เรื่องบารมี ๑๐ ทัศ (หรือ ๓๐ ทัศ ถ้าแยกเป็นบารมีต้น อุปบารมี และปรมัตถบารมี) ได้ยินมานานแล้ว กระทั่งเข้ามาบวชก็ได้รับคำสอนสั่งตั้งแต่พรรษาแรก จักไปนิพพานได้ บารมีต้องครบทั้ง ๑๐ นะขาดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้เลย รักษากำลังใจไว้ให้เต็มที่เสมอ
บารมีหน่ะบาลีแปลว่า "เต็ม" นะ แล้วอะไรเต็ม? เต็มที่ไหน?
พระท่านสอนว่า บารมีก็คือ "กำลังใจ" บารมีเต็มก็คือกำลังใจเต็ม เต็มที่ไหน? ก็เต็มที่ใจ
ทานบารมี ก็คือ กำลังใจในการให้ทาน พร้อมเสมอในการให้ทาน อย่างนี้เรียก กำลังใจดี บารมีดี
สีลบารมี ก็คือ กำลังใจในการรักษาศีล ถ้าว่า ตัวตายดีกว่าศีลขาด อย่างนี้ก็เรียกกำลังใจในการรักษาศีลเต็ม
เนกขัมมบารมี ก็คือ กำลังใจในการถือบวช เห็นว่าการถือบวชเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดในชีวิตแล้ว อย่างนี้ก็ใช้ได้
ปัญญาบารมี เห็นว่าไม่มีสิ่งใดจักพาสัตวโลกให้พ้นทุกข์ได้นอกจากปัญญา นี่ก็แจ่ม
วิริยะบารมี คือกำลังใจในการทำความเพียร ขันติ คือความอดทน สัจจะคือความจริงใจ จริงจัง เด็ดขาด อธิษฐานคือความตั้งใจมั่น เมตตา คือความรัก และสุดท้ายอุเบกขาคือความวางเฉย ทุกบารมีขั้นปรมัตถ์คือเอาชีวิตเป็นเดิมพัน หากเอาชีวิตเข้าแลกได้ ก็เข้าขั้นปรมัตถ์
ครูบา อาจารย์สอนไว้ว่า แม้ทานบารมีตัวเดียวเต็ม ตัวอื่นก็เต็มด้วย ข้าพเจ้าก็เฝ้าพากเพียรทำทานเรื่อยมา ตั้งแต่ทานที่ทำได้ง่าย ๆ ไปจนถึงทานที่ทำได้ยาก ๆ จากทานที่เป็นของเหลือกินเหลือใช้ที่เขาเรียกว่า "ทาสทาน" ทานที่ด้อยกว่าที่เรากินเราใช้ ขยับขึ้นมาเป็น "สหายทาน" ทานที่เสมอที่เรากินเราใช้ จนถึง "สามีทาน" ทาน ที่ดีกว่าที่เรากินเราใช้ สมัยก่อนก็แค่อาสาเป็นบุรุษไปรษณีย์นำของบริจาคที่ชาวเมืองเหลือใช้แล้วไป แจกให้คนที่ต้องการ หลัง ๆ นี่ซื้อของใหม่ที่เขาจำเป็นต้องใช้ แจกแหลกชนิดเอาชีวิตเข้าแลก ยอมเหนื่อยยาก ยอมลำบาก ให้เขาได้มีกิน มีใช้ ได้มีความสุข
นาน ๆ ไปส่งการบ้านกับพระอาจารย์สมปองทีใน ทานขั้นปรมัตถ์ ท่านว่า ยังหรอก ยังไม่เต็ม ยังอีกนาน ท่านเองทำซ้ำ ๆ อย่างนี้เป็นสิบปี ทำไปเรื่อย ๆ เหอะ บารมีทุกตัวอยากทราบว่า เต็มหรือยัง? ให้ดูที่ตัวสุดท้ายคือ อุเบกขาบารมี ถ้าทำแล้วเฉย ๆ เป็นใช้ได้
อย่างทำทานนี่ ถ้าทำด้วยความรู้สึกว่า "กูจะทำซะอย่าง" ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมใดใด อย่างนี้ถือว่า "ใช้ได้"
ความรู้สึกนี่มันโกงกันไม่ได้ หลอกกันไม่ได้นะ แม้เรารู้ทางทฤษฎีแล้วว่า จักต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอเอาเข้าจริง เจอของจริง ก็ยังทำตามที่ทฤษฎีเขาว่าไว้ไม่ได้หรอก
คราวนี้ก็เช่นกัน
เสียง พลุสนั่นหวั่นไหวเงียบลงแล้ว จึงได้มีเวลาคุยกับหลวงพี่วสันต์ คุยกันเรื่องสัพเพเหรกตามธรรมเนียม แต่เรื่องที่คาใจมาจนวินาทีที่พิมพ์นี้ ก็คือเรื่องที่เขาเอาปลาเค็มไปทิ้ง
"บ้าน xxxx หน่ะ พี่ใหญ่แกบอกว่า พระเอายาพิษใส่ปลา อย่าเอามากิน ให้เอาไปทิ้ง เขาเลยเอาไปทิ้งกันทั้งหมู่บ้าน เด็กในหมู่บ้านนี้เขาเล่าให้ฟัง"
พอจับต้นชนปลายถูกว่าเรื่องราวเป็นมาเยี่ยงไร ก็เกิดอาการชาครับ ธรรมะที่ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์หลายท่านลืมหมด
บ้าน xxxx หน่ะ ทราบอยู่แล้วครับว่า ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธทั้งหมู่บ้าน และเป็นที่ชุมนุมของประดาเหล่าคนต่างศาสนาของภาคเหนือเสียด้วย เวลามีงานชุมนุม รถกระบะวิ่งเข้าออกคราวละหลายสิบคัน ทั้งเด็กปากะญอที่ไปด้วยกันก็เตือน อย่าไปให้เขาเลย อย่าไปยุ่งกับเขาเลย เราเองที่รั้นดื้อดึงจักทำตามคำสั่งสอนที่ได้ยินมา ปฏิปทาของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ต้องมีเมตตาแบบอัปปมัญญา คือไม่มีประมาณ ไม่เลือกเด็กหรือแก่ ขาวหรือดำ หนุ่มหรือสาว ในศาสนาหรือนอกศาสนา หากเขาลำบาก เราให้หมด
หมู่บ้าน xxxx นี้คั่นอยู่ระหว่าง ๒ หมู่บ้านที่มีคนนับถือศาสนาพุทธ ข้าพเจ้าก็แจกทั้งสองหมู่บ้านแบบมิได้เลือกว่า เขานับถือศาสนาใด แล้วจักเว้นหมู่บ้านนี้เสียหรือ?
ท่ามกลางสายตาที่มองข้าพเจ้าราวกับเป็นตัวประหลาด ข้าพเจ้าไม่ยี่หระต่อสายตาเหล่านั้น ถือว่า "การให้" ไม่มีแบ่งแยกศาสนา บุญก็คือบุญ ไม่มีบุญของศาสนานั้น ไม่เหมือนบุญของศาสนานี้ เดินหน้านำปลาทูเค็มที่ลำบากขนขึ้นไปจากสมุทรสาครด้วยเพียบแปล้ตะลุยบุญรถยนต์คันเก่งที่สภาพไม่ค่อยสมบูรณ์นัก (ศูนย์เอียงซ้าย ยางหมดสภาพ วิ่งเหมือนร่อนบนถนน พร้อมจักลงข้างทางได้ตลอดเวลา) แต่ก็ยังถูลู่ถูกังใส่ท้ายบรรทุกไปเกิน ๔๐๐ กิโล (โอเวอร์โหลดมากมาย) ราคากิโลละ ๓๕ บาท ไปจนถึงแม่สะเรียง รวมระยะทางเกิน ๖๐๐ กม. ทั้งยังฝ่าทางอันขรุขระ คดเคี้ยว สูงชัน และเต็มไปด้วยฝุ่นกว่าจักเข้าหมู่บ้าน xxxx อีกหลายกิโลเมตร เพียงเพราะได้รับคำแนะจากพระอาจารย์โต วัดพระธาตุปางแฟน จ.เชียงใหม่ ว่า ปลาทูเค็มนี้ถือเป็นอาหารชั้นเลิศสำหรับชาวไทยภูเขาภาคเหนือ
มหาโอ๊ตเคยให้ธรรมะในการให้ทานที่ฟังแล้วประทับใจมาก คือให้แล้ว ให้ขาด อย่าถือแม้กระทั่งว่า นั่นเป็นทาน "ของเรา" อย่าไปใส่ใจว่า เขาเอาทานของเราไปทำอะไร เพราะมันไม่ใช่ของเราแล้ว การทำทานที่มีอานิสงส์สูงสุด คือทานที่ทำเพื่อละความเห็นผิดว่า "นี่คือของเรา"
ทางทฤษฎีนั่น ใช่ครับ แม้ข้าพเจ้าเอง ก็เขียนสอนผู้อื่นอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติจริง มันช่างทำได้ยากเสียนี่กระไร
พอได้ทราบว่า เขาเอาทาน "ของเรา" ที่เราตั้งใจให้เขาอย่างดีที่สุด ไปทิ้ง รู้ทั้งรู้ว่า ไม่ควรไปหวั่นไหว เพราะให้เขาไปแล้ว แต่ก็อดหวั่นไหวไม่ได้ มึน ๆ ชา ๆ อยู่นานทีเดียว
ทั้งที่ทำทานมาเยอะแยะมากมาย แต่ก็รู้ได้เลยในวินาทีนั้นว่า ทานบารมีของเรา ยังไม่เต็ม
ต้องทำอีก ต้องให้อีก ต้องสู้อีก สู้กับใครหรือ? ก็สู้กับตัวเองนั่นแหละ รบกับกิเลสในใจเราเอง
เหนื่อยนะ...
เหมือนวิ่งชนกำแพง
เหมือนมันไม่มีทางผ่านได้ แต่ก็ยังวิ่งชนมันอยู่อย่างนั้น
ความรู้สึกในอดีตอันเลือนรางย้อนกลับมาอีกครั้ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รู้สึกเหมือนวิ่งเข้าชนกำแพง สมัยเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์ก็รู้สึกเช่นนี้ ขณะที่เพื่อน ๆ ไปตีสนุ๊ก ไปเดินห้าง ไปจีบสาว ไปท่องเที่ยว ไปทำอะไร ไปไหนต่อไหนอย่างสนุกสนาน อย่างที่วัยรุ่นเขาทำกัน สนุกกัน เราต้องนั่งอ่านหนังสืออย่างโดดเดี่ยว เพียรทำข้อสอบเก่าข้อแล้วข้อเล่า ปีแล้วปีเล่า รั้วจุฬาฯตอนนั้นสูงเทียมฟ้า ราวกับกำแพงเมืองจีน คนตัวเล็กแรงน้อยอย่างเรา จักปีนข้ามไปได้หรือ?
เหนื่อย ท้อ แต่ก็ไม่เคยหยุดวิ่ง ไม่เคยหยุดชน เจ็บก็ยังวิ่งเข้าชนอยู่อย่างนั้นแหละ ล้มแล้วลุกตลอด บางทีเหนื่อยมาก ท้อมาก ล้มแล้วก็นอนนาน ๆ หน่อย แต่ไม่เคยยอมแพ้ มันต้องไปให้ถึงที่สุด ที่สุดที่เราทำได้ ต้องอดทนอีกเท่าไหร่ จะถึงจุดนั้น ไม่รู้เลย
ใช่สิ... สมัยนั้น ๑ เดือนก่อนสอบเอ็นทรานซ์ ใส่เกียร์ว่างเลย หนังสือหนังหาไม่ค่อยอ่านแล้ว เย็น ๆ ไปว่ายน้ำที่สระเซนต์คาเบรียลทุกวัน จนรุ่นน้องถามว่า พี่ไม่เตรียมตัวสอบหรือ? พ่อแม่ถามว่า เตรียมตัวพร้อมหรือยัง? ทำข้อสอบได้ไหม? ตอบได้เพียงว่า ทำดีที่สุดได้แค่นี้... ถ้ามันไม่ติดก็ช่างมันเหอะ... พ่อแม่ไม่ค่อยพอใจกับคำตอบนัก
และแล้ววันประกาศผลสอบก็เหมือนรางวัลของความเพียร แต่มันไม่ค่อยสำคัญแล้วหล่ะ สำหรับคนที่เอาชนะตัวเองได้ แม้เพียงชั่วคราว
ศึกคราวนี้ คือการเอาชนะตัวเองชั่วนิรันดร์ ไม่ต้องกลับมาอดทนอีกแล้ว ทางโลกเอาชนะตัวเองได้ครั้งหนึ่ง ก็จักมีกำแพงที่สูงกว่าเดิมมารอให้เอาชนะอีก ไม่จบสิ้น ทางธรรมอดทนครั้งนี้อีกครั้งเดียว แล้วไม่ต้องอดทนอีก เคยชนะมาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน แต่... จักต้องเข้มงวดกับตัวเองอีกเท่าไหร่กัน?
บอกตัวเอง หมากชีวิตเกมนี้ถ้าแพ้ก็หมายถึงต้องกลับมาเวียนเกิดซ้ำซาก กลับมาอดทนสอบเอ็นทรานซ์ซ้ำซากอีก แพ้ไม่ได้!!! สู้ ๆ สู้ตาย
กำแพงเอ๋ย มาดูกันว่า ใครจะอึดกว่ากัน เจริญธรรม ฯ