ถ้าได้อ่านวิธีสร้างบุญบารมี ในสมเด็จพระญาณสังวรฯ จะทราบว่า อามิสทาน(ทานที่ให้ด้วยวัตถุ)ที่มีอานิสงส์มากสุด ๆ ได้แก่ สังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน ตามลำดับ ที่เป็นเช่นนั้น เพราะสังฆทาน คือทานที่ให้แด่สงฆ์ สงฆ์ในที่นี้ใช่พระรูปใดรูปหนึ่ง แต่คือคณะสงฆ์ หรือได้แก่สงฆ์ทั้งสังฆมณฑลนั่นเอง ไม่ใช่ได้แก่วัดใดวัดหนึ่ง แต่ภิกษุทั่วประเทศทั่วโลกก็มีสิทธิ์ใช้สังฆทานอันนั้น สงฆ์ร่วมกันเป็นเจ้าของ ตามพระวินัยแล้ว คำว่าสงฆ์ หมายถึง ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป หรือจตุวรรค โดยอีกนัยนั่นคือ เป็นการให้ทาน "เป็นสาธารณะ" แด่สงฆ์
วิหารทานก็เช่นกัน วัดวาอารามทั้งหลายที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน หาใช่เป็นของเจ้าอาวาส หาใช่เป็นของเจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค หาใช่เป็นของสมเด็จพระสังฆราช หาใช่เป็นของทายกทายิกาผู้มีศรัทธานำปัจจัยมาถวายสร้างวัด หากแต่เป็นของสงฆ์ทั้งหลาย ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา จนถึง สมมติสงฆ์ ทั่วสังฆมณฑล ร่วมกันเป็นเจ้าของ หรืออีกนัยหนึ่ง วัดวาอารามสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุทั้งหลายนั้น "เป็นของสาธารณะ"
นี่เป็นเหตุที่ว่า ทำไมการลักของสงฆ์จึงมีโทษมาก ทำไมเพียงเศษดินเศษทรายที่ติดรองเท้าเรา ตอนเดินออกไปจากวัด จึงมีโทษเช่นเดียวกับการลักของสงฆ์ แม้ไม่มีเจตนา การใช้น้ำไฟของวัด ก็เข้าข่ายเดียวกัน หรือการไปเก็บผลไม้ในวัดกิน แม้เด็กวัด หรือพระรูปใดรูปหนึ่งอนุญาต ก็ยังอยู่ในข่ายอาการแห่งการขโมย เพราะพระรูปใดรูปหนึ่งไม่มีสิทธิ์อนุญาตให้ ฆราวาสเอาของสงฆ์ไปใช้ ต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๔ รูป หรือจตุวรรค มีมติอนุญาต กระทั่งที่ดินนั้น ฆราวาสผู้นั้นเป็นคนถวายวัดเอง หรือต้นไม้ต้นนั้นเป็นคนปลูกเอง แต่เอามาปลูกในเขตวัด ก็กลายเป็นของสงฆ์ไปโดยปริยาย ฆราวาสไม่มีสิทธิ์ถือกรรมสิทธิ์สิทธิพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น หรือแม้เศษกระเบื้องหลังคาเก่า ๆ อิฐผุ ๆ ก็สงเคราะห์ลงตามเหตุ และผลเดียวกัน อันนี้ไม่ได้ขู่นะ พระเณรไม่รู้จะหวงหลังคาเก่า ๆ อิฐผุ ๆ ไว้ทำไม นี่เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ ที่ท่านรู้จริงสังขารไม่เปื่อยไม่เน่า เตือนไว้ และแนะให้ชำระหนี้สงฆ์ไว้เสมอ เมื่อมีโอกาส
ก็แล้วมันไปเกี่ยวอะไรกับน๊อตเสาไฟฟ้าเล่า...อ่านต่ออีกหน่อยแล้วจะเข้าใจ
ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านเน้นให้ทำสาธารณะประโยชน์ สาธารณะกุศล เพราะมีอานิสงส์มาก การสร้างถนน การให้แสงสว่างตามทางเปลี่ยว การสร้างสะพาน การสร้างโรงเรียน การสร้างโรงพยาบาล ฯลฯ เหล่านี้มีคุณมาก เพราะอะไร เพราะนอกจากคนทั่วไปจะได้ใช้แล้ว พระภิกษุสามเณรก็ได้ใช้เช่นกัน!!! นี่ไง...มันถึงมีอานิสงส์ไม่ต่างอะไรจากสังฆทาน วิหารทาน
พอจะเดาออกหรือยังว่า ผู้ที่ขโมยของสาธารณะไป จะมีอานิสงส์เช่นไร
ถูกต้องแล้วคร้าบ..... ก็เหมือนลักของสงฆ์นั่นเอง เพราะพระภิกษุก็ต้องใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน ต้องใช้ท่อระบายน้ำเหมือนกัน ทำไมข้าพเจ้าถึงรู้สึกสยดสยอง ก็เพราะเห็นว่า เมื่อเขาละอัตภาพนี้ไปแล้ว เขาจะต้องไปทนทุกข์อย่างแสนสาหัส ในอเวจีมหานรก ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ แลกกันน็อตไม่กี่กิโล ราคาไม่กี่สตางค์ โดยที่ไม่มีแม้โอกาสจะได้รู้ว่า ทำไมเขาถึงตกนรก สงสารที่เขา ไม่มีโอกาส แม้เพียงจะได้รู้ว่า ความสุข คืออะไร เขาไปขโมยของ เอาของไปแลกเป็นเงิน เอาเงินไปใช้ซื้อสิ่งของที่จำเป็นในชีวิต แล้วก็เข้าใจว่านั่นเป็นความสุข ฉะนั้นเขาก็ทำอีก ๆ ไม่สิ้นสุด นี่ไงที่เขาว่า กรรมชั่วดึงลงต่ำ กรรมดีดึงขึ้นสูง ทำชั่วแล้วก็จะพอใจในความชั่ว ทำดีแล้วก็จะพอใจทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ฉะนั้นแล้ว เมื่อพบข่าวเช่นนี้ ข้าพเจ้าจะแผ่เมตตา ขอท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงได้เป็นสัมมาทิฏฐิโดยไว ก่อนจะสายเกินไป และขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย มาช่วยกันแผ่เมตตาให้แก่พวกเขาเหล่านั้นด้วย พวกเขาน่าสงสารเหลือเกิน อย่าไปโกรธแค้นชิงชังเขาเลย แค่นี้เขาก็ทุกข์มากพออยู่แล้ว กระแสแห่งโทสะ เมื่อรวม ๆ กันหลายผู้หลายคน มันก็มีพลัง อาจทำให้เขาเหล่านั้นถลำลึกลงไปในความเลวมากขึ้น กระแสแห่งการให้อภัย กระแสแห่งความเมตตาสงสาร กระแสแห่งความรักความอบอุ่น อาจจะช่วยให้เขากลับตัวกลับใจ เป็นคนดีของสังคม อะไรจะประเสริฐไปกว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
อีกประการหนึ่ง การทำสาธารณะประโยชน์ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องยาก เรื่องใหญ่ แค่เก็บขยะในแม่น้ำลำคลอง ทะเล หรือตามท้องถนนสักชิ้น ก็เป็นงานสาธารณะประโยชน์แล้ว ข้าพเจ้าเคยเดินธุดงค์ไปตามท้องถนนในต่างจังหวัด เห็นขยะตามข้างทางเป็นระยะ ๆ แล้วก็คิดว่า ถ้าคนใช้ถนนสักล้านคน จะมีสักกี่คนที่ทิ้งขยะลงข้างถนนอย่างไม่ใส่ใจ จะมีสักกี่คนที่ไม่ทิ้งขยะลงทางสาธารณะ เพราะได้รับการศึกษาดีแล้ว และจะมีสักกี่คนที่ลงจากรถ ไปเก็บขยะสักชิ้นสองชิ้น ไปทิ้งขยะ ในบริเวณที่ไม่มีพนักงานเก็บกวาดขยะ จะถึงหนึ่งคนหรือเปล่าหนอ
สุดท้ายเลย ฝากถึงคนที่บอกว่า ไม่มีเวลาไปทำบุญ ไม่มีตังค์ทำบุญ ฝากบอกเขาด้วยว่า บุญนั่นทำได้ทุกวันเลย ไม่ต้องเสียตังค์ด้วย บุญอยู่ที่ลมหายใจเรานั่นแล แค่หายใจเข้า รู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออก รู้อยู่ว่าหายใจออก วันละสักสิบคู่ (หายใจเข้า ๑, หายใจออก ๑ นับเป็น ๑ คู่) แค่นี้ก็บุญมหาศาลยิ่งกว่าสร้างวัดสร้างเจดีย์ เพราะนี่คือบุญอันเกิดจากการภาวนา บุญกิริยาวัตถุมี ๓ ได้แก่ ทานมัย สีลมัย ภาวนามัย ภาวนามัยนี่อานิสงส์สูงที่สุดเลย อย่าไปเข้าใจว่า บุญมากคือ ต้องเป็นสิ่งที่ทำยาก บางทีของง่าย ๆ หมู ๆ อย่างการรู้ลมหายใจ ถ้าเพียรทำด้วยความตั้งใจ ก็ได้บุญมหาศาลไม่แพ้บุญที่ทำโดยยากเลย
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ