วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อะไรเอ่ย...คืองานศพ ตอนที่ ๒Dhammasarokikku

380255_288910494536567_640202064_n

เอ็นทรี่นี้ สืบเนื่องมาจากงานที่ตั้งใจจะเขียน หนังสือแจกงานศพ ค้างไว้หลายเดือนแล้ว ได้ยินมาว่า การไม่มีงานคั่งค้าง เป็นอุดมมงคล จึงนำมาปัดฝุ่น เรียบเรียงเสียให้เสร็จ เพือให้เป็นมงคลชีวิต แก่ตัวผู้เขียนเอง

ปริศนาธรรมในงานศพ ให้ข้อคิดสะกิดใจ โดย พระมหาพรชัย กุสฺลจิตโต

เคาะโลง

แว่วก๊อก ๆ พ่อจ๊ะแม่ กินข้าวนะ

รับศีลนะ ฟังพระจะ สวดคาถา

เคาะทำไม หรือเพียงทำ ตามกันมา

หรือเพราะว่า เคาะประชด คนเป็นฟัง

เตือนให้รู้ ว่าตาย แล้วสายไป

ญาติใคร ๆ อยู่บ้าน รีบขวนขวาย

อยากแทนคุณ รีบทำก่อน ชีพวางวาย

ครั้นพอตาย กินไม่ได้ เสียดายแทน ฯ

ในสมัยพุทธกาลที่เขาบรรลุธรรมกันได้รวดเร็วว่องไวปานสายฟ้าแลบ มันก็มีเหตุ ท่านว่า ที่คนสมัยใหม่ ไม่ค่อยบรรลุธรรมกัน เพราะปัญญาทรามลง ก็ใช่แค่นั้น สิ่งแวดล้อมมันก็ชวนให้ปัญญาทรามลงด้วย อย่างสมัยก่อน ถ้าเทศน์ว่า อุจจาระเป็นสิ่งโสโครก เป็นสิ่งปฏิกูล น่ารังเกียจยิ่งนัก คนจะเข้าใจซาบซึ้งในทันทีว่า อุจจาระนั้นเหม็นอย่างไร น่าขยะแขยงอย่างไร เพราะเห็นกันอยู่ทุกวัน และใช่เห็นเฉพาะของเรา ของคนอื่น เราก็ได้มีส่วนรู้เห็นว่า ใครท้องเสีย ใครท้องผูก นั่นสีเหลืองน้อย ๆ ของพ่อเราแน่ นั่นเป็นลำเรียวยาวมีเลือดติดน้อย ๆ เป็นของน้องชายที่กำลังเป็นริดสีดวงแน่ ๆ ปะติดปะต่อเป็นเกมทศกัณฑ์ได้ เห็นนิดเดียวก็รู้ว่าเป็นของใคร ทั้งนี้เพราะส้วมสมัยก่อน เขามีหลุม กับไม้ขัดแตะ ๒ แผ่น ปัจจุบันนี้ไม่มีโอกาสได้เห็น ได้กลิ่น ของผู้ที่ถ่ายทิ้งไว้ก่อนเรา หรือเล่นเกมทศกัณฑ์เวลานั่งส้วม เพราะส้วมสมัยใหม่ เขามีน้ำหล่อ มีชักโครก กันกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ กันรูปร่างน่าสะอิดสะเอียน กันบริษัทเวิร์คพ้อยต์ไม่มีงานทำ(เพราะคนหันมาทายรูปร่างอุจจาระกันหมด) เราจึงได้กลิ่นกันเพียงแวบเดียว เห็นรูปร่างว่าสวยหรือไม่สวย สีเหลืองอร่ามดี หรือดำปึด เป็นก้อนขนาดพอเหมาะ หรือเป็นเม็ด ๆ เหมือนขี้แพะ เบาลอยน้ำ หรือหนักแน่น จมไปกองกับคอห่าน แค่แป๊บเดียวก่อนกดชักโครกเท่านั้น เท่านั้นยังไม่พอ เดี๋ยวนี้เขายังเอาน้ำหอมไปใส่ไว้ในส้วมด้วย เอาพรมไปปู เผลอ ๆ ก็มีทีวีดูด้วย จนแทบจะนอนเล่นในส้วมได้ นี่ละ คือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุธรรม รู้หน่ะรู้ว่า มันสกปรก ไม่น่าดู แต่มันไม่ซาบซึ้ง จะให้ซาบซึ้ง ต้องให้ไปจับ เอาขึ้นมาดูใกล้ ๆ นี่คือตัวอย่างของปัญญาที่ทรามลง ปัญญาที่เห็นความจริงของมนุษย์ ของร่างกาย ของโลก มันทรามลง เพราะถูกปิดกั้นการรับรู้ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือถ้าเทศน์ถึงพระพุทธพจน์ ชิคัจฉา ปรมาโรคา ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า ความหิว เป็นโรคอย่างยิ่ง พวกเราพอจะนึกภาพกันออกไหม ทุกวันนี้ แทบทุกซอย ก็มีชายสี่ ห้า หก เจ็ด สิบเอ็ด หมี่เกี้ยว มีร้านสะดวกซื้อแทบทุกหัวระแหง บางทีซอยเดียวกัน มีตั้งสองร้าน สามร้าน เปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง หิวเมื่อไหร่ จะดึกดื่น ค่อนคืน ตีหนึ่ง ตีสอง ก็มีของกินตลอดเวลา กับคนสมัยก่อน ที่บางทีข้าวยากหมากแพง ก็ต้องอดมื้อกินมื้อ บางทีเกิดโรคระบาด ก็ต้องอยู่อย่าง อด ๆ อยาก ๆ หรือบางทีตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วนอนไม่หลับ ก็ต้องทนแสบไส้ไปจนเช้า กว่าจะมีอะไรกิน ได้ยินปั๊บ เขาเข้าใจ ซาบซึ้งทันที นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ความสะดวกสบาย เพราะกระแสบริโภคนิยมจัดสรรให้ ทุกข์สัจ จึงเป็นของที่มองออกยากขึ้น ทุกที ๆ

398860_355466441179689_975879734_n ทำนองเดียวกัน งานศพก็เช่นกัน สมัยก่อนใช้เชิงตะกอน เผากันกลางแจ้ง เห็นกันจะจะ นั่นเส้นเอ็นกำลังจะสุก นั่นน้ำเหลืองกำลังไหลย้อย นั่นกลิ่นไม่โสภากำลังโชยมา นั่นทุกอย่างกำลังจะมอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน เห็นกันตั้งแต่ต้นไปยันจบ ปัจจุบันเอาศพใส่โลง เข้าไปเผาในเตาอย่างดี ปิดมิดชิดไม่เห็นอะไรเลย เห็นอีกทีเป็นเถ้าไปแล้ว ถ้าลองไปถามเด็กสมัยนี้ ว่าคนตายหน้าตาเป็นอย่างไร บางทีอาจนึกภาพไม่ออก ต้องอาศัยดูจากหนังสือพิมพ์ หรืออุบัติเหตุตามท้องถนน นี่ก็เป็นตัวอย่างของการปิดกั้นความรู้จากบรมครูของเรา

บรมครูของเราคือใคร ก็ร่างกายของเรานั่นแล ธรรมะของพระพุทธองค์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็รวมลงอยู่ที่จุดเดียวคือ กายนี้ แล้วทำไมเราถึงเพิกเฉย ต่อบรมครูของเรา

ย้อนกลับไปดูบุพกรรมของพระยสะ หนึ่งในอนุพุทธ ๘๐ องค์ ครั้งหนึ่งเกิดเป็นมนุษย์ ประกอบอาชีพรับเผาศพไม่มีญาติเป็นสาธารณะประโยชน์ อยู่มาวันหนึ่งมีศพหญิงตั้งครรภ์ลอยขึ้นอืดมาในแม่น้ำ จึงนำมาประกอบพิธี แล้วเผา ปรากฏว่า เผาเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ เห็นว่าคงจะมีบางอย่างอยู่ในท้องของหญิงนั้น จึงเอาไม้แหลมมาแทง น้ำที่ท่วมขังเหม็นเน่าเหลือประมาณ ก็พุ่งทะลักออกมาจากท้องหญิงคนนั้น สร้างความสะอิดสะเอียนให้เป็นอันมาก ครั้งนั้นพระยสะจะชื่นชมความเหม็นเน่าอยู่คนเดียวก็เปล่า ยังไปชวนญาติสนิทมิตรสหายอีก ๕๔ คน มาร่วมวงดูความไม่งามอันนี้ด้วย เกิดเป็นนิมิตติดตา (ก็คือภาพติดตาดี ๆ นี่เองนั่นแล) ถึงความไม่สวยไม่งามอันนี้ ชื่ออย่างเป็นทางการเรียกว่า “อสุภกรรมฐาน” (การพิจารณาความไม่สวยไม่งามของร่างกาย เป็นอารมณ์) ครั้นพอมาในชาติสุดท้าย เกิดเป็นลูกเศรษฐี ได้รับการปรนเปรอด้วยกามคุณ ๕ แทบไม่ต่างจากเจ้าชายสิทธัตถะ มีปราสาท ๓ ฤดู มีหญิงงามขับกล่อม แห่ประโคม แทบตลอด ๒๔ ชั่วโมง คืนหนึ่งตื่นขึ้นมากลางดึกเห็นนางบำเรอนอนหมดสภาพ ระเกะระกะ ขาพาดคอ คอพาดขา น้ำลายยืด กัดฟัน กรน ผ้าผ่อนหลุดลุ่ย พลัน “อสุภกรรมฐาน” ในอดีตชาติก็มาสนอง เห็นสาวงามทั้งหลาย ไม่ต่างอะไรจากกองศพพะเนินเทินทึกในป่าช้า บังเกิดความสังเวช เบื่อหน่ายเป็นล้นพ้น จึงหนีออกมาจากปราสาท ภายหลังได้พบพระพุทธเจ้า ฟังธรรม และได้บรรลุอรหัตตผล

เห็นไหมละว่า งานศพสมัยก่อนดีอย่างไร ตามตัวอย่างนี้ แสดงว่า คนสมัยก่อน เขาเอาความตายเป็นบทเรียน เอาเชิงตะกอนเป็นห้องเรียน เอาศพเป็นกรรมฐาน เอาความตั้งใจฟังเสียงสวดมนต์เป็นสมาธิ เอาการพิจารณาเห็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของโลก เป็นวิปัสสนา เพราะสุดท้ายสัตว์โลกก็ตายหมด ไม่เหลือหลอ สัตว์โลกเกิดเท่าไหร่ ตายเท่านั้น จริงเสียยิ่งกว่าจริง นี่ละ ความสำคัญของงานศพ ใช่ว่าจัดกันให้ยิ่งใหญ่ เพราะเห็นแก่หน้าตาของเจ้าภาพ ใช่ว่าจ้างพระมาสวด แล้วตัวเองนั่งหลับ ใช่ว่าใจเจ้าภาพ คิดหมกมุ่นอยู่แต่ว่า จะจัดงานให้ดี ให้เรียบร้อย ที่จอดรถพอไหม ญาติผู้ใหญ่คนนั้น คนนี้ มาหรือยัง ข้าวต้มพอกินหรือเปล่า แทบมิได้ฟังพระสวดเลย แทบไม่ได้รับศีลเลย

พระผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เคยตั้งคำถามให้คิดว่า ขั้นตอนใดในงานพิธีมงคล และอวมงคล ได้บุญมากที่สุด คนส่วนใหญ่จะคิดว่า เป็นตอนถวายสังฆทาน ตอนทอดผ้าบังสุกุล หรือตอนอื่น ๆ คำตอบที่ท่านให้ คนทั้งหลายมักจะคิดไม่ถึง ท่านเฉลยว่า ขั้นตอนที่ได้บุญมากที่สุด คือ ตอนรับศีล เออแน่ะ...ดูไม่น่าเชื่อเลย ครั้นจะไปถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น พระรูปนั้นก็ไม่อยู่ให้ถามเสียแล้ว เลยต้องมาใช้หมอง นั่งมาธิ คิดพิจารณาเอง ปิ๊ง! อิคคิวซังเฉลยว่า บุญกิริยาวัตถุนั้นมี ๓ ได้แก่ ทานมัย ๑, สีลมัย ๑ และภาวนามัย ๑ ก็ตอนถวายสังฆทานนั่น ต่อให้เป็นทานอันยิ่งแค่ไหน ก็ยังจัดอยู่ในทานมัย ซึ่งมีอานิสงส์ต่ำกว่า สีลมัย และภาวนามัยมาก ส่วนการตั้งใจรับศีล นั่นคาบเกี่ยวระหว่างสีลมัย กับภาวนามัย คือถ้าหลังรับศีลไปแล้ว ไปรักษาศีล (เขียนภาษาทั่วไปนะ จริงแล้วถ้าให้ถูกต้อง ต้องรักษาใจต่างหาก เพราะศีล แปลว่า ปกติ) ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ก็เข้าข่ายสีลมัย ถ้าขณะรับศีล ตั้งใจรับ จิตเป็นสมาธิ ก็เข้าข่ายภาวนามัย (จิตเป็นสมาธินี่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้จิตห่างไกลจากนิวรณ์ เพียงชั่วงูแลบลิ้น หรือช้างกระพือหู ก็ได้บุญมหาศาลยิ่งกว่าสร้างวัดเสียร้อยวัด) ถ้าขณะตั้งใจรับศีล ตั้งใจมั่นว่า เราจะรักษาศีล ก็ได้อธิษฐานบารมีแถมไปอีกตัว ถ้าเราตั้งใจว่า ตลอดงานศพนี่ ข้าพเจ้าจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ ก็ได้สัจจบารมีฟรี ๆ มาอีกตัว (สังเกตดูนะ สัจจบารมีใช่ว่า ต้องสมาทานถือศีลกันตลอดชีวิต เมื่อแรกให้ตั้งใจทำเท่าที่เราทำได้ง่าย ๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มไปเป็นลำดับ อย่าไปโหมหัก เดี๋ยวมันจะหักกลางลำไปเสียก่อน เช่น เคยเป็นคนกินเหล้าทุกวัน อาจจะตั้งใจงดเหล้า ๑ ชั่วโมง ตลอดงานศพนี้ก่อน ถ้างดได้เกินนั้น ก็ถือเป็นกำไร อย่านึกว่าเป็นเรื่องตลกนะ ทางอันยาวไกล ต้องเริ่มจากก้าวแรก ครั้นพอรักษาได้ ๑ ชั่วโมงแล้ว ก็ค่อย ๆ เพิ่มเป็น ๒..๓..๔..๕.. ชั่วโมง เป็นวัน เป็นสัปดาห์ ว่าไปเรื่อย ขอเพียงเรารักษาสัจจวาจาไว้ได้เรื่อย ๆ กำลังใจก็จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ บางคนเคยมาปรารภว่า แพ้ใจตัวเอง ทำไม่ได้เสียที ส่วนใหญ่มักจะไม่ประมาณกำลังตน คิดว่า แค่นี้เอง เราต้องทำได้ คนอื่นเขายังทำได้เลย แต่เวลาจริง กลับทำไม่ได้ ก็เสียสัจจะ เท่านั้นเอง) ถ้าเวลาตั้งใจรับศีล ตั้งใจว่า ข้าพเจ้าจะถือสัจจะ รักษาศีลเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา นั่น ได้ปฏิบัติบูชา ไปอีกตัว (ปฏิบัติบูชานี้ พระพุทธเจ้าสรรเสริญไว้เมื่อตอนใกล้ปรินิพพานว่า เลิศกว่าอามิสทาน-ทานที่ทำด้วยวัตถุ ใด ๆ ทั้งปวง) เห็นหรือยังว่า เหตุใดท่านจึงว่า ตอนรับศีลได้บุญมากที่สุด

ปริศนาธรรมในงานศพ ให้ข้อคิดสะกิดใจ โดย พระมหาพรชัย กุสฺลจิตโต

อาหารหน้าโลง

ทั้งชีวิต บางคน ทนกินข้าว

กับน้ำเปล่า กับน้ำตา ทุกข์สุดแสน

พอตายลง กลับได้ข้าว ราคาแพง

วางเติมแต่ง หน้าโลง สุดพรรณา

คิดให้ดี ได้อะไร จากภาพนี้

ในวันที่ เขาตาย กินได้ไหม

เมื่อเขาอยู่ ของดี และน้ำใจ

เร่งทำให้ ก่อนลาจาก นิรันดร์กาล ฯ

จบตอน ๒

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons