วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระธุดงค์ ตอนที่ ๒by Dhammasarokikku

lo2

มาว่ากันต่อไป ตอนที่แล้วแจงไป ๒ รายการละ ยังไม่มีข้อไหนเกี่ยวข้องกับป่าเลย ไปดูข้อสามกันต่อไป

๓. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร หมายถึง ภิกษุเว้นกิจนิมนต์เพื่อภัตตาหาร เห็นประโยชน์ของการเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพว่า ไม่มีความยุ่งยากในการตระเตรียม ไม่ละโมบในอาหารที่มีรสอร่อย และไม่ยึดติดกับปัจจัยที่ได้มา เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ, ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดอดิเรกลาภเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร

ข้อนี้เห็นวัตรปฏิบัติกันหลากรูปแบบ แต่ที่เห็นเหมือน ๆ กัน คือ เวลาเดินธุดงค์ (หมายถึง เดินทางไป ถือวัตรธุดงค์ไปด้วย) จักไม่รับเงินรับทอง หลวงพ่อพระราชพรหมยานสั่งไว้เลยว่า พระเดินธุดงค์ หากรับเงินรับทอง ถือว่า ธุดงค์หลอกลวงชาวบ้าน สายหลวงพ่อชา ก็ไม่ให้รับเงิน และส่วนใหญ่ แค่สตางค์แดงเดียว รับแล้วเป็นได้เรื่อง คืนนั้นไม่ต้องนอน มดขึ้นกลด กวนกันทั้งคืนทีเดียว

เรื่องบิณฑบาตเป็นวัตรนี่ เวลาเข้าป่าลึก ไม่มีบ้านคน พระธุดงค์เขาก็ไปบิณฑบาตกับต้นไม้กัน ครับ ส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้ขาดบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่ง คือ การบิณฑบาตกับเทวดา มี ๒ แบบ

แบบหนึ่ง เจริญเมตตาอัปปมัญญาสมาบัติ (คือแผ่เมตตาทั่วไปในจักรวาล โดยไม่จำเพาะเจาะจง) ให้อารมณ์คงที่ตลอดสามวัน วันที่สามให้ตั้งใจกำหนดว่า จักเดินบิณฑบาตจากต้นไม้ต้นนี้ ไปต้นโน้น หากผู้ใดประสงค์จักใส่บาตร จงมาใส่ หาไม่แล้วจักอยู่ด้วยธรรมปีติ

หลวงพ่อเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การบิณฑบาตแบบนี้ว่า มีเด็กชาวป่าแต่งตัวมอมแมม โผล่มาจากไหนก็ไม่ทราบ มาใส่บาตร แต่อย่าได้ไปถามเชียวว่า หนูมาจากไหน หรือบ้านหนูอยู่ไหน เป็นได้อดข้าวแบบไม่มีกำหนด

ข้อสังเกตของเทวดาจำแลงพวกนี้ เขาทั้งหลายจักไม่กระพริบตา และข้าวที่ได้ จักมีสีเหลืองน้อย ๆ มีดอกไม้ดอกหนึ่ง และข้าวมีรสหวานหน่อย ๆ ปริมาณสักทัพพีหนึ่ง แต่ฉันแล้วอิ่มไปทั้งวัน

อีกแบบหนึ่ง ให้นำบาตรไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ และเจาะจงแผ่เมตตาให้กับรุกขเทวดา ที่มีวิมานอยู่บนต้นไม้ต้นนั้น พอมีเสียงคล้ายฝาบาตรหล่น ก็ใช้ได้

lo4 ทั้งสองวิธี เห็นมีแต่ท่านที่ปฏิบัติได้ขั้นเทพทั้งนั้นที่ทำได้ คือ อย่างน้อย ๆ ต้องได้สมาบัติ ๘ เป็นอย่างต่ำ (ส่วนใหญ่ต้องเป็นพระที่ได้อภิญญา ถึงจะทำได้) และต้องทำให้ถูกวิธี หลวงพี่เล็กเคยแนะไว้ว่า อย่าได้ไปอาจหาญอธิษฐานว่า หากไม่ได้อาหาร ข้าพเจ้าจักยอมอดตาย อย่างนี้ เทวดาเขาจักลองใจว่า จักถือสัจจวาจาได้จิงป่าว เป็นได้ตายกันจริง ๆ ไม่มีโอกาสได้เห็นข้าวเทวดา

เท่าที่ได้ไปสังเกตพระที่ออกป่าจริง ๆ ไปทดลองวิชากัน เห็นหน้าแห้งกลับมาทุกราย เลยยังไม่เคยเห็นข้าวเทวดาจะจะกับตาตัวเอง ใครอยากทดลอง ขอให้รีบมาบวช แล้วเข้าป่าทดสอบกัน อย่าเพิ่งปรามาสว่าจักมิใช่เรื่องจริง เกิดจริงขึ้นมา จักเป็นโทษมิใช่น้อย

ข้อนี้ก็อีกเช่นกัน อยู่วัดก็ถือได้ ครับ ก็แค่เดินบิณฑบาตเป็นวัตร แล้วก็งดรับกิจนิมนต์

๔. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร คือ บิณฑบาตไปตามลำดับตั้งแต่บ้านหลังแรกไป มิใช่บิณฑบาตหลังหนึ่ง แล้วเว้นไปสามหลัง เพราะรู้ว่า สามหลังที่ว่า ทำอาหารไม่อร่อย ด้วยเห็นประโยชน์ว่า สามารถโปรดสรรพสัตว์ให้สม่ำเสมอกัน มิได้เลือกชนชั้นวรรณะ เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ, สปทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดการเที่ยวบิณฑบาตข้ามลำดับเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการเที่ยวไปตามลำดับบ้านเป็นวัตร

ข้อนี้ชัดเจน คงไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องเดินป่าก็ถือได้อีกแล้ว ครับ

๕. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร หมายถึง ภิกษุเว้นการฉันอาหารในที่สองแห่ง เว้นการฉันบ่อย ๆ ฉันแต่พอดี ๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป มีหลักปฏิบัติ คือ เมื่อฉันเสร็จลุกจากที่แล้ว จักไม่กลับมานั่งฉันอีก เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดการฉันในสถานที่แห่งที่สองเสีย สมาทานองค์ของผู้ฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร

ข้อนี้อาจจักเคยได้ยินที่เขาว่า "ฉันเอกา" หรือ ฉันมื้อเดียว พระธรรมยุตินิกาย หรือพระป่าบางรูป ก็ถือฉันกันเป็นปกติ ไม่ว่าอยู่ป่า หรืออยู่วัด ตอนไปเดินธุดงค์เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตามแบบสายหลวงพ่อชา ฉันเช้าเสร็จแล้วล้างบาตรเลย ไม่มีการเก็บอาหารไว้ฉันมื้อเพลต่อ ส่วนใหญ่พระที่เดินธุดงค์ก็ทำเช่นนั้น เพราะเป็นการตัดกังวล ไม่อย่่างนั้น คงต้องกระเตงข้าวใส่บาตรไปด้วย เป็นภาระ และอาจหกเลอะเทอะระหว่างทางได้อีกด้วย ฉันเสร็จแล้ว ก็เดินไปเรื่อย ๆ จนพระอาทิตย์ใกล้ตก ก็แวะปักกลดตรงที่ที่คิดว่าเหมาะสม เวลาปักกลดนี่ต้องเล็งดูให้ดีนะ ครับ ปักแล้วห้ามถอน เป็นการถือสัจจะอย่างหนึ่ง

ตอนนั้นกลับมาจากธุดงค์ผอมกะหร่องเป็นนายแบบเลย แต่รู้สึกแข็งแรงมาก ใครอยากผอมแบบประหยัด ก็มาทดลองกันได้ ครับ

ข้อนี้ฆราวาสก็นำไปเป็นหลักปฏิบัติได้ ครับ เป็นการลดความอ้วนไปในตัว คือ กินอาหารแต่ละมื้อแล้ว ระหว่างมื้อไม่ไปกินอาหารจุบจิบ ประหยัดค่าขนมเดือนหนึ่งไม่น้อย

ผ่านมา ๕ ข้อแล้ว ยังไม่มีข้อใด เกี่ยวข้องกับการเดินป่าเลย ล้วนแล้วแต่ทำที่วัดได้ทั้งสิ้น ครับ ฉะนั้นบางทีอาจจักมีพระธุดงค์จำวัดอยู่ใกล้ ๆ บ้านท่านก็เป็นได้ และพระที่ท่านเข้าใจว่า เป็นพระธุดงค์ ก็อาจจะไม่ใช่พระธุดงค์อย่างที่เข้าใจ หากท่านเหล่านั้นยังรับเงินรับทองอยู่ หลวงพ่อเรียกพระเหล่านี้ว่า "พระเดินดง" ครับ มิใช่พระธุดงค์

ข้อสังเกต วัตรธุดงค์ทั้งหลาย หากไปเดินป่าเสีย ก็จักรักษาได้ทั้งหมดอย่างง่ายดาย โดยอัตโนมัติ ครับ ฉะนั้น อาจสรุปได้ว่า พระเดินป่า อาจถือธุดงค์เป็นส่วนใหญ่ แต่พระถือธุดงค์ อาจไม่ได้อยู่ในป่า งงแมะ?

จบตอน ๒

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons