังจะได้อ่านในรายละเอียด ซึ่งคัดเลือกมาบางส่วน และแสดงความเห็นส่วนตัว ไว้ตอนท้ายของบันทึกนี้ ผู้สนใจ สามารถศึกษา คิริมานนทสูตร นี้เพิ่มเติมได้จาก พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๑๖ ข้อ ๖๐ หน้า ๑๒๘-๑๓๓ มีเนื้อหาน่าสนใจโดยย่อดังนี้
บุญ คือ การละกิเลส ละกิเลสได้มาก เป็นบุญมาก บุญกับความสุข เป็นตัวเดียวกัน การทำทานไม่ใช่บุญ แต่การทำทาน ทำให้เกิดบุญ การทำทานคือการสละ ทำให้ละความโลภ ละความโลภได้มาก เป็นบุญมาก ไม่ใช่ทำทานมาก ได้บุญมาก จำนวนเงินไม่ใช่ตัววัด ตัววัดอยู่ที่ใจ
บาป คือ การพอกกิเลส เพิ่มกิเลสได้มาก เป็นบาปมาก บาปกับความทุกข์ เป็นตัวเดียวกัน แก่นของศาสนาพุทธ ไม่ใช่การทำความดี เข้าวัด ไหว้พระ ทำบุญ รักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญพระกรรมฐาน บรรลุญาณหยั่งรู้ต่าง ๆ ใดใดทั้งสิ้น เหล่านี้ เป็นเพียง ใบ กิ่ง ก้าน เปลือก กระพี้ของพระศาสนา ล้วนเป็นเพียงคลอง ไปสู่พระนิพพาน
แก่นของพระพุทธศาสนาแท้จริงคือ การเข้าถึงพระนิพพาน การวางทั้งกุศลและอกุศล สุขและทุกข์ จนถึงความดับ ซึ่งกิเลสอย่างถาวร และเป็นสุขอย่างยิ่ง เหนือสวรรค์พรหมชั้นใดใดทั้งหมด ผู้ที่จะถึงพระนิพพาน ต้องปฏิบัติอริยมรรค ให้เต็มที่ ประกอบด้วยปัญญา ทำจิตตน ให้เป็นประหนึ่งแผ่นดิน คือไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ กระทั่งความตาย ที่สุดละเสียซึ่งบุญและบาป ในชั้นสุดท้าย จึงจะถึงพระนิพพาน ละกิเลส ๕ ประการ คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ และ ทิฏฐิ ๑ ได้เด็ดขาด ก็ถึงซึ่งพระนิพพาน
การละกิเลสใช้อาวุธสำคัญคือ สติสัมปชัญญะ (การระลึกได้, การรู้ตัว) หากไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็จะไม่รู้ว่า กิเลสเกิดขึ้นตอนไหน จะดับมันอย่างไร โดยทั่วไป ระยะแรก ของการปฏิบัติ ควรยึดศีลไว้ให้มั่น ต่อเมื่อศีลได้เพิ่มกำลัง สติสัมปชัญญะ ให้มากขึ้นแล้ว ก็ควรถือเอาการใช้กรรมฐานคู่ปรับ เข้าห้ำหั่นกิเลส เช่น ราคจริต (อารมณ์พอใจในสิ่งสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย) ใช้ อสุภกรรมฐาน (การพิจารณา ความไม่สวยไม่งาม ของร่างกาย) กับ กายคตานุสสติกรรมฐาน (การพิจารณาร่างกาย เป็นอาการ ๓๒ มี ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นอารมณ์) เข้าห้ำหั่น เป็นต้น ต่อเมื่อกิเลสเบาบางลงแล้ว ก็ใช้ มหาสติปัฏฐาน ๔ (การฝึกสติเอา กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอารมณ์) เข้าช่วย โดยการดูเท่านั้น ตามรู้ไปเรื่อย ๆ จนถึงที่สุด ไม่ต้องใช้ปฏิภาคกรรมฐานเข้าสู้ หรืออาจจะดำเนิน ไปพร้อม ๆ กันเลยก็ได้ ซึ่งแนวการ ปฏิบัติเหล่านี้ จะแตกต่างกันไป ตามจริตบ้าง บารมีเดิมบ้าง ตามสภาพแวดล้อมบ้าง จะยึดเอาหลักใด เป็นหลักตายตัวมิได้เลย ต้องพิจารณา อย่างรอบคอบถ้วนถี่ว่า ปฏิบัติอย่างไรเหมาะกับตัว (อย่างอาตมา ก็ลองมาหลายอย่าง สุดท้ายก็พบว่า อานาปานุสสติ กับ เดินจงกรม เป็นกรรมฐาน ที่เหมาะกับจริตตัวเอง)
การเดินทางไปสิ้นสุดที่วัดถ้ำหินผาแดง นิวาสถานเก่าเมื่อสมัยบวชใหม่ ๆ หลวงตาพวง ผู้เป็นเสมือนพ่ออีกคน ผู้มีพระคุณอย่างยิ่ง ชี้ทางสว่างนฤพาน ให้อาตมาได้พบหลวงพ่อ สังขารเสื่อมโทรมไปมาก แต่ก็ยังเต็มใจ สงเคราะห์พุทธบริษัททั้งหลาย ด้วยการสร้าง ศาลาปฏิบัติธรรม ครอบองค์พระ ขนาดพระเพลา(หน้าตัก) ๘ ศอก ไว้เพื่อจรรโลงพระศาสนา ๑, ให้ญาติโยม ได้ทำบุญวิหารทานไว้เป็นต้นทุน สำหรับสัมปรายภพ ๑, นำปัจจัยสังฆทาน มาทำให้เกิดอานิสงส์ ยิ่งขึ้นต่อผู้ถวาย ๑, เป็นร่มเงาให้พระพุทธรูป ๑, เป็นเขตพุทธาวาส เพื่อป้องกันผืนป่า จากการบุกรุก ๑, เป็นแหล่งน้ำ ให้สัตว์ป่าได้พักพิง ๑, และเป็นสถานที่ พึ่งพิงปฏิบัติธรรม ของพุทธบริษัท ต่อไปในอนาคตกาล ๑ สิ่งปลูกสร้างในวัดนั้น แม้ไฟฟ้าจะยังเข้าไม่ถึง ก็ได้มีการเตรียมการ เดินสายไฟไว้ทั่ววัด สำหรับเมื่อไฟฟ้าเข้าถึง จะสามารถใช้งานได้ทันที