๑. กิเลสกามและวัตถุกาม ได้แก่อะไร ? อย่างไหนจัดเป็นมารและเป็นบ่วงแห่งมาร ?
เพราะเหตุไร ?
๑. กิเลสกาม ได้แก่ เจตสิกอันเศร้าหมอง ชักให้ใคร่ ให้รัก ให้อยากได้ กล่าวคือตัณหา
ความทะยานอยาก ราคะ ความกำหนัด อรติ ความขึ้งเคียด เป็นต้น จัดเป็นมาร
เพราะเป็นโทษล้างผลาญคุณความดีและทำให้เสียคน ฯ
วัตถุกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นของน่าชอบใจ จัดเป็นบ่วงแห่ง
มาร เพราะเป็นอารมณ์ผูกใจให้ติดแห่งมาร ฯ
๒. พระบรมศาสดาทรงแสดงอานิสงส์แห่งวิปัสสนาไว้ในอนัตตลักขณสูตรอย่างไร ?
๒. ทรงแสดงไว้ว่า เอวํ ปสฺสํ ภิกฺขเว สุตวา อริยสาวโก เป็นต้น ความว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมฟอกจิต
ให้หมดจด เพราะการฟอกจิตให้หมดจดได้ จิตนั้นก็พ้นจากอาสวะทั้งปวง เมื่อจิต
พ้นพิเศษแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า พ้นแล้ว และเธอรู้ประจักษ์ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์คือกิจพระศาสนาได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก ฯ
๓. ไตรลักษณ์ ที่ว่าเห็นได้ยากนั้น เพราะอะไรปิดบังไว้ ? ผู้พิจารณาเห็นอนิจจตา
ความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมได้รับอานิสงส์อย่างไร ?
๓. อนิจจตา มีสันตติ ความสืบต่อแห่งนามรูป ปิดบังไว้ ทุกขตา มีอิริยาบถ ความผลัด
เปลี่ยนอิริยาบถ ปิดบังไว้ อนัตตตา มีฆนสัญญา ความสำคัญเห็นเป็นก้อน ปิดบังไว้ ฯ
ย่อมได้รับอานิสงส์ คือเพิกถอนสันตติได้ ทำให้เห็นความเกิดขึ้นและความดับไป
ความไม่เที่ยงแห่งสังขารทั้งหลายด้วยปัญญาอันชอบ ย่อมเบื่อหน่ายในสังขารอันเป็น
ทุกข์ ดำเนินไปในหนทางแห่งความบริสุทธิ์ ฯ
๔. ความเกิด ความแก่ และความตาย จัดเข้าในทุกข์หมวดไหน ? โดยรวบยอด ทุกข์ที่
แสดงในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ได้แก่ทุกข์เช่นไร ?
๔. จัดเข้าในสภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำสังขาร ฯ
ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕ ฯ
๕. จริตของคนในโลกนี้มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ? คนสูงอายุมีความกังวลนอนไม่หลับ
เพราะคิดห่วงลูกหลานเป็นต้น จัดเป็นคนมีจริตอะไร ? กัมมัฏฐานข้อใดเป็นที่สบาย
แก่คนจริตนั้น ?
๕. มี ๖ ประเภท ฯ คือ ราคะจริต ๑ โทสะจริต ๑ โมหะจริต ๑ วิตกจริต ๑
สัทธาจริต ๑ พุทธิจริต ๑ ฯ มีวิตกจริต ฯ ข้ออานาปานสติ หรือ กสิณ ฯ
๖. ในอนุสสติ ๑๐ ข้อว่า มรณัสสติ ไม่ใช้ว่า มรณานุสสติ เพราะเหตุไร ?
๖. ที่ไม่ใช้อย่างนั้น ก็เพราะท่านสอนให้ผู้พิจารณาเห็นปรากฏชัดเป็นปัจจุบันธรรม จะได้
เกิดความไม่ประมาท เป็นผู้แกล้วกล้าไม่ย่อท้อต่อความตาย หากจะไปเหนี่ยวรั้งเอา
ความตายที่ล่วงมาแล้วยกขึ้นพิจารณา ในบางขณะอาจเกิดความกลัวตายขึ้นก็ได้ ฯ
๗. พระพุทธคุณบทว่า สุคโต นั้น เป็นพระคุณส่วนอัตตสมบัติ และส่วนปรหิตปฏิบัติ
อย่างไร ? จงอธิบาย
๗. พระคุณส่วนอัตตสมบัติ คือ เสด็จออกผนวชไม่ย่อท้อ เสด็จดำเนินไปตาม
อัฏฐังคิกมรรคเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มิได้ทรงกลับคืนมาสู่อำนาจกิเลสที่พระองค์
ทรงละได้แล้ว จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เสด็จไปในที่ใด ก็ทรงไม่มี
อันตรายใดจักเกิดแก่พระองค์ได้ เสด็จไปกลับได้โดยสวัสดี ฯ
พระคุณส่วนปรหิตปฏิบัติ คือ เสด็จจาริกไปในสถานที่ต่างๆ เทศนาโปรดมหาชน
ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ให้ได้รับประโยชน์ทั้งปัจจุบัน อนาคต และประโยชน์อย่างยิ่ง
คือพระนิพพาน อนึ่ง ทรงมีพระวาจาดี คือทรงกล่าวแต่คำที่จริงที่แท้ ประกอบด้วย
ประโยชน์แก่บุคคลที่ควรกล่าว เสด็จไประงับอันตรายด้วยความอนุเคราะห์เกื้อกูล
แก่ปวงชน แม้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ทรงฝากรอยจารึก คือพระคุณความดี
ในโลก ดุจฝนตกลงยังพืชให้เผล็ดผล เป็นประโยชน์แก่คนและสัตว์ผู้พึ่งแผ่นดิน ฯ
๘. กิจ เหตุ และผลของวิปัสสนา ได้แก่อะไร ?
๘. กิจ ได้แก่ การกำจัดความมืดคือโมหะ อันปิดบังปัญญาไว้ ไม่ให้เห็นตามความเป็นจริง
เหตุ ได้แก่ การที่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน
ผล ได้แก่ การเห็นสังขารตามความเป็นจริง ฯ
๙. วิปัลลาสข้อว่า “ วิปัลลาสในของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ” จะถอนได้ด้วยสัญญาอะไร
ในสัญญา ๑๐ ? ใจความว่าอย่างไร ?
๙. จะถอนได้ด้วยอาทีนวสัญญา ฯ
ใจความว่า ภิกษุย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่า กายอันนี้แล มีทุกข์มาก มีโทษมาก
เหล่าอาพาธต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฯ
๑๐. ในมหาสติปัฏฐานสูตร สติปัฏฐาน ๔ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่ากระไร ? สติปัฏฐาน ๔ นั้น
มีอานิสงส์อย่างไรบ้าง ?
๑๐. เอกายนมรรค ฯ
มีอานิสงส์ ๕ ประการ คือ
๑. เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย
๒. เพื่อความข้ามพ้นโสกะและปริเทวะ
๓. เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
๔. เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้
๕. เพื่อการทำให้แจ้งพระนิพพาน ฯ
ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก
สอบในสนามหลวง
วันเสาร์ ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
๑. การสำรวมจิตให้พ้นจากบ่วงแห่งมาร ในธรรมวิจารณ์ท่านแนะนำวิธีปฏิบัติไว้
อย่างไร ? และถ้าจะจัดเข้าในไตรสิกขา จัดได้อย่างไร ?
๑. แนะนำวิธีปฏิบัติไว้ ๓ ประการ คือ
๑. สำรวมอินทรีย์มิให้ความยินดีครอบงำ ในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น
ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา
๒. มนสิการกัมมัฏฐานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ คือ อสุภะและกายคตาสติ
หรืออันยังจิตให้สลด คือมรณัสสติ
๓. เจริญวิปัสสนา คือ พิจารณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์ สันนิษฐานเห็น
เป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯ
จัดเข้าในไตรสิกขาได้ดังนี้
ประการที่ ๑ จัดเข้าในสีลสิกขา
ประการที่ ๒ จัดเข้าในจิตตสิกขา
ประการที่ ๓ จัดเข้าในปัญญาสิกขา ฯ
๒. อนิจจตาแห่งสังขารทั้งหลาย จะกำหนดรู้ได้ด้วยวิธีใดบ้าง ?
๒. ๑. กำหนดรู้ในทางง่าย ด้วยความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และความสิ้นในเบื้องปลาย ได้ในบาลีว่า
อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้น
เป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับ
๒. กำหนดรู้ในทางละเอียดกว่านั้นด้วยความแปรในระหว่างเกิดและดับ
ได้ในบาลีว่า
อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย
วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป
๓. กำหนดรู้ในทางสุขุม ด้วยความแปรแห่งสังขารในชั่วขณะหนึ่ง ๆ คือ ไม่คงที่
อยู่นานเพียงระยะกาลนิดเดียวก็แปรแล้ว ได้ในคาถาวิสุทธิมรรค ว่า
ชีวิตํ อตฺตภาโว จ สุขทุกฺขา จ เกวลา
เอกจิตฺตสมา ยุตฺตา ลหุโส วตฺตเต ขโณ
ชีวิต อัตภาพ และสุขทุกข์ ทั้งมวล ประกอบกัน เป็นธรรมเสมอ
ด้วยจิตดวงเดียว ขณะย่อมเป็นไปพลัน ฯ
๓. สภาวทุกข์และปกิณณกทุกข์ คือทุกข์เช่นไร ?
๓. สภาวทุกข์ คือทุกข์ประจำสังขาร ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ ฯ
ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์จรได้แก่ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ฯ
๔. พระพุทธพจน์ว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี จะไม่เป็น
การปฏิเสธสุขอย่างอื่นไปทั้งหมดหรือ ? จงอธิบาย
๔. ไม่เป็นการปฏิเสธเสียทีเดียว เช่นทรงแสดงถึงสุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่างไว้เป็นต้น
แต่สุขอย่างอื่นนั้นยังเจือไปด้วยทุกข์อยู่ ยังไม่ใช่สุข ไม่อาจจะนับว่าเป็นสุข
ที่แท้จริงได้ มีแต่ความสงบเท่านั้นที่เป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่เจือไปด้วย
ความทุกข์ ฉะนั้นสุขที่ยิ่งกว่าความสงบจึงไม่มี ฯ
๕. สัตว์โลกตายแล้วมีคติเป็นอย่างไร ? ปัจจุบันภพนั้น เกี่ยวเนื่องกับสัมปรายภพ
อย่างไร ?
๕. สัตว์โลกตายแล้วมีคติเป็น ๒ คือ ถ้าทำดี คือ ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ก็ไปสู่สุคติ ถ้าทำไม่ดี คือประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ก็ไปสู่ทุคติ ฯ จิตดีชั่ว
ในปัจจุบัน ย่อมเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในสัมปรายภพ ภูมิและภพในภายภาคหน้า
ขึ้นอยู่กับภูมิและภพชั้นของจิตในปัจจุบันนี้แหละ ดังมีหลักธรรมในอุเทศบาลี
แสดงว่า เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง และว่าเมื่อจิตไม่เศร้าหมอง
แล้ว สุคติเป็นอันหวังได้ ฯ
๖. บุคคลผู้ถูกนิวรณ์ ๕ ครอบงำ พึงแก้ด้วยกัมมัฏฐานอะไรบ้าง ?
๖. ถูกกามฉันทะครอบงำ พึงแก้ด้วยอสุภกัมมัฏฐานหรือกายคตาสติ
ถูกพยาบาทครอบงำ พึงแก้ด้วยเมตตาพรหมวิหาร
ถูกถีนมิทธะครอบงำ พึงแก้ด้วยอนุสสติกัมมัฏฐาน
ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ พึงแก้ด้วยกสิณหรือมรณัสสติ
ถูกวิจิกิจฉาครอบงำ พึงแก้ด้วยธาตุกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ
๗. ผู้เจริญเมตตาพรหมวิหาร ท่านสอนให้แผ่ไปในตนก่อนนั้น มีความมุ่งหมายอย่างไร ?
๗. มีความมุ่งหมายอย่างนี้ ให้ทำตนเป็นพยานว่า ตนนี้อยากได้แต่ความสุข เกลียดชัง
ทุกข์และภัยต่าง ๆ ฉันใด แม้สัตว์ทั้งหลาย ก็อยากได้สุข เกลียดชังทุกข์และภัย
ต่าง ๆ ฉันนั้น เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว จิตก็ปรารถนาจะให้สัตว์ทั้งสิ้น มีความสุข
ความเจริญ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงให้แผ่เมตตาจิตไปในตนก่อน ฯ
๘. พระพุทธคุณบทว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ” เมื่อกล่าวถึงพุทธจรรยาในส่วน
ที่ทรงสั่งสอนมหาชน ประมวลลงเป็นข้อได้อย่างไรบ้าง ?
๘. ประมวลลงได้อย่างนี้
๑. ทรงพระกรุณาหวังจะให้ผู้ที่ทรงสั่งสอน ได้ความรู้อันจะให้สำเร็จประโยชน์
๒. ทรงมุ่งความจริงกับประโยชน์เป็นที่ตั้ง
๓. ทรงทำกับตรัสเป็นอย่างเดียวกัน
๔. ทรงฉลาดในวิธีสั่งสอน ฯ
๙. ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีพิจารณาสติสัมโพชฌงค์ไว้
ด้วยอาการอย่างไร ?
๙. ด้วยอาการอย่างนี้ คือ เมื่อสติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิต ก็รู้ชัดว่ามีอยู่
ณ ภายในจิตของเรา เมื่อไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ก็รู้ชัดว่าไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต
ของเรา เมื่อยังไม่เกิด แต่จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ก็รู้ชัดด้วยประการนั้น
เมื่อเกิดขึ้นแล้วเจริญบริบูรณ์ขึ้นด้วยประการใด ก็รู้ชัดด้วยประการนั้น ฯ
๑๐. ข้อว่า อนัตตสัญญา ในคิริมานนทสูตร ทรงให้ยกธรรมอะไรขึ้นพิจารณาว่าเป็น
อนัตตา ?
๑๐. ทรงให้ยกอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ขึ้นพิจารณาว่าเป็นอนัตตา ฯ