มาว่ากันต่อไปครับ ถึงสิ่งที่มักเข้าใจผิดในการให้ทาน ตอนที่แล้วว่าไป ๒ ข้อ คือเรื่องของบุญเกิดตอนไหน ตอนเราให้ หรือตอนเขาเอาของเราไปใช้ กับปรับความเห็นสำหรับคนที่เข้าใจว่า ชาวพุทธให้ทานแบบ "ชุ่ย ๆ" วันนี้จักได้สาธยายเพิ่มเติมอีก ๒ ข้อ ดังนี้
ความเข้าใจที่คิดเอาเองข้อที่ ๓. บุญเกิดเมื่อทานนั้นได้รับการประกาศ ให้ประชาชนทั่วไปทราบ ไม่ได้รับการประกาศ ก็เป็นอันไม่ได้บุญ
คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาข้อที่ ๓. จักประกาศหรือไม่ ก็ได้บุญไปแล้วครับ ถ้าทำกำลังใจได้ตามเงื่อนไขข้อ ๑ ความเชื่อเรื่องการประกาศบุญนี้แพร่หลายในหมู่คนที่นับถือเทพเจ้าครับ ยิ่งถ้าความเชื่อนี้พัฒนาไปจนกลายเป็นการทำบุญเพื่อเอาหน้า หรือได้หน้า อย่างนั้นเป็นอันไม่ได้บุญไปเลย น่าเสียดายครับ บางคนทำทานเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน แต่บุญที่เขาได้นั้นนิดเดียว บางทีก็ไม่ได้เลย หนักที่สุด บางกรณีทำบุญแล้วกลับได้บาปก็มี (เช่น ทำบุญเอาหน้ากันจนเกินพอดี แล้วเกิดอิจฉาจนกล่าววาจาทำร้ายจิตใจ หรือทำร้ายร่างกายกัน เป็นต้น)
เรื่องการประกาศการทำบุญให้โลกรู้นี้ เท่าที่นึกออกมี ๓ แบบครับ อย่างหนึ่งคือประกาศด้วยความเมตตา อยากให้ผู้อื่นได้รับบุญที่เราทำด้วย (คือให้ผู้อื่นโมทนา) อย่างนี้ดีครับ ควรทำให้มาก เพราะมันคือพรหมวิหาร ๔ เป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับกิเลสโทสะ กับอีกอย่างหนึ่ง คือต้องประกาศเพื่อความโปร่งใส เพื่อความสบายใจของเจ้าภาพทุกท่าน ทุกฝ่าย อย่างนี้กลาง ๆ ไม่เสียหายกระไร อย่างสุดท้ายคือประกาศ เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า ฉันยังมีตัวตนอยู่ ฉันเป็นคนดี ฉันใจบุญ นี่มันไปสนองอุปกิเลสที่ละเอียดขึ้นไปกว่ากิเลสความโลภธรรมดา คือไปพอใจในโลกธรรม มีการสรรเสริญ เป็นต้น ยิ่งสนองอัตตาตัวตนมากเท่าไหร่ ยิ่งเอาทานที่ทำแลกกับคำสรรเสริญ ชื่อเสียง ความนับหน้าถือตา มากเท่าไหร่ อานิสงส์ของบุญนั้นยิ่งน้อยลงเท่านั้น
ความต้องการของมนุษย์ขั้นสูง ๆ ขึ้นไป ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ทรัพย์สินครับ แต่คือการยอมรับจากสังคม องค์กรการกุศลบางองค์กรใช้จุดอ่อนตรงนี้ของมนุษย์ ป่าวประกาศคุณความดีของผู้ใจบุญ เสียจนเจ้าภาพยิ้มหุบไม่ลง หลงใหลไปกับคำป้อยอสรรเสริญ และการมีชื่อเสียง แล้วองค์กรนั้นก็ได้ทุนมาทำนู่นทำนี่ได้มหาศาล
ความเข้าใจที่คิดเอาเองข้อที่ ๔. อานิสงส์ของทานนั้นได้มากน้อยตามความต้องการของผู้รับ เช่น ให้อาหารแก่คน หรือสัตว์ที่กำลังหิว ให้ทานเครื่องแบบนักเรียนแก่เด็กนักเรียนยากจน เป็นต้น หากผู้รับขาดแคลนมาก มีความต้องการมาก ก็ได้อานิสงส์มาก ถ้ามิได้มีความต้องการในทานที่เราให้ เป็นอันไม่ได้บุญ หรือมีอานิสงส์น้อย
คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาข้อที่ ๔. จริงอยู่ การให้ทานแก่ผู้ที่กำลังต้องการทานที่เราจักให้ในขณะนั้น มีอานิสงส์พิเศษกว่าการให้ทานที่ผู้รับไม่ได้ต้องการในขณะนั้น (ประมาณว่า ผลแห่งทานนั้นทำให้เราได้รับของที่เราต้องการในเวลาที่เราต้องการเช่นกัน) แต่อานิสงส์นั้นก็ไม่ได้เกินไปกว่าที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงอานิสงส์แห่งทานไว้ใน ทักขิณาวิภังคสูตร จำแนกผู้ทำบุญด้วยอย่างเจาะจงแล้ว มีผลมากน้อยไว้เป็นลำดับถึง ๑๔ ลำดับ ได้แก่ ทานที่ถวายโดยเฉพาะเจาะจงแด่ พระพุทธเจ้า มีอานิสงส์มากกว่าทานที่ถวายจำเพาะเจาะจงให้ พระปัจเจกพุทธเจ้า, ทานที่ถวายโดยเฉพาะเจาะจงแด่ พระปัจเจกพุทธเจ้า มีอานิสงส์มากกว่าทานที่ถวายจำเพาะเจาะจงให้ พระอรหันตสาวก แล้วก็ไล่ไปโดยลำดับดังนี้ พระอนาคามี, พระสกทาคามี, พระโสดาบัน, นักบวชนอกศาสนาที่ได้โลกียอภิญญาสมาบัติ (สังเกตความใจกว้าง พระองค์มิได้จำกัดว่า ต้องทำบุญเฉพาะกับพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ว่ากันตามเนื้อผ้า เรื่องอภิญญาสมาบัติ หรืออิทธิฤทธิ์ เป็นของสาธารณะ ครับ นักบวชนอกพระพุทธศาสนาก็ทำได้ เพราะฉะนั้น ชาวพุทธเถรวาท เห็นผู้มีฤทธิ์แล้ว ต้องไม่ตื่นมงคล ครับ แม้กระทั่งง่าย ๆ อย่างดูดวงได้แม่นยำ ท่านที่ได้ฌานโลกีย์ก็ทำได้ และไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาพุทธเสียด้วยซ้ำ การมีอิทธิฤทธิ์ มิได้วัดคุณธรรมใด ๆ เลย ดูอย่างพระเทวทัตสิ ได้อภิญญาห้า ในอภิญญาหก ยังไปอเวจีมหานรกเลย), ฆราวาสที่มีศีล, ฆราวาสที่ทุศีล และสัตว์เดรัจฉาน (ไม่รวมสัตว์ที่เลี้ยงไว้ และการให้ทานสัตว์เดรัจฉาน ต้องให้พออิ่ม ครับ ถึงจักมีอานิสงส์ : คัดจากตำราเรียนวิชาพุทธานุพุทธประวัติ หรือปฐมสมโพธิกถา) เห็นได้ชัดว่า มิได้เกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้รับทานแม้แต่น้อย แต่กลับเป็นความบริสุทธิ์ของจิตผู้รับต่างหาก (เพราะคนที่มีจิตบริสุทธิ์มาก ๆ เขาจักไม่ต้องการทานจากใครหรอก ที่รับทานไว้ก็หวังอานิสงส์จักตกแก่ผู้ถวายทานเท่านั้น) ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ การทำบุญกับพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสาวก ท่านทั้งหลายนี้ขาดแคลนสิ่งที่เราจักถวายหรือไม่? อยากได้ของที่เราจักถวายหรือเปล่า? ไม่เลยใช่หรือไม่?
เหนือขึ้นไปกว่าการให้ทานอย่างเจาะจงตัวบุคคลที่เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน แล้ว พระพุทธองค์ยังทรงแสดงอามิสทาน (ทานที่ทำด้วยวัตถุ) ที่มีอานิสงส์ยิ่งกว่าถวายให้พระองค์เองเสียอีก คือการถวายปัจจัยไทยทานแด่หมู่สงฆ์โดยไม่จำเพาะเจาะจง ที่เรียกว่า "สังฆทาน"
พระอรหันตสาวกชั้นหลัง ๆ ได้เสริมเพิ่มเติมการทำทานที่มีอานิสงส์สูงกว่านั้น ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้แก่ วิหารทาน (สังฆทานรูปแบบหนึ่ง เป็นถาวรวัตถุ อายุการใช้งานยาวนาน) และที่สุดคือ ธรรมทาน (การให้ธรรมเป็นทาน ดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ การให้ธรรมเป็นทาน ชนะทานทั้งปวง) ส่วนทานที่มีอานิสงส์สูงกว่านี้ ไม่ใช่อามิสทานแล้วครับ เป็นทานที่มิได้ใช้วัตถุทำ แต่ใช้ใจทำ คือ อภัยทาน ยิ่งให้อภัยเพื่อถวายพระพุทธเจ้าเป็นปฏิบัติบูชา ยิ่งอานิสงส์ไม่มีประมาณ อาจหลุดออกจากวงโคจรที่เรียกว่า "วัฏสงสาร" ได้ง่าย ๆ เพราะมันไปทำลายกิเลสโทสะ ระงับกิเลสโทสะได้ โลภะ ราคะ ก็ไม่มีที่อยู่ครับ พังครืนไปพร้อมกัน ฉะนั้นมาให้อภัยกันเยอะ ๆ ครับ ไม่ต้องใช้สตางค์สักบาท ได้บุญมาก แล้วแถมสังคมก็จักน่าอยู่ พึ่งพาอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างผาสุข
๒ ความจริงของการให้ทานตอนที่ ๒ ก็เอวังด้วยประการฉะนี้ ฯ