วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ดู ๆ กันไปก่อนby Dhammasarokikku

phoca_thumb_m_IMG_9291           532685_191416077653658_1406276123_n

บทสรุปจากชีวิตที่ผ่านมา สอนให้ "ดู ๆ ไปก่อน" ครับ เรื่องใดก็ตามที่เรายังไม่รู้จริง ครูบาอาจารย์แนะให้ "ดู ๆ ไปก่อน" หรือ "ฟังหูไว้หู" อย่าเพิ่งเชื่อ และอย่าเพิ่งไม่เชื่อ (ต้องเน้นครับ เพราะบางทีคนเอาแต่ไม่เชื่ออย่างไร้เหตุผล แล้วก็มาอ้างกาลามสูตร) อย่าเพิ่งรีบตัดสิน พิสูจน์ด้วยตัวท่านเองก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่า จักเชื่อ หรือไม่

สมัยเป็นฆราวาส ก็รู้สึกไม่ชอบวัตถุมงคลทั้งหลาย ไม่แม้จักเฉียดกรายเข้าไปใกล้ ไม่สนใจเอาเสียเลย รู้แต่เพียงวงนอกว่า เขาเอา "รูปแทนพระพุทธเจ้า" มาซื้อขายกัน

ต่อได้บวชแล้ว เผอิญคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ฉุดข้าพเจ้าขึ้นมาจากมิจฉาทิฏฐิ เป็นของท่านที่มีวัตถุมงคลให้บูชาในวัดเสียด้วย ความที่เชื่อว่า ท่า่นคงต้องมีเหตุผลของท่าน และเหตุผลนั้นคงไม่ไร้สาระแน่ ก็ตามเข้าไปศึกษาครับว่า ท่านสร้างวัตถุมงคลทำไม? ให้พระธรรมอันเป็นแก่นของศาสนามิดีกว่าหรือ? ทำให้คนไปหลงติดในวัตถุทำไม?

ศึกษาเข้าไปก็พบความน่าอัศจรรย์ ความอัจฉริยะ และความเมตตาของครูบาอาจารย์ครับ

ท่านซ่อนความอัจฉริยะไว้ในวัตถุมงคลอย่างแนบเนียน จนผู้ที่ไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ ก็อาจเข้าใจเป็นอื่น

เรามาดูข้อมูลทางสถิติกันก่อน ถ้าผู้อ่านได้ศึกษาคำสอนของพระบรมศาสดามาบ้าง จักพบว่า สุดเลิศในปฐพีไม่มีใดเกิน "สติปัฏฐาน ๔" เป็น"ทางเดียว"ที่จะทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ได้ ล่วงพ้นความโศกและความรำพันคร่ำครวญได้ ดับทุกข์และโทมนัสได้ แต่ในชาวพุทธกว่า ๕๐ ล้านคน มีคนเข้าถึงพระสูตรนี้สักกี่คน คำสอนในนิกายซึ่งถือกันว่าเลิศที่สุดนิกายหนึ่งในประเทศไทย เน้นไปที่พระสูตรนี้เป็นหลักปฏิบัติ ข้อปฏิบัติอื่นใดที่ขัดแย้งให้อย่าไปใส่ใจ หนักเข้าก็ว่าข้อปฏิบัติอื่นไม่ใช่ศาสนาพุทธ หนักสุดก็ว่า ศาสนาพุทธมีแต่ "แก่น" คือพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น (บางท่านปฏิเสธคำสอนของพระอริยสงฆ์ ให้ศึกษาเฉพาะพระพุทธพจน์ หรือพระวจนะจากพระโอษฐ์เท่านั้น ซึ่งความจริงพระไตรรัตน์ประกอบด้วย ๓ ครับมิใช่เพียง ๑ บางท่านสอนให้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ก่อน แล้วย้อนไปศึกษาพระพุทธพจน์ว่า พระองค์ตรัสไว้อย่างไรแน่ ตรงกับที่เราเข้าใจหรือเปล่า อันนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วยครับ)

บางคนว่า ต้นไม้จักเติบใหญ่ได้ ก็ต้องบริบูรณ์ด้วยราก แก่น กระพี้ เปลือก กิ่ง ใบ จักมีแต่เพียงแก่น ต้นไม้ก็โตไม่ได้ พระศาสนาก็เช่นกัน เชื่อหรือไม่ อย่างไร ไปพิจารณาเอาครับ

ประมาณเอาแบบเว่อร์ ๆ เลย ให้มีคนเข้าถึงพระสูตรนี้สักครึ่งหนึ่ง ๒๕ ล้านคนเคยได้อ่าน ใน ๒๕ ล้านคนนั้นมีคนเข้าใจหลักปฏิบัติสักกี่คน ข้าพเจ้าประมาณว่าคงไม่เกิน ๑๐ ล้านคน ใน ๑๐ ล้านคนนั้นเป็นพระภิกษุสามเณรไปเสียกว่า ๓ แสน และในจำนวนทั้งหมดนี้มีผู้ที่เพียรปฏิบัติคงเส้นคงวาจนสำเร็จเป็นพระอริยเจ้าคงไม่เกิน ๑ ล้านคน

แล้วอีก ๔๙ ล้านคนที่เหลือหล่ะ? ปล่อยเขาไปตามยถากรรมหรือ? ๒๕ ล้านคนที่ไม่เคยแม้จักอ่านพระสูตรนี้ เราควรลอยแพเขาไปตามบุญตามกรรมงั้นหรือ?

เรามาลองขยายโลกทัศน์ คิดเลียนแบบครูบาอาจารย์ดูบ้างเป็นไร?

เอาละ ครูบาอาจารย์ฝั่งหนึ่งเห็นว่า นักปฏิบัติไม่ควรไปติดกับอะไรรก ๆ ในพระศาสนาให้มากความ ควรลุยเข้าไปที่สติปัฏฐานโดยตรง อย่างอื่นให้กองไ้ว้หน้าวัด อย่าเอาเข้ามาในวัด ข้าพเจ้าว่า ก็เหมาะกับคนจริตหนึ่ง ซึ่งปัญญาเข้าขั้นแล้ว สามารถเข้าใจสิ่งที่พระศาสดาสอนได้ไม่ยาก แต่คนเหล่านี้มีปริมาณเพียงน้อยนิดในสังคมครับ

522319_410605478964189_895650601_n เรื่องนี้มีมาแต่สมัยพุทธกาลแล้ว อุปติสสปริพาชกไปเรียนอยู่สำนักของสัญชัยปริพาชก ภายหลังได้พบพระพุทธเจ้า บรรลุธรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา มีนามว่า "พระสารีบุตร" พอได้ธรรมจักษุก็คิดถึงครูบาอาจารย์เก่า คือ อ.สัญชัย เลยหวนกลับไปเซ้าซี้คะยั้นคะยอให้อาจารย์เก่าไปฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค สัญชัยปริพาชกเบี่ยงบ่ายอยู่หลายเพลา สุดท้ายถามกลับพระสารีบุตรว่า ในโลกนี้คนโง่ กับคนฉลาด อย่างไหนมีมากกว่ากัน พระสารีบุตรตอบว่า คนโง่มีมากกว่า ตาสัญชัยเลยสรุปว่า คนฉลาดให้ไปหาพระสมณโคดม ส่วนคนโง่ให้มาหาเรา (ลาภสักการะจักได้เกิดแก่เรามาก ๆ 5555+) พระสารีบุตรเลยจุก พูดกระไรไม่ออก กลับสำนักไป

สมัยปัจจุบันปัญญาคนเสื่อมทรามไปกว่าสมัยพุทธกาลตั้งมากมาย ผู้มีปัญญาที่เข้าวัดด้วยหวังปรารถนาทางพ้นทุกข์เลยน้อยยิ่งกว่าน้อย ส่วนใหญ่จักไม่เข้าวัดเลย ธรรมะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจไปด้วย

เช่นนี้แล้ว เราจักปล่อยเลยตามเลยให้เสื่อมไปตามยุคตามสมัยกระนั้นหรือ? ครูบาอาจารย์ฝั่งหนึ่งจึงใช้ลูกล่อลูกชนทุกวิถีเพื่อให้คนมีจิตใฝ่กุศล ละอกุศล อย่างน้อยที่สุด ให้เขาทั้งหลายพ้นอบายภูมิ ๔ ไว้ก่อน อัจฉริยภาพประการหนึ่งก็คือ การเอากิเลสฆ่ากิเลสนั่นเอง

แต่ยุคดึกดำบรรพ์คนเรามีแนวโน้มจักติดกับวัตถุที่เห็นด้วยตาเนื้อ มากกว่าติดกับพระธรรมคำสั่งสอนที่มองไม่เห็นอยู่แล้วครับ สมัยก่อนก็บูชาไฟ บูชาฟ้าฝน แกะสลักหินขึ้นมาเป็นเทพเจ้า แล้วก็กราบไหว้บูชา มีให้ดูเยอะแยะตั้งแต่สมัยอิยิปต์ หรือก่อนนั้น ครูบาอาจารย์ท่านก็เอานิสสัยเดิมของมนุษย์นี่แล มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้เขาบูชาสิ่งที่เป็นประโยชน์ บูชาเทพ บูชาแม่น้ำ บูชาป่าเขา ก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่น้อยกว่าบูชาพระพุทธเจ้ามาก (ที่บูชาพระพุทธเจ้ามีผลมาก ไม่ใช่เพราะพระองค์ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์เหนือธรรมชาติ แต่เป็นเพราะพระองค์เป็นผู้ค้นพบพระสัจจธรรม และนำมาเผยแผ่ให้แก่โลก ช่วยให้สัตวโลกพ้นจากกองทุกข์) ท่านก็เลยคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา

ครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าสมัยก่อนโด่งดังมากในหมู่ทหารตำรวจ เพราะวัตถุมงคลของท่านศักดิ์สิทธิ์เหลือเกิน มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นมากมายเล่าขานกันไม่หวาดไม่ไหว ทั้งหลายเหล่านี้เป็นไปเพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหามีจิตใฝ่กุศลเท่านั้น ซึ่งก็คือ สร้างวัตถุมงคลให้เข้มขลัง มีพุทธานุภาพด้านแคล้วคลาดจากอาวุธภัยอันตรายทั้งปวง เหล่าทหารหาญออกรบ เหล่าตำรวจออกผดุงกฏหมาย สู้กับมิจฉาชีพ จักได้ไม่มีอันตราย และถึงแม้สุดวิสัย หากท่านทั้งหลายมีจิตรำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า (พุทธคุณในวัตถุมงคล)  ระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาคมให้ได้ในวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต (เช่น หลวงพ่อ.... ช่วยลูกด้วย) จิตที่ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ นี้ ถือเป็นจิตที่เป็นกุศลครับ ดังพระพุทธพจน์บทพระบาลีว่า จิตเต อสังกิลิฎเฐ สุคติ ปาฏิกังขา จิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ ดังนี้ขึ้นข้างบนก่อนแน่นอนครับ

พระที่ท่านสร้างท่านไม่ได้ให้เปล่านะ ต้อง "ปลุกพระ" หรืออาราธนาพระเครื่องทุกวันตอนตื่นนอน (ซึ่งคาถาก็คือการกล่าวสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ) ก่อนออกจากบ้าน และก่อนนอน ต้องรักษาศีลอย่างน้อย ๒ ข้อ คือ ข้ออทินนาทานฯ กับข้อสุราฯ (เพราะคงเห็นว่า ศีล ๕ นั้นหนักเกินไปสำหรับลูกศิษย์ลูกหาของท่าน อย่างนี้ก็ถือเป็นกุศโลบายให้คนรักษาศีลใช่ไหม?) ซึ่งก็คือกุศโลบายให้มี "พระ" ติดตัวนั่นเอง

480796_194339934025521_1272939285_n ข้าพเจ้านั้นพอได้ทราบความเป็นมาของคอนเซ็ปท์การสร้างพระเครื่องเช่นนี้ ก็บ้าทำแจกเป็นการใหญ่ ทั้งไปซื้อหาบูชาที่วัด แล้วเอามาแจกแก่บุคคลสาธารณะทั่วไป ทั้งสร้างเองแจก สนุกสนานมาก แจกไประยะหนึ่ง จักด้วยความที่ทานด้านนี้เต็ม หรือศึกษามากขึ้น รู้มากขึ้นก็ไม่ทราบ ความสนุกสนานที่เคยได้แจกวัตถุมงคลเริ่มลดลง มีกรณีศึกษา คือมีเด็กคนหนึ่งได้รับรัดข้อมือจากข้าพเจ้า แล้วจากนั้นทุกวันเขาก็ไปคะยั้นคะยอแม่ของเขาให้พาเขาไปใส่บาตร พอไม่เจอข้าพเจ้า ก็บอกอยากจักใส่บาตรกับพระรูปนี้เท่านั้น แต่ครั้นพอได้ใส่บาตร แล้วไม่ได้รับของแจก ก็ผิดหวัง กุศลคือรัดข้อมือของข้าพเจ้าไปทำให้เด็กมีกำลังใจตื่นเช้าลุกขึ้นมาใส่บาตร อกุศลคือกลายเป็นเด็กเจาะจงใส่บาตรข้าพเจ้ารูปเดียว และกลายเป็นอยากได้ของแจก มากกว่าต้องการใส่บาตร ประมาณการณ์แล้ว อกุศลจักมากกว่ากุศลกระมัง ข้าพเจ้าเลยท้อถอยกำลังใจในการแจกทานด้านนี้

แต่บางทีก็มาหวนนึก ลำพังรัดข้อมือเส้นหนึ่ง ราคาประมาณ ๓ บาท หากเขาได้รับจากฆราวาสด้วยกัน จากครู หรือจากผู้ที่อาวุโสกว่าเขา เขาก็คงรู้สึกไม่เท่าไหร่ เทียบกับได้รับจากพระภิกษุ รัดข้อมือเส้นละ ๓ บาท ก็ดูมีคุณค่ามากขึ้น ไว้ให้เขาได้ระลึกถึงว่า เขาได้รับมันมาจากพระรูปหนึ่ง เป็นสังฆานุสสติ นี่ประโยชน์มันเกิดอย่างนี้ครับ ประโยชน์แห่งผ้าเหลือง เราสมควรใช้ให้เต็มที่ขณะอยู่ในเพศสมณะเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนหรือเปล่า?

การแจกวัตถุมงคลจึงเป็นดาบสองคม ขึ้นกับกำลังใจผู้ได้รับ หลัง ๆ ก็ไม่ได้ทำกระไรหวือหวามากมาย ทำให้พอมีแจกเป็นกำลังใจญาติโยมเท่านั้น ส่วนใหญ่พอใจให้ธรรมะมากกว่า เพราะทานที่เป็นธรรมะนั้นเป็นโทษยากกว่า

การให้ทานด้วยวัตถุมงคลนั้น มีด้านสว่าง ย่อมมีด้านมืด ด้านมืดของวัตถุมงคลก็คือ เขาเอาอำนาจพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ที่ครูบาอาจารย์มีเจตนาสร้างขึ้นเพื่อให้คนระลึกถึงพระรัตนตรัย ไปซื้อไปขาย ทำกันเป็นกิจจลักษณะ มีแผงขายกันเป็นล่ำเป็นสัน มีหนังสือเขียนเชียร์พระรุ่นนั้นรุ่นนี้กันสนุกสนาน มีกระทั่งการเก็งกำไรราคาพระรุ่นนั้นรุ่นนี้ มีการตอกโค้ด (ถ้าสร้างเพื่อเป็นพุทธานุสสติ ทำไมต้องมีการตอกโค้ด) รวมถึงพวกไสยศาสตร์ที่ถูกกล่าวถึงในบทความนั้นด้วย บ้างก็ไปหลงใหลได้ปลื้มวัตถุมงคลกันแบบที่เรียกว่า เป็นสรณะที่พึ่งของชีวิตกันทีเดียว แทนที่จักเอาเวลาไปศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน กลับเอาเวลาไปขลุกค้นคว้าหาวิธีดูตำหนิพระรุ่นนั้นรุ่นนี้ เสียเงินเสียทองหามาสะสมงมงายไปกับอำนาจเหนือธรรมชาติก็มี

นี่ละครับ พระพุทธเจ้าถึงไม่ได้ตรัสถึงวิธีทำรูปแทนพระองค์ไว้ในพระไตรปิฎก เพราะเมื่อมีวัตถุใดใดแล้ว มีแสงตกกระทบ ก็ย่อมเกิดด้านสว่าง และด้านมืดเป็นของคู่กัน ส่วนพระสัทธรรมของพระสรรเพชรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่มีรูปร่างที่เป็นวัตถุจับต้องได้ จึงมีด้านสว่างเพียงถ่ายเดียว

มืดยิ่งกว่านั้น มีพระภิกษุจำนวนไม่น้อย ไปเลียนแบบปฏิปทาของครูบาอาจารย์มาแบบเอาแต่เปลือก ไม่ทราบหรอกว่า ท่านเหล่านั้นสร้างวัตถุมงคลด้วยเหตุผลกลใด รู้แต่สร้างแล้วหาเงินเข้าวัดได้เยอะ ก็เลยสร้างกันไม่รู้กี่แสนรุ่น แต่ละรุ่นก็อวดอ้างสรรพคุณอันแสนอัศจรรย์พันลึกกันอย่างโจ่งครึ่ม ทั้งที่บางทีอาจไม่มีกระไรในกอไผ่อย่างที่กล่าวอ้าง กลายพุทธพาณิชย์ที่ทำเงินกันปีละหลายแสนล้าน

ที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา ก็มิได้จักโจมตี ให้ร้าย หรือสรรเสริญเยินยอผู้หนึ่งผู้ใด แค่อยากแจงให้เห็นโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น อย่ามองโลกแบบแคบ ๆ แค่มุมเดียว มุมมองของแต่ละท่านที่สร้างวัตถุมงคลทั้งหลาย ที่ดีก็มี ที่ผิดเพี้ยนไปบ้างก็มี ที่ผิดเพี้ยนไปไกลก็มี ที่ผิดตั้งแต่คนสร้างก็มี ที่มาผิดที่คนครอบครองสุดท้ายก็มี นานาจิตตังเหลือหลาย พิจารณาดูให้ถ้วนถี่ก่อนครับ แล้วค่อยตัดสินใจว่า ควรเชื่อ หรือไม่ควร ใช่พุทธ หรือไม่ใช่พุทธ ผิด หรือถูกอย่างไร

"ดู ๆ กันไปก่อน" ครับ

เจริญธรรม ฯ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons