มาทำความเข้าใจกับพระธุดงค์กันต่อไป ครับ หลังจากแวะออกนอกเรื่องไปเขียน tribute ให้ราชาเพลงป็อปเสียหนึ่งเอ็นทรี่ ว่าจักเขียนตั้งแต่วันแรกที่ทราบข่าวการเสียชีวิตแล้ว แต่เผอิญเป็นพระ ครับ เรื่องสรรเสริญเยินยอ ขอให้เป็นเรื่องของฆราวาสเขาดีกว่า ถ้ามันโยงเข้าธรรมะไม่ได้ ก็ไม่ค่อยอยากเขียน
มีคำร่ำลือหนาหูมานานแล้ว ครับว่า พระธุดงค์ให้หวยแม่น เป็นความเข้าใจผิดอย่างแรงกล้า ครับ กลไกการใบ้หวย ไม่อยู่ในสารบบของพระธุดงค์ ที่เขาถูกหวย เขาไปถูกกันเอง ครับ พวกบ้าหวย อ่านไว้ให้ดี ๆ การถูกหวย ส่วนใหญ่เกิดจากการทำบุญโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ประเภทเจอปุ๊บทำปั๊บ ไม่มีความลังเล อย่างมีอยู่คราวหนึ่ง เดิน ๆ กระมิดกระเมี้ยนอยู่แถวเสาชิงช้า รี ๆ รอ ๆ จักขึ้นรถเมล์หรือแท็กซี่ดี (วันนั้นแถวนั้นแท็กซี่ก็ไม่ค่อยมี) มีแท็กซี่อยู่คัน เลี้ยวกลับรถมาจากฝั่งโน้น ทั้งที่ไม่ได้เรียก ถามหลวงพี่ไปไหน แล้วก็พาไปส่งถึงที่ ไม่คิดตังค์ บอกผมอยากทำบุญ ถามดูก็ได้ความว่า เขาถูกหวยบ่อย ๆ เช่นนี้เป็นต้น หรืออย่างขับรถกระบะ (ขอเน้นว่า กระบะนะ ถ้าเป็นผู้หญิง รถเก๋งอันตรายเกินไป เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพเยอะ) ไปตามต่างจังหวัด เห็นพระเดินเท้ามาเหงื่อซก ก็แวะไถ่ถาม ท่านจักไปไหนหรือ? ไม่เดือดร้อนเกินไป ก็ชวนท่านโดยสารไปด้วย อย่างนี้ก็ใช้ได้
เคยนั่งฟังประสบการณ์ของพวกที่ได้หวยจากพระธุดงค์ ส่วนใหญ่เขาไปแคะแกะเกาได้กันเอง ครับ พระธุดงค์ไม่ได้เกี่ยวข้องกระไรด้วยเลย เช่น มีคราวหนึ่ง พอออกเดินไปแล้ว ญาติโยมก็ตามมานับจำนวนธูปที่จุดบูชาพระเมื่อคืน หรือสนทนาธรรมประเภทขอหวย เว้ากันซื่อ ๆ หลวงพ่อก็ปฏิเสธไป บอกจักมาเอาอะไรกับพระ พระก็มีแต่ให้ศีล ๕ ศีล ๘ ป๊าบ... งวดนั้นออก ๕๘ เฉยเลย ฉะนั้นเรื่องคนถูกหวยนี่ ส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะบุญของเขาสั่งสมมาเองนั่นแล พระไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรด้วย
ส่วนพระที่เจอหน้าปุ๊บใบ้หวยแหลกลาญ ขอให้พึงตั้งข้อสังเกตไว้ ครับ ข้าพเจ้าไปกราบพระอาจารย์มาหลายที่ พบพระอริยะก็บ่อย ถ้าไปกราบที่ไหนแล้วท่านใบ้หวย ความศรัทธาของข้าพเจ้าจักลดลงไปกว่าครึ่ง
เอ้า... นอกเรื่องอีกละ ไปว่ากันต่อ ครับ
๖. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร หมายถึง ภิกษุเมื่อรับอาหารบิณฑบาต ก้รับพอประมาณ ไม่รับมากเกินขีดจำกัด เวลาฉันก็ฉันในบาตร เห็นโทษของการรับ และการฉันมาก ว่าก่อให้เกิดความอึดอัด ถูกความง่วงครอบงำ เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้แล้ว จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ปตฺตปิณฑิกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดภาชนะที่สองเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการฉัน เฉพาะในบาตรเป็นวัตร
ข้อนี้ ก็ไม่เกี่ยวกระไรกับการเดินป่าอีกเช่นกัน แต่ถ้าได้เดินป่า ก็ต้องฉันในบาตรไปโดยปริยาย เพราะคงไม่มีพระเดินป่าที่ไหนพกจานชามไปด้วย บาตรจึงเป็นสิ่งวิเศษล้ำค่าสำหรับพระ เรียกได้ว่า มีบาตรใบเดียว เที่ยวได้ทั่วไทย ครับ หรือใครอยากโกอินเตอร์ ก็เดินไปบิณฑบาตในประเทศเพื่อนบ้านได้ ถ้าไปแถวชายแดนเขมร ก็ระวังระเบิดหน่อยก็แล้วกัน
สายหลวงพ่อชา และสายพระป่าบางสาย เพิ่มวัตรข้อนี้ให้เข้มข้น ด้วยการเทกับข้าวคาวหวานผสมกันลงในบาตร แล้วค่อยฉัน เพื่อไม่ให้ติดในรส ปฏิบัติแรก ๆ ก็สยึ๋มกึ๋ยดีแท้ ครับ ทำไปนาน ๆ ก็ชิน ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ก็จักเห็นว่า อาหารนี่ขอให้เคี้ยว ๆ กลืน ๆ เพื่อประทังหิวได้ ก็เพียงพอ ครับ รสชาติกลิ่นสีสันนั่นเป็นส่วนเกิน แล้วคนเราก็ไปบ้าเสียเงินเสียทองตั้งมากมาย เพื่อไปนั่งกินในร้านอาหารหรู ๆ บรรยากาศดี ๆ รสชาติสุดบรรเจิด ก็เพื่อสนองกิเลสตัณหาเท่านั้น หาสาระกระไรมิได้
(ซึ่งข้าพเจ้าสมัยเป็นฆราวาสก็ชอบไปทำกระไรไร้สาระประเภทนี้นี่แหละ ไปนั่งดริ๊งค์จิบค็อกเทลเย็น ๆ ที่ซีร็อคโค กับหอยนางรมนิวซีแลนด์อบชีส ราคามหาโหด บนดาดฟ้าตึกสเตททาวเวอร์บ้าง ซีฟู๊ดบุฟเฟ่ต์ตามโรงแรมบ้าง อาหารญี่ปุ่นประเภทเนื้อโกเบกระทะร้อนบ้าง หนักสุด ก็ขับรถไปอยุธยาเพื่อไปกินกุ้งแม่น้ำเผาเป็น ๆ ครับ ค่าน้ำมันแพงกว่าค่ากุ้งอีก ได้ปาณาติบาตเป็นของแถมกลับบ้านอีกต่างหาก เฮ้อ... กิเลสคนเรานี่หนอ สรุปกินแล้วก็ออกมาเป็นขี้เหม็น ๆ เหมือนกันหมดนั่นแล)
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตอันนำมาถวายภายหลังเป็นวัตร หมายถึง เมื่อเริ่มฉันแล้ว ใครจักนำกระไร น่าอร่อยแค่ไหนมาถวายอีก ก็ไม่รับ หรือรับไว้ แล้วส่งให้ภิกษุรูปอื่นฉันแทน เห็นประโยชน์ของการไม่ตกเป็นทาสของตัณหา เมื่อเห็นอานิสงส์ดังนี้ จึงเปล่งวาจาสมาทานว่า "อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ, ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ สมาทิยามิ" เรางดโภชนะอันเหลือเฟือเสีย สมาทานองค์ของผู้ห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลงลงมือฉันเป็นวัตร
เรื่องเกี่ยวกับวัตรที่เคร่งครัดนี่ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เหนื่อยเหมือนกัน ครับ ทำไปเป็นปีเป็นชาติก็ไม่เห็นผลกระไร แต่ถ้าประกอบด้วยปัญญาสักนิด การปฏิบัติจักพัฒนาอย่างรวดเร็ว การปฏิบัติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ ถือเอามาปฏิบัติแต่รูปแบบ มิได้พิจารณาว่า ทำไปเพื่ออะไร ทำไปเพื่อให้ดูขลัง ญาติโยมตื่นเต้นศรัทธา ไม่เคยเห็นพระฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร หลวงพ่อพระราชพรหมยานเคยเล่าถึงการปฏิบัติของท่านว่า ท่านเคยลองมาหมด ฉันเอกา ฉันเจ ฉันในบาตร เป็นปี ๆ ไม่เห็นมันบรรลุตรงไหน กิเลสเต็มใจเท่าเดิม สุดท้ายมาพบว่า เขาปฏิบัติกันที่ใจ ครับ รูปแบบภายนอกเป็นเพียงเปลือก ถ้าเปลือกดีข้างในเน่า ก็ใช้ไม่ได้ ครับ เช่น ทำตัวเคร่งเพื่อให้ญาติโยมมายอมรับนับถือ อย่างนั้นไม่ต้องเคร่ง ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จักดีกว่า ครับ
พระบางรูปเปลือกเน่า แต่ข้างในแจ่ม อย่างนี้น่านับถือ ครับ เช่น หลวงปู่เจี๊ยะ ปฏิปทาท่านดูเผิน ๆ เหมือนพระนักเลง เวิ๊ก ๆ ว๊าก ๆ ประหยัด มัธยัสถ์อย่างมาก จนคนแถวนั้นเข้าใจว่า ท่านขี้เหนียว วันดีคืนดี ท่านก็นำปัจจัยทั้งหมดที่มี สร้างเจดีย์บรรจุฟันของหลวงปู่มั่น เป็นอาจาริยบูชา โดยมิได้บอกบุญใครเลย ใครเคยปรามาสท่านไว้อึ้งกันเป็นแถบ ๆ
เอาละครับ ว่ากันมาเกินครึ่งทางแล้ว ยังไม่มีวัตรปฏิบัติข้อใด เกี่ยวข้องกับการเดินป่าเลย เราคงต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า "พระธุดงค์" กันใหม่เสียแล้ว อ้อ... เตือนไว้สักนิด ครับ เคยมีญาติโยมมาเล่าให้ฟังว่า เจอพระธุดงค์โบกรถ หากว่ากันตามสายหลวงพ่อชาแล้ว ท่านไม่อนุญาตให้เหยียบยานพาหนะเลย ครับ อย่าว่าแต่ขอโดยสาร ขึ้นยานพาหนะไม่ว่าจักเป็นรถ หรือมอเตอร์ไซด์เมื่อไหร่ ถือว่า ขาดจากการธุดงค์ โยมท่านนั้น (เป็นผู้หญิง) เล่าอีกว่า ให้โดยสารแล้วยังไม่พอ ให้พาไปส่งในที่เปลี่ยว ๆ แล้วขอตังค์ติดกระเป๋า ๔๐๐ บาท อีกต่างหาก โหย... ข้าพเจ้าฟังแล้วเสียวแทน นาทีนั้นเขาขอเท่าไหร่ก็ให้เขาไปเถอะ ครับ มีชีวิตรอดกลับมาได้ก็บุญแล้ว ฉะนั้นคิดจักทำบุญก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ครับ มีการใคร่ครวญพินิจพิจารณาว่า อย่างใดเหมาะสม จริยาของพระเป็นอย่างไร เรามีความปลอดภัยแค่ไหน มิใช่เห็นว่า เป็นผ้าเหลืองแล้วก็ไว้ใจท่านง่าย ๆ พระดี ๆ มีเยอะ ครับ แต่ฆราวาสที่เป็นมิจฉาชีพ ปลอมห่มผ้าเหลืองก็มาก ฉะนั้น พึงทำบุญด้วยความไม่ประมาท ครับ
จบตอน ๓