เหตุไฉน ศีลต้องบริสุทธิ์
สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้ เกิดจากการเรียนปริยัติ(ทฤษฎี) นำไปปฏิบัติ แลผลอันอาจเรียกได้ว่า คือปฏิเวธ (ผลของการปฏิบัติ) ปฏิเวธเป็นปัจจัตตัง (รู้ได้ด้วยตนเองเท่านั้น คนอื่นไม่สามารถรู้ตามได้ด้วยการบอกเล่า) ปฏิเวธของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่อาจเทียบเคียงกันได้ ทั้งนี้ไม่ควรนำมาเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติ หรืออ้างอิงในการปฏิบัติ เพราะอย่างที่บอกแล้วว่า ผลของการปฏิบัติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
เรื่องศีลนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนคนหนึ่ง ที่ถามปัญหาเกี่ยวกับศีลเข้ามา จึงนำประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติมาเล่าสู่กันฟัง ขอโค้คคำถามมาให้อ่านด้วยละกัน
1 ทำไมศีลของพระ จึงต่างกับบุคคลธรรมดา มาคิดดูด้วยเหตุผล คล้ายกับว่ามันเป็น เพราะพระอยู่ในสถานะที่ดำรงสัญลักษณ์ของศาสนา (พระพุทธ พระธรรม พระสงม์) จึงมีค่า GAIN (เจตนา) มาคูณผลของการกระทำด้วยรึเปล่า ทำดีได้ดีมาก ทำชั่วก็ได้ ชั่วมาก เหมือนเสือ กินคนจะบาปน้อยกว่าคนฆ่าคน ศีลของพระจึงมีหลายข้อเพื่อความ เป็นปกติของพระ
ถ้าตามครูบาอาจารย์สอนสั่งมา ตามที่โยมเข้าใจก็ถูกต้องแล้ว ยกตัวอย่าง หลวงพี่เล็ก ท่านฝึกกรรมฐาน ๔๐ กองตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส ทำชนิดที่ว่า หัวไม่วาง หางไม่เว้น แต่กรรมฐานก็ไม่ทรงตัว ขึ้น ๆ ลง ๆ เดี๋ยวได้ เดี๋ยวเสื่อม ไม่เป็นโล้เป็นพาย ครั้นพอบวชเข้ามาแล้ว กรรมฐานทุกกองกลับได้มาอย่างง่ายดาย จึงไปเรียนถาม หลวงตามหาอำพัน วัดเทพศิรินทร์ฯก็ได้ความว่า ก็สมัยท่านเป็นฆราวาสนั้น บุญบารมีเต็มช้า ทำสิบได้หนึ่งบ้าง ทำหนึ่งได้ไม่ถึงหนึ่งบ้าง ครั้นมาอยู่ในผ้าเหลืองแล้ว ท่านว่า ทำหนึ่งได้แสนบ้าง ทำหนึ่งได้โกฏิล้านบ้าง ทำนองเดียวกัน เมื่อพระทำบาป ทำน้อยก็ได้เป็นแสนเท่าเหมือนกัน เป็นฆราวาส บี้มดตัวหนึ่งอาจไม่เป็นไร เป็นพระบี้มดตัวหนึ่ง อาจถึงอเวจี
หลวงพ่อบอกว่า พระมันลงนรกตอนที่ผู้คนเขากราบไหว้นั่นแหละ ผู้บวชแล้ว แม้พ่อแม่ก็ต้องมากราบ แม้ในหลวงก็ยังต้องกราบ สถานะความเป็นพระนั้น มันสูงส่งเหลือประมาณจริง ๆ ทีนี้ถ้าอย่างศีล ๘ อดข้าวเย็น ยังอดไม่ได้ ขณะที่ฆราวาสเขาทำได้ แล้วมานั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ ให้ฆราวาสกราบ ก็ไปอเวจีเท่านั้นเอง
เมื่อแรกอุปสมบทนั้น ก็ยังโง่ ๆ เซ่อ ๆ ไม่ค่อยรู้ศีลอะไรกับเขาหรอก ก็ใช้วิธีอ่านเอาบ้าง สอบถามจากพระผู้ใหญ่บ้าง เพราะแต่แรกไม่ได้บวชด้วยศรัทธา บวชด้วยความงมงายว่า การบวชจะช่วยสะเดาะเคราะห์ให้อะไร ๆ ดีขึ้น เพิ่งมาศรัทธาเอาทีหลัง จนได้มาพบหลวงพ่อ ท่านย้ำนักย้ำหนาว่า ศีลต้องบริสุทธิ์นะ เพราะศีลเป็นฐานของสมาธิ สมาธิเป็นฐานของปัญญา บัดนั้นเองจึงเริ่มศึกษาศีลอย่างเอาจริงเอาจัง อ่านบ้าง ฟังบ้าง จนได้มาเรียนนักธรรมตรี จึงได้รู้จักศีลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ศึกษาไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า การรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้น ช่างยากเย็นเหลือเกิน ศีลบางอย่าง ไม่รู้ว่า จะบัญญัติมาทำไม จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมไปถึง อาทิกัมมิกะ หรือ ภิกษุต้นบัญญัติ ว่าเหตุใด พระศาสดา จึงบัญญัติศีลข้อนั้นข้อนี้
สมัยที่ข้าพเจ้าบวชพราหมณ์ถือศีล ๘ ปฏิบัติไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็จะระลึกได้เลยว่า ศีล ๘ มีความละเอียดลออกว่า ศีล ๕ ศีล ๕ นั้นเป็นไปเพื่อความเป็นมนุษย์ มีปกติเสพกามคุณ ๕ เท่านั้น ส่วน ศีล ๘ นั้น ถือพรหมจรรย์ ไม่แตะต้องกายเพศตรงข้าม ไม่นอนบนฟูก ไม่ดูการละเล่น ไม่ใช่น้ำหอม พิจารณาแล้ว ล้วนเป็นไปเพื่องดเว้นกามคุณ ๕ ทั้งนั้น ถ้ารักษาศีล ๘ ได้เป็นปกติ นั่นแสดงว่า จิตวิญญาณของคุณ อยู่เหนือภูมิของมนุษย์ขึ้นไปแล้ว
ศีลบางข้อศึกษาไปจนพบว่า เป็นเพราะสมัยก่อน สภาพเป็นอย่างนั้น ๆ จึงบัญญัติศีลเป็นอย่างนั้น ๆ เช่น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ ภิกษุ มีผ้าไว้ใช้แค่ ๓ ผืน คือ ไตรจีวร เพื่อความมักน้อยในปัจจัย ๔ และสมัยก่อน ผ้าผืนใหญ่มีราคาแพง และหาได้ยาก มาในยุคปัจจุบัน ผ้าไตรจีวร มีมากมายก่ายกอง เหลือใช้เป็นเข่ง ๆ ราคาก็ไม่ได้สูงมากเหมือนสมัยก่อน บางทีญาติโยมต้องมาคะยั้นคะยอให้พระใช้ไตรจีวรที่เขาถวายก็มี สภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ญาติโยม แตกต่างกันขนาดนี้ บางทียังคิดว่า ศีลข้อนี้ล้าสมัย ไม่จำเป็น ขอเพียงเราไม่ยึดติดในผ้าไตรจีวร แหม ต้องเป็นผ้าอย่างนั้น ๆ ยี่ห้ออย่างนั้น ๆ (แม้จะมีพระวินัยคุมกิเลสพระไว้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็ยังโผล่ออกมาเป็นจีวรผ้าแปลก ๆ บ้าง สาระพัดผ้าบ้าง) แต่ก็ไปชนกับ ความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ เอาอีกว่า ถ้าคิดเช่นนั้น ความเคารพในพระพุทธเจ้า ผู้บัญญัติพระวินัย คุณจะมีอยู่อย่างเต็มบริบูรณ์หรือ ความเคารพในพระธรรมวินัย อันประหนึ่งเสมอด้วยพระพุทธเจ้า คุณจะยังมีสมบูรณ์อยู่หรือ ความเคารพในพระอริยสงฆ์ ผู้เชื่อฟังในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระธรรมวินัย จนได้มรรคได้ผล สืบพระศาสนา จนมาถึงรุ่นเรา ท่านเหล่านั้น ก็เคยปฏิบัติในพระธรรมวินัย ที่เราเห็นว่า ล้าสมัยนั้น ด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง แล้วเราจะมีหน้าไปเข้าสังคมพระ ด้วยความมั่นใจว่า เราเป็นผู้มีศีลเสมอด้วยคนอื่นหรือ
ปวดกะบาลอยู่กับคอนเซ็ปท์ของศีลอยู่ระยะหนึ่ง ก็ไปได้ฟังประโยคเด็ด ที่มาจาก ธรรมนิทาน เรื่องแสงเทียน ของ อ.วศิน ความว่า "ศีลพึงทราบ ด้วยการอยู่ร่วมกัน"
นั่นทำให้ความคิดแตกขยายสาขาออกไปอีก
โอ้หนอ...ศีล ๕ นี่เห็นชัดเจนที่สุดเลย ศีลแต่ละข้อ บัญญัติมาให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่เบียดเบียนกัน ถูกไหม (รวมถึงศีลข้อ ๕ ด้วย) ฉะนั้น เกณฑ์วัดการละเมิดศีล อยู่ที่คนรอบข้าง ไม่ใช่ผู้รักษาศีล เมื่อไหร่ไปทำความเจ็บช้ำน้ำใจให้คนอื่น เมื่อนั้นศีลก็ขาด ฉะนั้น บางทีการโกหกเพื่อรักษาน้ำใจ ก็ไม่ผิดศีล การร่วมประเวณีกับโสเภณีที่เขาประกาศตนว่า เป็นของสาธารณะ ก็ไม่ผิดศีล ขึ้นกับปัญญาของผู้รักษา
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ด้วยความที่ปัญญาคนเราไม่เสมอกัน ท่านจึงกำหนดเป็นข้อ ๆ ให้เว้นการกระทำอย่างนั้น ๆ
ศีลที่เหนือขึ้นไป เป็นไปเพื่อดำรงความบริสุทธิ์แห่งพรหมจรรย์ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่คอนเซ็ปท์ "ศึลพึงทราบ ด้วยการอยู่ร่วมกัน" ก็ติดตามไปจนถึง ศีล ๒๒๗ ข้อ และศีลที่ยิ่งกว่านั้น นั่นคือ ถ้าเราอยู่คนเดียว ศีลบางข้อมีระบุไว้ในพระธรรมวินัยเลยว่า ยกเว้น เช่น ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉัน ที่ไม่ได้รับการประเคน ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่อยู่รูปเดียว นั่นหมายถึง บางคราวที่อยู่รูปเดียว ศีลเล็กน้อยบางข้อก็ผ่อนคลายได้ แม้อยู่เป็นหมู่คณะ ก็ต้องรักษาศีลให้เสมอผู้อื่น เช่น การวางบาตร ถ้าเราอยู่รูปเดียว บางทีอาจวางคว่ำไว้ตากแดด เพื่อความสะดวก ครั้นเข้าสู่หมู่สงฆ์ ก็ต้องวางบาตรบนขาบาตร มีวัสดุรองรับให้เรียบร้อย และไม่ทิ้งไว้ในที่แจ้ง มิเช่นนั้น ก็จะถูกตำหนิเอาได้ ครั้นปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า ทำไมจะต้องอยู่คนเดียวปฏิบัติแบบหนึ่ง อยู่กับหมู่คณะปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง เช่นนี้แม้เราเผลอทำตามความเคยชิน ก็จะถูกตำหนิเอาอีก จิตเศร้าหมองอีก ฉะนั้นสู้ทำให้มันเป็นความเคยชินไปเสีย ไม่ดีกว่าหรือ นี่ละที่ครูบาอาจารย์สอนไว้ว่า พวกที่เลี่ยงศีล มันเลี่ยงเพื่อลงนรก
ขออธิบายคาบเกี่ยวไปถึงข้อต่อไปด้วย ที่ว่า แก่นของพระศาสนา คือการเจริญสติ การที่มีศีลมากมายหลายข้อ ก็เป็นไปเพื่อเจริญสติด้วย เพื่อความเรียบร้อยของหมู่คณะด้วย เพื่ออื่น ๆ ด้วย พระพุทธเจ้ามักยิงนกทีเดียว ได้นกทั้งฝูง ศีลจึงเป็นกลไกอันชาญฉลาดอย่างยิ่งของผู้ออกแบบ (architect) ศีล ๘ หรือ ศีล ๒๒๗ นั้น แม้เมื่ออยู่ในศีล หรือกำลังละเมิดศีล จะมีสิ่งหนึ่งที่เกินกว่า คนถือศีล ๕ นั่นคือ "ความรู้สึกตัว" อะนี่...เรากำลังเผลอร้องเพลง อาบัตินี่หว่า อะนี่...เรากำลังยืนดื่มน้ำ อาบัตินี่หว่า อะนี่...เรากำลังยืนฉี่ อาบัตินี่หว่า สติสัมปชัญญะเหล่านี้ ถูกเพิ่มเติมขึ้นมาเมื่อเราเจริญ สีลานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงศีลเป็นอารมณ์
สมัยที่ออกท่องยุทธภพ ก็ไปควานหาครูบาอาจารย์ เที่ยวสืบเสาะแสวงหา ใครสามารถดูจิตเราได้ ให้กรรมฐานได้ ก็ดั้นด้นไปหาเสียสิ้น ศึกษาไป ปฏิบัติไป เอ...ทำไมสมาธิไม่ได้เสียทีหนอ ไปเข้าฝึกมโนมยิทธิเป็นสิบ ๆ รอบ ก็ไร้ผล ก็สอบถามพระรุ่นพี่ว่า เหตุใดฝึกไม่ได้สักที ท่านเหล่านั้น ๘ พรรษาบ้าง ๙ พรรษาบ้าง ยังไม่ได้ก็มี ท่านก็ให้เหตุผลว่า ศีลไม่บริสุทธิ์หรือเปล่า ตั้งใจเกินไปหรือเปล่า เกร็งหรือเปล่า เพ่งหรือเปล่า คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เกินไปหรือเปล่า
โดยมีข้อศีลบริสุทธิ์หรือเปล่า เป็นหัวข้อหลัก ข้าพเจ้าก็แย้งในใจด้วยมิจฉาทิฏฐิว่า ถ้าศีล เป็นฐานของสมาธิจริง งั้นพระที่เพิ่งออกจากโบสถ์เมื่อวันอุปสมบท หรือวันอัพภาน ก็น่าจะมีสมาธิดีกว่า พระที่บวชมานาน แต่ศีลด่างพร้อยซี ฉะนั้นจึงไม่ใคร่เชื่อเสมอมา เชื่อว่า สมาธิเป็นสิ่งที่ได้มาจากการฝึกฝน ครั้นอยู่ ๆ ไปก็พบว่า คำว่า "ฐาน" หาใช่สิ่งที่ข้าพเจ้าเข้าใจแต่ทีแรกไม่ เมื่อไปพบว่า สมาธิขั้นสงบลึก กลับได้มาจาก "ความมั่นใจ" ก็นี่เอง "ความมั่นใจ" นี่ละคือ "ฐาน" ที่มั่น แห่งสมาธิ หากไม่มีความมั่นใจเสียแล้ว สมาธิก็ไม่ทรงตัว เขาถึงให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ เวลาเจริญพระกรรมฐาน จะได้มี "ความมั่นใจ" และความมั่นใจนี้ ก็โกหกกันไม่ได้ โกหกคนอื่นยังโกหกได้ แต่โกหกตัวเองนี่ เป็นไปได้ยาก ศีลไม่บริสุทธิ์ ก็คือศีลไม่บริสุทธิ์อยู่นั่นเอง ตัวเรารู้ดีที่สุด
ครั้นได้เข้าใจความสัมพันธ์ของศีล กับ สมาธิแล้ว ก็ไปเจอตออันใหญ่ ไปเจอตัวอย่างของคนที่คิดว่า ตัวเองศีลบริสุทธิ์ หลงใหลไปกับความสามารถในการรักษาศีลของตัวเอง หลงใหลไปกับฌานสมาบัติของตัว ไม่รู้เลยว่า นั่นเป็นมิจฉาสมาธิ ความมั่นใจอันทรงพลังของผู้ได้ฌานนั้น แม้มีมิจฉาทิฏฐินิดเดียว ก็สร้างความฉิบหายได้เอนกอนันต์ เพราะมั่นใจเกิน นั่นเอง เกิดคำถามต่อมาว่าแล้วจะมั่นใจอย่างไร ไม่ให้เป็นมิจฉาสมาธิ ก็ต้องเริ่มมา จากสัมมาทิฏฐิ ย้อนมาเห็นว่า ศีลบริสุทธิ์ เป็นบาทฐานของสัมมาสมาธินั่นเอง
การละเมิดศีล
แม้ผู้มีอินทรีย์อ่อน ไม่สามารถแม้จะอดอาหารเย็นได้ เลยไม่มีสิทธิ์บวช ไม่มีสิทธิ์บรรลุมรรคผล กระนั้นหรือ ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบการปฏิบัติ กับมหาสมุทรไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดามหาสมุทรย่อมลุ่มไปโดยลำดับ ลึกไปโดยลำดับ ซึ้งไปโดยลำดับ ไม่โกรกชันทีเดียวฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็เช่นกัน มีการศึกษาโดยลำดับ มีการทำโดยลำดับ มีการปฏิบัติโดยลำดับ การตรัสรู้อรหัตตผล ไม่มีอาการลึกทีเดียวถึง ฉันนั้น ทรงอนุญาตไว้แก่ผู้มีอินทรีย์อ่อนว่า อนุญาตให้ฉันน้ำปานะได้ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้บวชใหม่ มักเกิดการกังวลในศีลของตน เรียกว่า ติดในอารมณ์ ติดในความรู้สึกผิด ยิ่งสายหลวงพ่อ ท่านเทศน์ด่าพระที่ศีลไม่ครบแทบทุกวัน ตอนฟังใหม่ ๆ ประสาทจะกิน หน้าตาหม่นหมอง ราศีเหี่ยวเฉา นี่ละ เขาถึงต้องมีครูบาอาจารย์ไว้ "แก้อารมณ์" สิ่งใดทำผิด สิ่งนั้นก็ผิดไปแล้ว แก้ไขโดยการตั้งใจใหม่ จะไม่ทำอีก แต่บางคนไปติดอยู่กับอกุศลกรรมตรงนั้น การปฏิบัติก็ไม่คืบหน้า ทั้งยังเป็นทุกข์เป็นร้อน ต่อบาปที่ได้กระทำไป กลไกของ การแก้อารมณ์ก็แสนอัศจรรย์ กล่าวคือ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เราไม่มีศรัทธา ต่อให้ท่านแก้อย่างไร ปลอบใจแค่ไหน การแก้อารมณ์ตรงนั้น ก็ไม่เป็นผล แต่ถ้าเรามั่นใจว่า องค์นี้เป็นอนาคามี หรือองค์นี้เรานับถือสุดหัวใจ คำของท่านถือเป็นที่สุด ขนาดระดับท่านยังพูดเช่นนี้ ก็เป็นอันไม่ต้องใส่ใจอะไรเทือกนั้น การแก้อารมณ์ถึงจะมีผลบริบูรณ์
แม้หลุดจากอารมณ์ที่ติดอยู่นั้นแล้ว ก็เพียรระวังอย่าไปติดที่ไหนอีก จิตก็จะสะอาดขึ้นเป็นลำดับ
1.1 ในข้อนี้คิดต่อไปถึงคำถามสำคัญ เคยได้ยินว่า สมมุติสงฆ์ และอริยสงฆ์ ไม่ได้แยกชัดด้วยผ้าเหลือง คือ มีผ้าเหลืองแล้วอาจเป็นมารสวมผ้าเหลือง หรือ อริยสงฆ์ที่อยู่ในรูปของฆราวาส เรื่องมารสวมผ้าเหลืองนี้ได้ยินและพิสูจน์กันง่าย ๆ เห็นในหนังสือพิมพ์ แต่อริยสงฆ์ในคราบของฆราวาสเป็นยังไง ไม่รู้มีจริงหรือ เปล่า หรือสมมุติว่ามี จะมีคุณสมบัติอย่างไร
คำถามที่ว่า พระอริยสงฆ์ในเพศฆราวาส มีด้วยหรือ ตอบว่า มี
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า พระอริยสงฆ์ พระอริยเจ้า พระอริยบุคคล หมายถึงสิ่งเดียวกัน
อ้างตามบทสวดมนต์เลย สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ... จัตตาริ ปริสยุคานิ อัฏฐะปริสปุคคลา
ซึ่งแปลเป็นใจความว่า พระอริยบุคคล แบ่งเป็น ๔ จำพวก ๘ บุคคล
๔ จำพวก คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์
๘ บุคคล คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามีมรรค พระสกทาคามีผล พระอนาคามีมรรค พระอนาคามีผล พระอรหัตตมรรค พระอรหัตตผล
พระอริยสงฆ์ ๓ ใน ๔ จำพวก แรก สามารถสำเร็จได้ในเพศฆราวาส ยกเว้นอรหัตตผลอย่างเดียว ซึ่งความจริง อรหัตตผล ก็สำเร็จในเพศฆราวาสได้ แต่หลังสำเร็จแล้ว ในพระบาลีกล่าวว่า จะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน ๗ วัน ทว่าในความเป็นจริง มักมีชีวิตอยู่ไม่เกิน ๑ วัน
พระยสะ บรรลุอรหัตตผล ตั้งแต่เป็นฆราวาส พอไปขอบวช พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยการตรัสว่า "จงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์" จบแค่นี้ ถ้าเป็นภิกษุรูปอื่น จะมีต่อท้ายอีกว่า "เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ" ทั้งนี้เพราะพระยสะ บรรลุอรหัตตผลแล้วนั่นเอง
พระพาหิยทารุจีริยะ ผู้เป็นเอคทัคคะด้านบรรลุเร็ว ก็สำเร็จอรหัตตผล ในเพศฆราวาส แต่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาแล้วว่า พระพาหิยะ ไม่เคยถวายไตรจีวรไว้ในพระพุทธศาสนา จีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์จึงไม่มี เลยให้ไปหาจีวรมาก่อน ขณะกำลังหาจีวร เลยโดนยักษิณีแปลงเป็นวัวแม่ลูกอ่อน ขวิดตาย นี่เป็นหลักฐานว่า พระอรหันต์ฆราวาสมักไม่สามารถทรงชีวิตอยู่ได้เกิน ๗ วัน
ส่วนพระอริยบุคคลชั้นรองลงมา มีให้เห็นกลาดเกลื่อน เช่น บล็อกที่ข้าพเจ้าเขียนเรื่อง มาเป็นพระโสดาบัน กันเถอะ นั้น ถ้าเข้าใจคอนเซ็ปท์แล้ว จะทราบได้เลยว่า พระโสดาบันในเมืองไทย น่าจะมีเกินหมื่น
หลักฐานอย่างเป็นรูปธรรม ฟังจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างหลายกระแส ค่อนข้างมั่นใจว่า ดังตฤณ ได้โสดาปัตติผล
แต่ได้ยินว่า ลูกศิษย์สายหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช ได้โสดา สกทาคา กันเป็นแถว
จากข้อมูลทางสถิติอีกประการหนึ่ง พบว่า คนที่ได้โสดาแล้ว มักปุ้งเดียว ถึงอรหัตตผลเลย ไม่มาต้วมเตี้ยม ค่อยไล่ไปเป็นสกทาคา อนาคา หรอก
ข้อน่ารู้อีกประการหนึ่ง ผู้ที่สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นในเพศฆราวาสแล้ว มักได้รับคำแนะนำให้บวช เพราะเพศฆราวาส ไม่เอื้ออำนวยให้บรรลุธรรมขั้นสูงขึ้นไป (จะขี้เกียจปฏิบัติไปก่อน ทำนองว่า ได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว อะไรเทือกนั้น)
ข้อน่ารู้ข้อสุดท้ายคือ อาการของพระอนาคามี จะเป็นผู้มีน้ำอสุจิแห้งแล้ว (เป็นมะเขือเผานั่นละ) และ จะรักษาศีล ๘ โดยอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติ ใช่ฝืนใจทำ
2 อ่านพบว่าในตอนแรกยังไม่มีศีลเรื่องสุรา ทั้งในพระและคนทั่วไป แต่มี case study ทำให้พระพุทธเจ้ากำหนดให้มี แปลว่าจริงแล้วข้อห้ามเรื่องสุราเป็น development มาจากแก่นอีกที แต่ไม่ใช่แก่น พิจารณาแล้วเหมือนกับ แก่นต้องการให้มีสติอยู่เสมอ ใช่หรือไม่ นั้นแปลว่า ศีลห้าจริงแล้วประกอบไปด้วยข้อหนึ่งที่เรียกว่า มีสติ เพราะสมัยนี้สิ่งมอมเมา ไม่ได้มีขอบเขตแค่สุราแต่แรงว่าสุราเป็นล้านเท่า รวมถึงสิ่งเสพติดได้ที่ไม่เป็นรูปธรรม(hardware) แต่เป็นนามธรรม (software) เช่นติดละคร เกมส์ online จึงอยากให้ท่านได้แสดงข้อมูลธรรมบางอย่างที่ท่านเคย อ่านว่า การกำหนดให้เป็นศีลข้อต่าง ๆ develope มาจากหลักเกณท์ใด
ความจริงปัญหาข้อนี้ โยมอาจจะได้คำตอบไปแล้ว จากการตอบปัญหาข้อก่อน ก็จะมีส่วนเพิ่มเติมให้เนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนจะเข้าสู่การตอบปัญหา ก็ขออารัมภบท ถึงนิยามของคำว่า "แก่น" สักเล็กน้อย
ท่านว่า การเข้าถึง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ของพระศาสนา เป็น ใบ และกิ่ง
ท่านว่า การเข้าถึง ศีล ระงับนิวรณ์ ๕ ประการ บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็น เปลือก
ท่านว่า การเข้าถึง ญาณหยั่งรู้ต่าง ๆ มี ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ญาณระลึกชาติได้) จุตูปปาตญาณ (ญาณหยั่งรู้การเกิด การตาย ที่มา ที่ไปของสรรพสัตว์) เป็นต้น เป็นกระพี้
ท่านว่า การเข้าถึง การไม่เห็นอะไรในโลกว่าสำคัญทั้งหมด ไม่มีสาระอะไรทั้งสิ้น ไม่ยึดถืออะไรในโลกทั้งหมด เป็นแก่น
ตอนต้นของมหาสติปัฏฐานสูตร มีใจความว่า
"หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและ ปริเทวะ เพื่อความดับสูญ แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่ง พระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ
๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย...."
นั้นอาจพออนุมานได้ว่า ทางที่จะเข้าถึงแก่น มีเส้นทางหลักคือ ผ่านการปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ ซึ่งเนื้อหาภายในพระสูตร จะเกี่ยวกับการเจริญ "สติ" เป็นสำคัญ โดยเอา กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่จริตผู้ปฏิบัติ
เมื่อแรกของการปฏิบัติ ก็สับสนพอควร จากการถามไถ่เพื่อนสหธรรมิกอยู่หลายเพลา ครูบาอาจารย์หลายต่อหลายรูป พร้อมศึกษาหาความรู้ในสายปฏิบัติต่าง ๆ พอจะสรุปได้คร่าว ๆ ว่า แนวทางการปฏิบัติที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน จะมาจาก ๒ แนวทางหลักใหญ่ ๆ คือ วิสุทธิมรรค ๑ และ มหาสติปัฏฐาน ๑
ศึกษามากเข้าก็พบว่า ไม่ว่าจะเริ่มจากตรงไหนสุดท้ายจะไปสุดที่เดียวกัน กล่าวคือ ถ้าเริ่มจากการฝึกนั่งสมาธิ จนสงบลึกเป็นฌาน กำลังสติก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย หรือเริ่มจากการฝึกสติ พอสติเข้มแข็ง ฌานก็จะได้มาฟรี ๆ ต่างกันตรงที่ ฌาน นั้น เป็นสิ่งที่ได้มายาก ต้องเพียรทำอย่างยิ่ง ไม่ลดละ ส่วนการฝึกสติ ส่วนใหญ่เห็นวิธีปฏิบัติจะง่าย ๆ สบาย ๆ
ศึกษามากยิ่งขึ้นไปอีก ก็พบว่า ไม่ว่าจะฝึกฌาน หรือ ฝึกสติ สุดท้ายไปสิ้นสุดที่การฝึกสติเป็นที่สุด หลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช กล่าวว่า การฝึกฌาน เป็นการฝึกให้เป็นคนเหนือคน พูดง่าย ๆ คือไม่ใช่คนธรรมดา ขณะที่การฝึกสติ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเหนือคน แต่ก็มีปัญญาพอจะตัดกิเลสได้
ผู้ได้ฌานแล้ว สุดท้ายก็ต้องมาฝึกมหาสติปัฏฐาน ดังมีคำกล่าวไว้ในพระสูตรว่า "จิตเป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นมหรคต" ฟังแล้วเป็นเง็งว่า จิตเป็นมหรคต คืออะไร ศึกษาดูแล้วถึงทราบ แปลว่า จิตเป็นฌาน ฉะนั้นก็หมายความว่า จิตเป็นฌาน ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นฌาน ในความเข้าใจของข้าพเจ้าก็คือ บางคนจิตเป็นฌาน แต่ไม่รู้ตัวว่า จิตเป็นฌาน อยู่กับความว่างของฌาน ความสุขของฌาน ความสงบของฌาน อารมณ์จมดิ่งปักแน่นอยู่อย่างนั้น ครั้นพอออกจากฌาน ก็กลับมาใช้ชีวิตเยี่ยงปุถุชนธรรมดา มีรัก โลก โกรธ หลง เป็นปกติ แล้วบอกว่า นั่นคือการปฏิบัติเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าพิจารณาดูดี ๆ แล้ว การทำเช่นนั้น มันเกิดปัญญาขึ้นตรงไหน ทุกวันที่ผ่านไป ก็มีแต่ความพอใจในความสงบของฌาน จึงมีพระสูตรนี้ขึ้นมารองรับว่า แม้จิตเป็นฌานแล้ว การปฏิบัติก็ยังไม่จบ ต้องรู้ชัดว่า จิตเป็นฌาน การปฏิบัติจึงจะดำเนินต่อไป
ดังนี้แล้ว จึงเห็นว่า การฝึกฌาน เป็นทางอ้อม เราสามารถลัดตรงเข้า มหาสติปัฏฐาน เลย โดยไม่ต้องไปเสียเวลานั่งสมาธิ การเจริญสตินั้นก็ง่ายดาย สามารถผนวกเข้าไปกับชีวิตประจำวันของเราได้ เพียงแต่ต้องทำสม่ำเสมอ ไม่ขี้เกียจ หรือเลิกทำไปเสียก่อน
มาถึงตรงนี้ โยมคงได้คำตอบในใจเรียบร้อยแล้วว่า สิ่งที่โยมคิด ก็ถูกต้องแล้ว "แก่น" คือ การไม่เห็นอะไรสำคัญทั้งหมด การจะเข้าถึง "แก่น" นั้น ต้องใช้การเจริญสติเป็นสำคัญ การติดละคร ติดเกมส์ออนไลน์ ก็เหมือนการติดฌานนั่นละ ติดฌานนั่น ยังติดสิ่งที่เรียกว่า กุศล นะ แต่ติดเกมส์นี่ คงจะเรียกได้ว่า อกุศล แม้มีสมาธิในการเล่นเกมส์ ก็น่าจะเป็น มิจฉาสมาธิ
การเข้าถึงพระนิพพานนั้น ต้องไม่ติดอะไรเลย ทั้งอกุศล และกุศล ละทั้งบาป และบุญ
ปล.น่าจะยังมีวิธีอื่น ที่สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้เหมือนกัน เคยอ่านพบ วิธีปฏิบัติของพระที่ได้อภิญญา ไปฝึกในป่า ท่านว่า วิธีการฝึกนั้น ไม่สามารถเอามาเผยแผ่ได้ เพราะจะขัดแย้งกับวิธีปฏิบัติโดยทั่วไป ชนิดหน้ามือ กับส้นเท้า
ปล.๒ การบรรลุธรรมยังมีวิธีบรรลุหลายวิธี อาจแยกเป็นหมวดหมู่ดังนี้
๑. เจโตวิมุตติ หลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งใจ
๒. ปัญญาวิมุตติ หลุดพ้นด้วยปัญญา
อาจกล่าวได้ว่า การหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุตติ เป็นการหลุดพ้นของพวกที่ได้ฤทธิ์ ส่วนปัญญาวิมุตติ เป็นของพวกที่ไม่ได้ฤทธิ์ หรือ สุกขวิปัสสโก
3 รัก โลภ โกรธ หลง น่าจะเป็น auto mode ของ อัตตา (ทำตามสัญชาติญาณ) ดังนั้น การปรารถนาที่ปราศจากอัตตา เช่นการปรารถนาจะบรรลุธรรม หรือปรารถนาจะทำลาย อัตตา ไม่ได้หวังในสรรเสริญ จึงไม่ถือเป็น กิเลสใช่หรือไม่
ปัญหาข้อนี้ตอบยากแฮะ ขอสาธยายตามที่ได้ฟังมาละกัน หลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช ลูกศิษย์สายหลวงปู่ดูลย์ อตุโล (สายธรรมยุต แบบหลวงปู่มั่น) ร่ำเรียนช่ำชองในอภิธรรม เน้นการรู้จิต หรือ จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน เป็นแนวทางหลัก มีเจโตปริยญาณสามารถหยั่งรู้จิตผู้อื่น โดยเห็นเป็นภาพได้ ท่านจะสามารถบอกอาการของจิตที่เป็นปัจจุบันได้ ว่า เป็นจิตทื่อ ๆ บื้อ ๆ ปักแน่นอยู่ในสมาธิ เป็นจิตสว่างไสว กระฉับกระเฉง ว่องไว เพราะปฏิบัติถูกต้อง หรือเป็นจิตลักษณะอื่น ๆ (ยังมีชีวิตอยู่นะ มาแสดงธรรมที่ศาลาลุงชิน แถว ถ.แจ้งวัฒนะ ทุกเดือน) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การอยากปฏิบัติ อยากหลุดพ้น หรืออยาก อะไรอื่น ๆ ทั้งที่เป็นกุศล และอกุศล ถือว่า มีโลภเจตนา ครอบงำอยู่ทั้งสิ้น
ส่วนหลวงพี่เล็ก ศิษย์เอกของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เป็นผู้เดียวที่ทำการ "เป่ายันต์เกราะเพชร" หลังหลวงพ่อมรณภาพ อันอาจถือได้ว่า เป็นผู้ที่ถ่ายทอดวิชาของหลวงพ่อฤๅษีมาเยอะที่สุด ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การอยากปฏิบัติ การอยากฟังธรรม การอยากหลุดพ้น และการอยากอื่น ๆ ที่เป็นกุศล เป็น "ธรรมฉันทะ" ความพอใจในธรรม ไม่ถือเป็นกิเลส ถ้าไม่มีความพอใจในการปฏิบัติเสียแล้ว จะเอาความเพียรมาจากไหน ให้มานั่งสมาธิ ให้มาเดินจงกรม กลับบ้านไปนอนตีพุงเสียดีกว่า
ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า คิดว่า น่าจะยึด มัชฌิมาปฏิปทา ไว้เป็นหลักใหญ่ อยากมากไป ก็กลายเป็นกิเลส อยากน้อยไป ก็ขี้เกียจ เอาแบบพอดี ๆ ดีกว่า แล้วคำพูดทั้งหลาย ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมติ หากจะโต้แย้งกันด้วยคำพูด ก็คงแย้งกันไม่จบ เพราะบางที เราอาจนิยามสิ่งสมมติไม่เหมือนกัน เช่น โยมอาจนิยาม อัตตา ไว้ในใจอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าก็มีคำนิยามของ อัตตา ในใจ อีกอย่างหนึ่ง หลวงพ่อปราโมทย์ ก็อาจจะเข้าใจคำว่า อัตตา ไปอีกอย่างหนึ่ง หลวงพี่เล็ก ก็อาจจะให้ความหมาย คำว่า อัตตา ไปอีกทางหนึ่ง และที่เราคุยกันไม่ใช่เรื่อง อัตตา เรื่องเดียว แต่มีหลาย ๆ ตัวแปร ซึ่งแต่ละตัวก็มี distortion ของมัน นำมารวมกัน อาจจะคูณกัน บวกกัน หรือ ยกกำลังกัน ก็ได้ หรือ อาจ amplified กันจน error เข้าใกล้อนันต์ก็เป็นได้
กิเลส แปลว่า เครื่องเศร้าหมองของจิต อะไรทำให้จิตเศร้าหมอง สิ่งนั้นก็เป็นกิเลส
กิเลส มีรากเหง้ามาจาก อกุศลมูล ได้แก่ รัก โลภ โกรธ หลง กิเลสเขาแบ่งได้ ๑,๕๐๐ อย่าง แต่สรุปให้สั้นแล้ว ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ นั่นละ
นี่อย่างไรเล่า เขาถึงให้ฝึกสติ สติที่ตื่น ว่องไว กระฉับกระเฉง จะทราบชัดเลยว่า กิเลสโผล่มาตอนไหน กิเลสนั้น เป็นชนิดไหน จะใช้อะไรดับ ฯ
ใครอ่านลงมาถึงบรรทัดนี้ได้ นิพพานแน่ ๆ
เจริญในธรรม ฯ