วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

๒ ความจริงของการให้ทาน (๑)by Dhammasarokikku

IMG_2540พอดีได้คุยกับโยมพี่ชายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือในกรณีภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งหลายองค์กรที่ดูน่าไว้วางใจ ก็กลับกลายเป็นอื่น มีคำกล่าวหาผู้ทำบุญว่า ไม่ควรทำบุญแบบ "ชุ่ย ๆ" ทำบุญแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ แล้วผลประโยชน์ไปตกที่ใครก็ไม่ทราบ

ได้รับฟังความเห็นแล้ว คาดว่า คงมีคนไม่น้อย รู้สึกเช่นเดียวกับโยมพี่ชาย เวลาที่ทำบุญไปแล้ว ได้รับข่าวคาวไม่ค่อยดีจากองค์กรรับบริจาคนั้นแล้วก็เกิดความไม่สบายใจ

ข้าพเจ้าขอยืนยันนอนยันครับว่า ทานที่ท่านให้แล้ว ไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหน ที่ไม่มีผล ไม่มี ครับ (นิเสธเยอะไปหน่อยไหมนี่ แต่สำนวนแบบพระไตรปิฎกท่านว่าอย่างนี้จริง ๆ นะครับ สรุปแล้วคือนิเสธซ้อนนิเสธ ก็กลายเป็น "ทานที่ท่านให้แล้ว ไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหน มีผลแน่นอน")

เรื่องทานนี้มีคนไม่น้อยยังก่งก๊งเข้าใจผิดอยู่ แม้ผ่านการทำบุญมานักต่อนักก็ตาม หากทำบุญด้วยกำลังใจไม่ถูกต้อง ทำเท่าไหร่ก็ยังก่งก๊งอยู่เหมือนเดิม เพื่อไม่ให้เสียเวลาพิมพ์ใหม่อีกรอบ ขอฉายหนังซ้ำครับ จากเอ็นทรี่เก่า ๆ ที่เคยเขียนไว้นานแล้ว เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งครับว่า ความรู้ในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องสมบูรณ์แบบนั้นแม้กระทั่งการปฏิบัติง่าย ๆ อย่างการทำทาน ก็นึก ๆ คิด ๆ ฝัน ๆ เอาเองไม่ได้ ต้องอาศัยเรียนรู้จากพระบรมศาสดาเท่านั้น ผู้ที่สามารถรู้แจ้งด้วยตนเองนอกจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีพระปัจเจกพุทธเจ้า (ตรัสรู้ด้วยตนเองเช่นกัน แต่ไม่ได้ตั้งศาสนา) ซึ่งจักมาอุบัติในช่วงที่โลกว่างพระพุทธศาสนาเท่านั้น เรา ๆ ท่าน ๆ นี้เกิดมาในยุคที่พระไตรปิฎกยังไม่สูญหายไป อายุพระศาสนายังไม่ครบ ๕,๐๐๐ ปี ไม่มีทางที่เราจักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้เองแน่นอน เพราะฉะนั้นศึกษาหน่อยเถอะครับ จักได้ทำกำลังใจให้ถูกต้อง

เรื่องความเข้าใจผิดในการทำทานนี้เขียนสมัยที่เขากำลังฮิตการเขียนบทความแยกเป็นข้อ ๆ อ่านกันเพลิน ๆ ครับ

ความเข้าใจที่คิดเอาเองข้อที่ ๑. บุญของการทำทานจักเกิดต่อเมื่อผู้ที่รับทานของเราไปแล้ว นำทานนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม สมเจตนาผู้ให้ทานเท่านั้น

_49_103คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาข้อที่ ๑. บุญเกิดตั้งแต่คิดจักทำครับ (จิตเป็นกุศล) ทั้งขณะทำก็ได้บุญ และหลังจากทำไปแล้ว ก็ยังได้บุญอีก ขึ้นกับกำลังใจ (ที่ถูกต้อง) เป็นสำคัญ ฉะนั้นไม่ว่าคนรับทานนั้นเขาจักนำทานของเราไปใช้ประโยชน์อย่างไร ตรงเจตนาของผู้ให้หรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่าใจของผู้ให้ครับ

๑.๑ เมื่อเราเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก เกิดมีใจสงสาร อยากช่วยเหลือ หรือมีคนมาบอกบุญอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอยากทำ นี่ได้บุญไปตุนแล้ว ๑ ดอก ไม่ว่าจักได้ทำจริงหรือไม่ก็ตาม

๑.๒ ถึงเวลาได้ทำทานจริง ก็มีใจยินดี ก็ได้บุญไปอีก ๑ ดอก แม้มีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถให้ทานนั้น ๆ ได้ ก็อย่าเศร้าไปครับ ท่านได้บุญไปตุนแล้ว ๑ ดอก แม้ไม่ได้ลงมือทำจริง

๑.๓ ครั้นทำทานไปแล้ว รู้สึกปลาบปลื้มใจ มีความสุข มีปีติ (ส่วนใหญ่มาจากการที่เห็นคนรับมีความสุข) นั่นก็ได้บุญไปอีก ๑ ดอก และนานไปคิดถึงบุญนี้อีก ก็ได้บุญอีก ไม่จำกัด สรุปแล้วทำทานแล้วได้บุญแบบคุ้ม ๆ ก็คิดถึงบุญที่ได้ทำไปบ่อย ๆ ครับ (เรียกว่า "จาคานุสสติกรรมฐาน")

๑.๔ แม้ทานที่เราให้ไปแล้ว เขาเอาไปทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ได้นำไปใช้สมเจตนาของเรา ถ้าเราทำกำลังใจให้ถูก ก็ได้บุญอีก เป็นบุญใหญ่กว่าทั้ง ๓ ดอกที่ว่ามาด้วย บุญที่ว่า เกิดจาก "จาคะ" ครับ จาคะนี้แปลว่า "สละ" แตกต่างจากทานปกติ คือ ทานนั้นจักเน้นไปที่ผู้รับทาน มากกว่าผู้ให้ทาน แต่จาคะนี้เน้นไปที่ใจของคนให้ครับ คือ สละออก สละทรัพย์สิน เพื่อละความตระหนี่ถี่เหนียวออกจากใจ หรือละความโลภออกจากใจ ผู้รับทานจึงไม่ค่อยสำคัญนักในแง่ของจาคะ และจาคะที่ได้บุญสูงสุดคือการสละออกเพื่อละความเห็นผิดว่า "นี่คือของเรา" ทานทั้งหลายนี่คือ ทาน "ของเรา" ความเห็นที่ถูกต้องคือ ทานนี้เราได้ให้เขาไปแล้ว มันก็ไม่ใช่ "ของเรา" อีกต่อไป การไม่เห็นว่ามีสิ่งใดในโลกนี้เป็นของเรา จัดเป็นวิปัสสนาญาณ ได้บุญมากขริง ๆ ที่สุดแม้ร่างกายของเราก็ไม่ใช่ของเรา พอมันเสื่อมได้ที่(ป่วย) เราก็ทิ้งมันไว้ในโลกนี้ เอากระไรไปกับเราไม่ได้เลยแม้ผมสักเส้นก็เอาไปไม่ได้ เราแค่ "ยืม" โลกมาใช้ ใช้เสร็จแล้วเราก็ "คืน" ให้โลกไป

นี่คือข้อยืนยันครับว่า ทานที่เราได้ให้แล้ว ที่ไม่มีผล ไม่มี แม้ทานที่ให้ไปไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามที่เราต้องการให้เป็น เราก็ได้ "จาคะ" อยู่ดี ทำกำลังใจให้ถูก ได้บุญเยอะยิ่งกว่า เขาเอาทานของเราไปใช้ประโยชน์สมใจเราเสียอีก เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯของเราเคยตรัสสนทนาธรรมกับหลวงพ่อพระราชพรหมยานเถระ หรือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำด้วยว่า "จาคะตัวเดียว ถึงนิพพานหรือไม่?" หลวงพ่อวินิจฉัยว่า "ได้" ตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น คือถ้าทำเพื่อ "ละ" กิเลสละก็ ถึงนิพพานแน่นอน

เอาละ อาจจักงง ๆ ก่งก๊งอยู่กับคำว่า "จาคะ" เรามาลองยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ตามความรู้ที่เราอาจได้ทราบมาบ้างแล้ว คือ ทำทานให้สัตว์เดรัจฉาน ๑ บาท มีอานิสงส์ไม่ได้หนึ่งในแสนล้านล้านของการทำบุญให้พระอรหันต์ ๑ บาท ถูกไหมครับ แต่ในแง่จาคะแล้ว ระหว่างทำทานให้สัตว์เดรัจฉาน กับทำบุญให้พระอรหันต์ เราสละความตึ๋งหนืดของเราออก ๑ บาทเท่ากัน พอเห็นภาพไหมครับ?

แต่ส่วนใหญ่คนเราไม่ได้ศึกษาสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสให้ดีครับ พอเห็นเขาเอาทานของเราไปใช้ไม่ถูกไม่ควร ไม่ตรงใจเรา ก็เกิดความโกรธ ความเศร้าหมอง เกิดความรู้สึกว่า "ชั้นจักไม่ทำบุญอีกแล้ว" ความเศร้าหมองของจิตหลังจากให้ทานไปแล้วนี้เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นว่า นี่คือทาน "ของเรา" ใช่หรือไม่?

อย่างไรก็ดี ความยึดมั่นถือมั่นนี้ มันคือเรื่องปกติของมนุษย์ปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลสครับ แม้ข้าพเจ้าเองก็ยังตัดให้ขาดไม่ได้ อย่างที่เคยเขียนไว้ใน กำแพงที่ข้ามได้ยาก

ความเข้าใจที่คิดเอาเองข้อที่ ๒. ชาวพุทธมักทำบุญแบบ "ชุ่ย ๆ" ไม่ไปดู ไปแลเลยว่า สิ่งที่ทำบุญไปแล้ว ไปทางไหนบ้าง คนที่มาบอกบุญเป็นมิจฉาชีพหรือเปล่า? ถ้าเขาเป็นมิจฉาชีพ ๑๘ มงกุฏ การทำทานกับเขามิยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เขาทำความเลวยิ่ง ๆ ขึ้นไปหรือ?

_70_914คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาข้อที่ ๒. พระพุทธองค์มิได้สอนให้สาวกของพระองค์เป็นคนชุ่ยครับ แต่สอนให้พินิจพิจารณาก่อนทำ นิสัมมะ กะระณัง เสยโย คิดให้ดีก่อนแล้วทำ จึงดี ครั้นพิจารณาจนถ้วนถี่เต็มกำลังสติปัญญาสุดความสามารถที่ทำได้แล้ว ก็ค่อยทำ ทำเสร็จแล้วก็ให้ปล่อยวาง (อุเบกขา) คือมันจักดีหรือไม่ดี มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเราแล้ว มันกลายเป็นอดีตทีี่ผ่านไปแล้ว หากมันไม่ดี ไปคิดแค้นคิดโกรธสิ่งใดก็ไม่ได้กระไรขึ้นมา อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ การติดตามผลของทานที่เราทำไป ถ้าทำได้ก็ดีครับ เผื่อว่า เขามีเจตนาไม่ดี มาบอกบุญอีก เราจักได้ไม่ทำเพิ่มเติม แต่ส่วนใหญ่การติดตามผลมักเกินกำลังที่เราทำได้ เขาเหล่านั้นไม่ใช่คณะรัฐมนตรีที่เราจักไปยื่นขอไม่ไว้วางใจได้ ฉะนั้นใคร่ครวญพิจารณาให้ดีตั้งแต่ก่อนทำครับ ทำไปแล้ว ก็แล้วกันไป ไม่ใช่ "ของเรา" แล้ว (ตามข้อ ๑)

อีกอย่าง การที่เราทำบุญใดใดอย่างหนึ่ง กับการที่เขาเอาทานของเราไปทำกระไรอย่างหนึ่ง ๒ อย่างนี้คนละกรรม คนละวาระกันครับ เราทำกรรมกระไรไว้ เราก็ต้องได้รับอย่างนั้น เขาทำกรรมกระไร เขาก็ได้รับกรรมอย่างนั้นเช่นกัน กัลยาณการี กัลยาณัง ปาปะการี จะ ปาปะกัง ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว ชาวพุทธเชื่อกฎแห่งกรรมครับ มิใช่ให้กระไรแบบ "ชุ่ย ๆ"

เนื้อหาเรื่องการทำทานนี้ เป็นทฤษฎีล้วน ๆ ไม่อาจสอดแทรกกระไรเบาสมองได้ เลยขอตัดจบสั้น ๆ แค่ ๒ ข้อก่อน ตอนหน้าจักมาสาธยายเพิ่มเติม ฯ

ปล. มีการทำบุญอยู่แบบหนึ่งครับ ที่ทำให้ผู้ทำบุญถูกหวยบ่อย ๆ คือ การทำบุญแบบมิได้วางแผนมาก่อน หรือมิได้วางแผนล่วงหน้า เห็นปุ๊บทำเลย การทำบุญลักษณะนี้มีผลให้ได้ลาภลอย ได้โชคแบบไม่คาดฝัน กระไรเทือกนั้น จักสังเกตค่าสถิติอย่างมีนัยสำคัญได้ว่า ผู้ที่ถูกหวยบ่อย ๆ มักไม่ค่อยคิดใคร่ครวญกระไรในชีิวิตมากมาย ส่วนท่านที่กว่าจักทำบุญทีคิดแล้วคิดอีก อย่าไปพยายามซื้อหวยเลยครับ ลาภของท่านมักมาจากสิ่งที่ท่านได้คิดใคร่ครวญอย่างดีแล้วนั่นแล ส่วนท่านที่หลงใหลได้ปลื้มกับการเล่นหวย รู้อย่างนี้แล้วอย่าพยายามนำไปเลียบแบบเลยครับ เพราะการทำบุญหวังถูกหวย ก็เท่ากับยังยินดีเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั่นแล เพราะทำบุญแล้ว "ขอให้ถูกหวย" = "ขอให้กลับมาเกิดแล้วชาติหน้าถูกหวย" ฉะนั้นทำบุญทุกอย่าง ขอให้ไม่ต้องเกิดแล้วนี่ละ ดีที่สุดครับ

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons