วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาและเฉลยทุกวิชา,ตรี ,โท,เอก สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๔๘

_5_176

กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

วันศุกร์ ที่ ๑๘ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

clip_image002

อนตฺถํ ปริวชฺเชติ อตฺถํ คณฺหาติ ปณฺฑิโต.

บัณฑิตย่อมเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์.

องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๕๙

-------------------

แต่งอธิบายให้สมเหตุสมผล อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบด้วย ๑ ข้อ และ
บอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย สุภาษิตที่อ้างมานั้น ต้องเรียงเชื่อมความ
ให้ติดต่อสมเรื่องกับกระทู้ตั้ง.

ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๒ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

-------------------

ให้เวลา ๓ ชั่วโมง

_20_299

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

วันเสาร์ ที่ ๑๙ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

 

๑. ธรรมมีอุปการะมาก ได้แก่อะไรบ้าง ? บุคคลผู้ขาดธรรมนี้จะเป็นเช่นไร ?

๑. ได้แก่ สติ ความระลึกได้ และ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ฯ จะเป็นคนหลงลืม
จะทำจะพูดหรือจะคิดอะไรมักผิดพลาด ฯ

๒. บุพพการีและกตัญญูกตเวที คือบุคคลเช่นไร ? จัดเป็นคู่ไว้อย่างไรบ้าง ?

๒. บุพพการี คือบุคคลผู้ทำอุปการะก่อน กตัญญูกตเวที คือบุคคลผู้รู้อุปการะ
ที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน ฯ จัดเป็นคู่ไว้ดังนี้ บิดามารดา กับ บุตรธิดา,
ครูอาจารย์ กับ ศิษย์, พระมหากษัตริย์ กับ ประชาราษฎร์, พระพุทธเจ้า กับ
พุทธบริษัท, เป็นต้น ฯ

๓. พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ชื่อว่ารัตนะ เพราะเหตุไร ?

๓. เพราะเป็นของมีคุณค่าและหาได้ยาก เหมือนเพชรนิลจินดามีค่ามาก นำประโยชน์
และความสุขมาให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ ฯ

๔. ธรรม ๔ อย่าง ดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ ข้อว่า คบสัตบุรุษ คือคนดี นั้น
จะนำไปสู่ความเจริญได้อย่างไร ?

๔. เมื่อคบสัตบุรุษแล้วย่อมเป็นเหตุให้คิดดีพูดดีทำดี อันก่อให้เกิดความสุขความเจริญ
ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน ทั้งยังให้ถึงความเจริญ
อย่างที่สุดคือพระนิพพานได้ ฯ

๕. ปัจจยปัจจเวกขณะ หมายความว่าอย่างไร ?

๕. หมายความว่า พิจารณา (ถึงคุณและโทษของปัจจัย ๔) ก่อน จึงบริโภคปัจจัย ๔
คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา ฯ

๖. ขันธ์ ๕ ได้แก่อะไรบ้าง ? ย่อเป็น ๒ ได้อย่างไร ?

๖. ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์ ฯ

รูปขันธ์จัดเป็นรูป ที่เหลือจัดเป็นนาม ฯ

๗. อปริหานิยธรรม คืออะไร ? ข้อที่ ๔ ความว่าอย่างไร ?

๗. คือ ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว ฯ

ข้อที่ ๔ ความว่า ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุ
เหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน ฯ

๘. ในมรรคมีองค์ ๘ คำว่า เพียรชอบ คือเพียรอย่างไร ?

๘. คือ

เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน

เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน

เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ฯ

๙. บุคคลจะได้รับประโยชน์ปัจจุบัน จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรมอะไร ?

๙. ต้องปฏิบัติตามหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ

๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจการงาน
ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำธุระหน้าที่ของตน

๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา ทั้งทรัพย์และการงาน ไม่ให้เสื่อมไป

๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว

๔. สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ฯ

๑๐. มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความสุข พระพุทธศาสนาแสดงความสุขของผู้ครองเรือน
ไว้อย่างไร ?

๑๐. แสดงไว้ ๔ อย่าง คือ

๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์

๒. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค

๓. สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้

๔. สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ฯ

ผู้ออกข้อสอบ

:

.

พระธรรมกวี

วัดราชาธิวาส

.

พระเทพรัตนสุธี

วัดปทุมคงคา

.

พระราชวรมุนี

วัดดุสิดาราม

ตรวจ/ปรับปรุง

:

สนามหลวงแผนกธรรม

_3_762

ปัญหาและเฉลยวิชาพุทธประวัติ นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

 

๑. ประชาชนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็นกี่วรรณะ ? อะไรบ้าง ? มีหน้าที่ต่างกันอย่างไร ?

๑. แบ่งออกเป็น ๔ วรรณะ คือ

๑. กษัตริย์ มีหน้าที่ปกครอง

๒. พราหมณ์ มีหน้าที่ทางฝึกสอนและทำพิธี

๓. แพศย์ มีหน้าที่ทางทำนาค้าขาย

๔. ศูทร มีหน้าที่รับจ้าง ฯ

๒. ในวันเสด็จแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะบังคมสิทธัตถราชกุมารผู้ประทับนั่งใต้
ต้นหว้า เพราะเหตุไร ?

๒. เพราะทรงเห็นอัศจรรย์ในขณะที่สิทธัตถราชกุมารประทับนั่งใต้ต้นหว้า เงาของ
ต้นหว้าไม่คล้อยไปตามตะวัน แม้จะเป็นเวลาบ่ายแล้ว ยังดำรงอยู่เสมือน
เที่ยงวัน ฯ

๓. พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา เพราะทอดพระเนตรเห็นอะไร ? และเมื่อเห็น
แล้วทรงพระดำริอย่างไร ?

๓. เพราะทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ฯ
ทรงพระดำริว่า บุคคลทั่วไปเมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต ถูก
ความเจ็บ ความแก่ ความตายครอบงำ ไม่ล่วงพ้นไปได้ ถึงพระองค์เองก็มี
อย่างนั้นเป็นธรรมดา ควรแสวงหาอุบายเครื่องพ้น ธรรมดาสภาวะทั้งปวงย่อมมี
ของที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามแก้กัน เช่นมีร้อนก็ต้องมีเย็นแก้ มีมืดก็ต้องมีสว่างแก้
แต่ฆราวาสเป็นที่คับแคบ ดุจเป็นทางที่มาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอที่
จะแสวงหาอุบายนั้นได้ จึงน้อมพระทัยไปในบรรพชา ฯ

๔. พระญาณที่เกิดขึ้นแก่พระมหาบุรุษในวันที่ตรัสรู้นั้น คืออะไรบ้าง ?

๔. คือ

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณเป็นเครื่องระลึกถึงชาติหนหลังของ
พระองค์ได้

๒. จุตูปปาตญาณหรือทิพพจักขุญาณ ญาณหยั่งรู้การจุติและการเกิดของ
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกรรม

๓. อาสวักขยญาณ ญาณเป็นเหตุสิ้นอาสวะอันหมักหมมอยู่ในจิตตสันดาน ฯ

๕. อนุปุพพีกถา คืออะไรบ้าง ? ทรงแสดงแก่ใครเป็นครั้งแรก ?

๕. คือ ทาน ศีล สวรรค์ กามาทีนพ และเนกขัมมานิสงส์ ฯ แก่ยสกุลบุตร ฯ

๖. ในวันจาตุรงคสันนิบาต พระศาสดาทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่ใคร ? ที่ไหน ?
ทรงยกธรรมข้อใดขึ้นแสดงเป็นข้อต้น ?

๖. ทรงแสดงแก่พระอรหันตขีณาสพ จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ฯ ณ เวฬุวนาราม
แคว้นมคธ ฯ ทรงยกธรรมข้อขันติขึ้นแสดงเป็นข้อต้น ฯ

๗. พระปัจฉิมโอวาท มีใจความว่าอย่างไร ? ทรงประทานที่ไหน ?

๗. มีใจความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้พระตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง
อันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ฯ
ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ฯ

ศาสนพิธี

๘. ศาสนพิธี คืออะไร ? ผู้ที่ได้เรียนรู้แล้วได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง ?

๘. คือ แบบอย่าง หรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระศาสนา ฯ ย่อมได้รับ
ประโยชน์ คือ เป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรมที่เกี่ยวด้วยการบำเพ็ญกุศล การทำบุญ
และการถวายทาน สามารถในการจัดพิธีต่างๆ ได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน
ชื่อว่าเป็นผู้รักษาขนบประเพณีอันงดงามของพระพุทธศาสนาไว้ได้ด้วย ฯ

๙. วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันอะไรทางจันทรคติ ? มีความสำคัญอย่างไร ?

๙. ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๘ ก่อนวันเข้าปุริมพรรษา ๑ วัน ฯ มีความสำคัญ เพราะเป็น
วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตน-
มฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในปีที่ตรัสรู้ใหม่ และผลของการแสดงพระ
ธรรมเทศนากัณฑ์นี้ เป็นเหตุให้พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม และทูลขอ
บรรพชาอุปสมบท เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา จึงเป็นวันที่มี
รัตนะครบ ๓ บริบูรณ์ เรียกว่าพระรัตนตรัย ฯ

๑๐. อุโบสถ กับ ปกติอุโบสถ หมายถึงอะไร ?

๑๐. อุโบสถ หมายถึง การเข้าจำ คือการจำศีล เป็นอุบายขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ
ให้เบาบาง เป็นทางแห่งความสงบระงับอันเป็นความสุขอย่างสูงสุดในพระพุทธ
ศาสนา ฯ ปกติอุโบสถ หมายถึง อุโบสถที่รักษากันในวันพระตามปกติ เฉพาะ
วันหนึ่งคืนหนึ่งอย่างที่อุบาสกอุบาสิการักษาอยู่ในปัจจุบัน ฯ

ผู้ออกข้อสอบ

:

.

พระเทพปัญญามุนี

วัดปทุมวนาราม

.

พระราชธรรมมุนี

วัดจักรวรรดิราชาวาส

.

พระศรีธรรมเมธี

วัดมหรรณพาราม

ตรวจ/ปรับปรุง

:

สนามหลวงแผนกธรรม

 

_10_230ปัญหาและเฉลยวิชาวินัย นักธรรมชั้นตรี

สอบในสนามหลวง

วันจันทร์ ที่ ๒๑ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

 

๑. กิจที่บรรพชิตไม่ควรทำเรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ?

๑. เรียกว่าอกรณียกิจ ฯ มีดังนี้คือ

๑. เสพเมถุน

๒. ลักทรัพย์

๓. ฆ่าสัตว์

๔. พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ฯ

๒. ภิกษุฆ่าสัตว์ให้ตายและพยายามฆ่าตนเอง ต้องอาบัติอะไร ?

๒. ฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องอาบัติปาราชิก

ฆ่าอมนุษย์ให้ตาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย

ฆ่าสัตว์เดรัจฉานทั่วไปให้ตาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

พยายามฆ่าตนเอง ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

๓. คำต่อไปนี้มีความหมายอย่างไร ?

ก. สจิตตกะ

ข. อจิตตกะ

๓. ก. อาบัติที่ต้องเพราะมีเจตนาล่วงละเมิด

ข. อาบัติที่ต้องแม้ไม่มีเจตนาล่วงละเมิด ฯ

๔. ผ้าไตรจีวรคือผ้าอะไร ? ได้แก่อะไรบ้าง ?

๔. คือ ผ้า ๓ ผืนที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุอธิษฐานไว้ใช้สำหรับตนเอง ฯ ได้แก่ สังฆาฏิ
(ผ้าคลุม) อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ฯ

๕. อติเรกบาตร คืออะไร ? ภิกษุเก็บไว้เกินกี่วัน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ?

๕. คือ บาตรนอกจากบาตรอธิษฐาน ฯ เกิน ๑๐ วัน ฯ

๖. เภสัช ๕ ที่ภิกษุรับประเคนแล้วเก็บไว้ฉันได้ไม่เกิน ๗ วัน ได้แก่อะไรบ้าง ?

๖. ได้แก่ เนยใส ๑ เนยข้น ๑ น้ำมัน ๑ น้ำผึ้ง ๑ น้ำอ้อย ๑ ฯ

๗. บุคคลที่เรียกว่า ปริพาชก และ ปริพาชิกา คือใคร ? ภิกษุให้ของเคี้ยวก็ดี ของกิน
ก็ดี แก่บุคคลเหล่านั้นอย่างไรเป็นอาบัติและอย่างไรไม่เป็นอาบัติ ?

๗. ปริพาชก คือนักบวชผู้ชายนอกพระพุทธศาสนา ปริพาชิกา คือนักบวชผู้หญิง
นอกพระพุทธศาสนา ฯ ให้ด้วยมือของตนต้องอาบัติปาจิตตีย์ สั่งให้ให้ก็ดี
วางให้ก็ดี ไม่เป็นอาบัติ ฯ

๘. เมื่อภิกษุได้จีวรใหม่มา ก่อนที่จะนุ่งห่ม ต้องทำพินทุด้วยสี ๓ สี อย่างใด
อย่างหนึ่ง คือสีอะไรบ้าง ?

๘. คือ

๑. สีเขียวคราม

๒. สีโคลน

๓. สีดำคล้ำ ฯ

๙. เสขิยวัตรคืออะไร ? ถ้าไม่เอื้อเฟื้อต้องอาบัติอะไร ?

๙. คือวัตรหรือธรรมเนียมที่ภิกษุจะต้องศึกษา ฯ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

๑๐. ในพระวินัย กำหนด ๑ ปีมีกี่ฤดู ? อะไรบ้าง ? ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘
ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นฤดูอะไร ?

๑๐. ๓ ฤดู คือ ฤดูหนาว ๑ ฤดูร้อน ๑ ฤดูฝน ๑ ฯ ฤดูฝน ฯ

ผู้ออกข้อสอบ

:

.

พระเทพปริยัติสุธี

วัดบพิตรพิมุข

.

พระราชปริยัตยาภรณ์

วัดเขียนเขต

ตรวจ/ปรับปรุง

:

สนามหลวงแผนกธรรม

_69_122

กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

วันศุกร์ ที่ ๑๘ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

 

ยมฺหิ กิจฺจํ ตทปวิทฺธํ อกิจฺจํ ปน กยีรติ

อุนฺนฬานํ ปมตฺตานํ เตสํ วฑฺฒนฺติ อาสวา.
คนทอดทิ้งกิจที่ควรทำ ไปทำกิจที่ไม่ควรทำ เมื่อเขาถือตัว
มัวประมาท อาสวะย่อมเจริญ.

(พุทฺธ) ขุ. ธ. ๒๕/๕๔.

-------------------

แต่งอธิบายเป็นทำนองเทศนาโวหาร อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบไม่น้อยกว่า ๒ ข้อ และบอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย ห้ามอ้างสุภาษิตซ้ำข้อกัน แต่จะ
ซ้ำคัมภีร์ได้ ไม่ห้าม สุภาษิตที่อ้างมานั้น ต้องเรียงเชื่อมความให้ติดต่อสมเรื่อง
กับกระทู้ตั้ง.

ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๓ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

-------------------

 

ให้เวลา ๓ ชั่วโมง

_63_228

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

วันเสาร์ ที่ ๑๙ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

 

๑. ตจปัญจกกัมมัฏฐานได้แก่อะไรบ้าง ? จัดเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ? จงอธิบาย

๑. ได้แก่ เกสา โลมา นขา ทันตา และตโจ ฯ เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ถ้าเพ่ง
กำหนดยังจิตให้สงบด้วยภาวนา เป็นสมถะ ถ้าเพ่งพิจารณาถึงความแปรปรวน
เปลี่ยนแปลงไป หรือให้เห็นว่าเป็นทุกข์ คือทนอยู่ได้ยากและทนอยู่ไม่ได้ ต้อง
เสื่อมสลายไปในที่สุด หรือให้เห็นว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน
พิจารณาเช่นนี้เป็นวิปัสสนา ฯ

๒. มหาภูตรูป คือ อะไร ? มีความเกี่ยวเนื่องกับอุปาทายรูปอย่างไร ?

๒. คือ รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน อันประกอบด้วย ธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ฯ
เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งรูปย่อยซึ่งเรียกว่าอุปาทายรูป เมื่อรูปใหญ่แตกทำลายไป
อุปาทายรูปที่อิงอาศัยมหาภูตรูปนั้นก็แตกทำลายไปด้วย ฯ

๓. พระพุทธเจ้าทรงประพฤติประโยชน์โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพุทธัตถจริยา
คือทรงประพฤติอย่างไร ?

๓. ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า คือ ได้ทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนาให้
บริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตรู้ทั่วถึงธรรมตามภูมิชั้น และทรงบัญญัติสิกขาบท
อันเป็นอาทิพรหมจรรย์และอภิสมาจาร ฯ

๔. ทิฏฐุปาทาน และสีลัพพตุปาทาน คืออะไร ?

๔. ทิฏฐุปาทาน คือถือมั่นความเห็นผิดด้วยอำนาจหัวดื้อ จนเป็นเหตุเถียงกัน
ทะเลาะกัน สีลัพพตุปาทาน คือ ถือมั่นธรรมเนียมที่เคยประพฤติมาจนชิน
ด้วยอำนาจความเชื่อว่าขลัง จนเป็นเหตุหัวดื้องมงาย ฯ

๕. มัจจุมารได้แก่อะไร ? ได้ชื่อว่าเป็นมารเพราะเหตุไร ?

๕. ได้แก่ความตาย ฯ ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเมื่อความตายเกิดขึ้น บุคคลย่อมหมด
โอกาสที่จะทำประโยชน์ใดๆ อีกต่อไป ฯ

๖. พระพุทธคุณบทว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้
ไม่มีใครยิ่งกว่า คำว่า บุรุษที่ควรฝึกได้ นั้น หมายถึงบุคคลเช่นไร ?

๖. หมายถึงบุคคลผู้มีอุปนิสัยที่อาจฝึกให้ดีได้และตั้งใจจะเข้าใจพระธรรมเทศนา
แม้ฟังด้วยตั้งใจจะจับข้อบกพร่องขึ้นยกโทษเช่นเดียรถีย์ก็ตาม ฯ

๗. กิเลสที่ได้ชื่อว่าอนุสัยและได้ชื่อว่าสังโยชน์มีอธิบายอย่างไร ?

๗. กิเลสที่ได้ชื่อว่าอนุสัย เพราะเป็นกิเลสอย่างละเอียด นอนเนื่องอยู่ในสันดาน
ของสัตว์ มักไม่ปรากฏ ต่อเมื่อมีอารมณ์มายั่วจึงปรากฏขึ้น ฯ

กิเลสที่ได้ชื่อว่า สังโยชน์ เพราะเป็นกิเลสที่ผูกใจสัตว์ไว้กับภพไม่ให้หลุดพ้นไปได้ ฯ

๘. ในวิมุตติ ๕ วิมุตติอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นโลกุตระ ?

๘. ตทังควิมุตติ และวิกขัมภนวิมุตติ จัดเป็นโลกิยวิมุตติ ส่วน สมุจเฉทวิมุตติ
ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ จัดเป็นโลกุตรวิมุตติ ฯ

๙. พุทธภาษิตว่า ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว แต่
ปรากฏว่าผู้ทำกรรมชั่วยังได้รับสุขก็มี ผู้ทำกรรมดียังได้รับทุกข์ก็มี ที่เป็นเช่นนี้
เพราะเหตุใด ?

๙. เพราะกรรมบางอย่างให้ผลในภพนี้ บางอย่างให้ผลในภพหน้า หรือในภพต่อ ๆ ไป
ผู้ทำกรรมชั่วได้รับสุข เพราะกรรมชั่วยังไม่ได้ช่องให้ผลในขณะนั้น กรรมดีที่เขา
ทำไว้ในอดีตกำลังให้ผลอยู่ แต่กรรมชั่วนั้นยังไม่สูญหายไป ยังติดตามให้ผลอยู่
เสมอ เป็นแต่ยังไม่ได้ช่องเท่านั้น ส่วนผู้ทำกรรมดี ที่ไม่ได้รับสุขในขณะนั้น
เพราะกรรมชั่วที่เขาได้ทำไว้ในอดีตกำลังให้ผลอยู่ จึงต้องรับทุกข์ลำบากอยู่
ในขณะนั้น แต่กรรมดีที่ทำไว้นั้นยังไม่สูญหายไป ยังติดตามเขาไปเหมือนเงา
ตามตัว ฉะนั้น เมื่อได้ช่องก็ย่อมให้ผลทันที ฯ

๑๐. คำว่า วัตร ในธุดงควัตร หมายถึงอะไร ? ผู้ถือธุดงค์ข้อเตจีวริกังคะอย่าง
เคร่ง มีวิธีปฏิบัติอย่างไร ?

๑๐. หมายถึงข้อปฏิบัติพิเศษอย่างหนึ่ง ตามแต่ใครจะสมัครถือ บัญญัติขึ้น
ด้วยหมายจะให้เป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ
มีวิธีปฏิบัติอย่างนี้ ใช้เฉพาะไตรจีวรของตนเท่านั้น แม้จะซักหรือจะย้อมอันตรวาสก
ย่อมใช้อุตตราสงค์นุ่ง และใช้สังฆาฏิห่ม ฯ

ผู้ออกข้อสอบ

:

.

พระราชปัญญาเมธี

วัดไตรมิตรวิทยาราม

.

พระศรีมงคลเมธี

วัดจันทน์กะพ้อ

ตรวจ/ปรับปรุง

:

สนามหลวงแผนกธรรม

 

_43_199

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

 

๑. ประวัติอนุพุทธบุคคลมีความสำคัญต่อผู้ศึกษาอย่างไร ?

๑. ทำให้ผู้ศึกษาได้รับความรู้ในจริยาวัตรและคุณความดีที่ท่านได้บำเพ็ญมา ตลอด
จนถึงผลงานในการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาอันทำให้เจริญสืบมาถึงทุกวันนี้
นำให้เกิดความเลื่อมใสและความนับถือ เป็นทิฏฐานุคติอันดี สามารถน้อมนำมา
ปฏิบัติตามได้ ฯ

๒. คำที่มีอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรต่อไปนี้ ได้แก่อะไร ?

ก. ส่วนสุด ๒ อย่าง

ข. มัชฌิมาปฏิปทา

๒. ก. ส่วนสุด ๒ อย่าง คือ

๑. กามสุขัลลิกานุโยค ความหมกมุ่นอยู่ในกาม

๒. อัตตกิลมถานุโยค ความทำตนให้ลำบาก

ข. มัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ข้อปฏิบัติสายกลาง คือ มรรคมีองค์ ๘ ฯ

๓. ความเป็นผู้สำรวมกิริยาอาการให้เรียบร้อยดีงามสมความเป็นสมณะ เป็นการ
เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง ในข้อนี้มีปฏิปทาของพระสาวกองค์ใดเป็น
ตัวอย่าง ? จงเล่าประวัติโดยสังเขปมาประกอบ

๓. พระอรหันตสาวกทุกรูปล้วนเป็นผู้สำรวมกิริยาอาการเรียบร้อยดีงามทั้งสิ้น แต่ที่
ได้รับยกย่องเป็นพิเศษคือพระอัสสชิเถระ ท่านมีกิริยาอาการที่น่าเลื่อมใส เป็นเหตุ
ให้อุปติสสะปริพาชกเห็นแล้วเกิดศรัทธา เข้าไปหา ขอฟังธรรมจนได้บรรลุ
โสดาปัตติผล ภายหลังยังชักชวนสหายของตนเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย ได้เป็น
กำลังสำคัญช่วยพระศาสดาเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองกว้างขวาง
และมั่นคงอย่างรวดเร็ว ฯ

๔. พระสาวกผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีบริวารมาก คือใคร ? เพราะท่านมีคุณธรรม อะไร ?

๔. คือ พระอุรุเวลกัสสปะ ฯ เพราะท่านรู้จักสงเคราะห์บริวารด้วยอามิสบ้าง ด้วยธรรม
บ้าง จึงเป็นที่รักใคร่นับถือ สามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจบริวารไว้ได้ ฯ

๕. ธรรมเสนาบดี และ นวกัมมาธิฏฐายี เป็นนามของพระสาวกองค์ใด ? เพราะเหตุไร
จึงมีนามเช่นนั้น ?

๕. ธรรมเสนาบดี เป็นนามของพระสารีบุตรเถระ เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการ
ประกาศพระพุทธศาสนา ฯ นวกัมมาธิฏฐายี เป็นนามของพระโมคคัลลานเถระ
เพราะท่านเป็นผู้สามารถกำกับดูแลการก่อสร้าง ฯ

๖. พระศาสดาทรงประทานพระโอวาทเป็นการให้อุปสมบทแก่พระมหากัสสปะไว้
กี่ข้อ ? อะไรบ้าง ?

๖. ๓ ข้อ คือ

๑. เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความยำเกรงอย่างแรงกล้าไว้ในภิกษุ

ทั้งที่เป็นเถระ ปานกลาง และผู้ใหม่

๒. เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรม อันประกอบด้วยกุศล และพิจารณาเนื้อความ

แห่งธรรมนั้น

๓. เราจักไม่ละสติที่ไปในกาย ฯ

๗. พระมหากัจจายนะ นิพพานก่อนหรือหลังพระพุทธเจ้า ? มีอะไรเป็นข้ออ้าง ?

๗. พระมหากัจจายนะ นิพพานหลังพระพุทธเจ้า มีมธุรสูตรเป็นข้ออ้าง โดยมีใจความ
ตอนหนึ่งในพระสูตรนั้นว่า พระเจ้ามธุรราชตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า
นั้นเสด็จอยู่ ณ ที่ไหน พระมหากัจจายนะทูลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ฯ

ศาสนพิธี

๘. วันธรรมสวนะ คือวันอะไร ? ทรงอนุญาตให้มีในวันใดบ้าง ?

๘. คือ วันกำหนดประชุมฟังธรรม หรือที่เรียกว่า “วันพระ” ฯ ในวัน ๘ ค่ำ และ
วัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำของปักษ์ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ฯ

๙. ผ้าป่าคือผ้าอะไร ? คำพิจารณาผ้าป่าว่าอย่างไร ?

๙. คือ ผ้าบังสุกุลจีวร ได้แก่ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง
ตามป่าช้าบ้าง ตามถนนหนทางและห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง ที่สุดจนกระทั่งที่เขา
อุทิศไว้แทบเท้า รวมเรียกว่า “ผ้าป่า”

คำพิจารณาผ้าป่าว่า อิมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ มยฺหํ ปาปุณาติ หรือว่า
อิมํ วตฺถํ อสฺสามิกํ ปํสุกูลจีวรํ มยฺหํ ปาปุณาติ

๑๐. จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้ ?

ก. ปาฏิปุคคลิกทาน

ข. เภสัชทาน

ค. สลากภัตต์

ง. ผ้าวัสสิกสาฎก

จ. ผ้าอัจเจกจีวร

๑๐. ก. คือทานที่ถวายเจาะจงเฉพาะรูปนั้นรูปนี้

ข. คือการถวายเภสัช ๕ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

ค. คือภัตตาหารที่ทายกทายิกาถวายตามสลาก

ง. คือผ้าที่อธิษฐานสำหรับใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำฝน หรืออาบน้ำทั่วไป

จ. คือผ้าจำนำพรรษาที่ทายกรีบด่วนถวายก่อนกำหนดกาล ฯ

ผู้ออกข้อสอบ

:

.

พระธรรมปริยัติเวที

วัดพระปฐมเจดีย์

.

พระธรรมวราภรณ์

วัดราชบพิธ

.

พระธรรมคุณาภรณ์

วัดสามพระยา

ตรวจ/ปรับปรุง

:

สนามหลวงแผนกธรรม

_77_139

ปัญหาและเฉลยวิชาวินัย นักธรรมชั้นโท

สอบในสนามหลวง

วันจันทร์ ที่ ๒๑ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

 

๑. ภิกษุผู้ละเมิดสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ต้องอาบัติอะไรได้บ้าง ?

๑. ต้องอาบัติถุลลัจจัย และ ทุกกฏ ฯ

๒. พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุไว้ผมได้ยาวที่สุดเท่าไร ? ไว้ได้นานที่สุดเท่าไร ?

๒. ไม่เกิน ๒ นิ้ว ฯ ไม่เกิน ๒ เดือน ฯ

๓. ภิกษุไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ มีพระพุทธานุญาตไว้ในกรณีใดบ้าง ?

๓. ใน ๒ กรณี คือ

๑. ในกรณีเข้าบ้านมีพระพุทธานุญาตไว้อย่างนี้ คือ

๑. คราวเจ็บไข้

๒. สังเกตเห็นว่าฝนจะตก

๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ

๔. วิหารคือกุฎีคุ้มได้ด้วยดาล

๕. ได้รับอานิสงส์พรรษา

๖. ได้กรานกฐิน ฯ

๒. ในกรณีต้องไปค้างแรมที่อื่น มีพระพุทธานุญาตไว้อย่างนี้ คือ

๑. ได้รับอานิสงส์พรรษา

๒. ได้กรานกฐิน ฯ

๔. ในพระวินัยส่วนอภิสมาจาร มีพระพุทธบัญญัติสำหรับพระภิกษุผู้รับถือเสนาสนะ
ของสงฆ์ ควรเอาใจใส่รักษาเสนาสนะด้วยอาการอย่างไรบ้าง ?

๔. ควรเอาใจใส่รักษาอย่างนี้ คือ

๑. อย่าทำเปรอะเปื้อน

๒. ชำระให้สะอาด

๓. ระวังไม่ให้ชำรุด

๔. รักษาเครื่องเสนาสนะ

๕. ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้มีพร้อม

๖. ของใช้สำหรับเสนาสนะหนึ่ง อย่าเอาไปใช้ในที่อื่นให้กระจัดกระจาย ฯ

๕. วัตร ๓ คืออะไรบ้าง ? ภิกษุเหยียบผ้าขาวอันเขาลาดไว้ในที่นิมนต์ผิดวัตรข้อไหน ?
มีโทษให้เกิดความเสียหายอย่างไร ?

๕. คือ กิจวัตร ๑ จริยาวัตร ๑ วิธิวัตร ๑ ฯ ผิดวัตรข้อจริยาวัตร ฯ

มีโทษให้เกิดความเสียหาย คือเป็นการเสียมารยาทของพระ ไม่ระวังกิริยา ทำให้
ผ้าขาวมีรอยเปื้อนสกปรกน่ารังเกียจ แม้ภิกษุพวกเดียวกันจะนั่งก็รังเกียจขยะแขยง
เป็นที่ตำหนิของบัณฑิตทั้งหลาย ฯ

๖. ภิกษุพบพระเถระในเวลาเข้าบ้านหรือเดินอยู่ตามทาง ควรปฏิบัติอย่างไร ?

๖. ไม่ควรไหว้ ควรหลีกทาง ลุกรับ และให้อาสนะแก่ท่าน ฯ

๗. อเนสนา คืออะไร ? ภิกษุทำอเนสนา ต้องอาบัติอะไรได้บ้าง ?

๗. คือ กิริยาที่แสวงหาเลี้ยงชีพในทางไม่สมควร ฯ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์
และ ทุกกฏ ฯ

๘. ความรู้ในการทำเสน่ห์ให้ชายหญิงรักกัน จัดเป็นดิรัจฉานวิชาเพราะเหตุไร ?

๘. เพราะเป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับธรรมวินัยของภิกษุ และเป็นความรู้ที่ทำให้เขา
สงสัยว่าลวง ทำให้เขาหลงงมงาย ไม่ใช่ความรู้จริง ผู้บอกเป็นผู้ลวง ฝ่ายผู้เรียน
เป็นผู้หัดเพื่อลวง หรือเป็นผู้หลงงมงาย ฯ

๙. สภาคาบัติ คืออาบัติเช่นไร ?

๙. คือ อาบัติที่ภิกษุต้องเหมือนกันเพราะล่วงละเมิดสิกขาบทเดียวกัน ฯ

๑๐. การอธิษฐานเข้าพรรษา กับการปวารณาออกพรรษา ทั้ง ๒ นี้ อย่างไหนกำหนด
ด้วยสงฆ์เท่าไร ? และกำหนดเขตอย่างไร ?

๑๐. การอธิษฐานเข้าพรรษาไม่เป็นสังฆกรรมจึงไม่กำหนดด้วยสงฆ์ แต่เป็น
ธรรมเนียมปฏิบัติอธิษฐานเข้าพรรษาพร้อมๆ กัน จะอธิษฐานที่ไหนก็ได้ แต่ท่าน
ห้ามไม่ให้จำพรรษาในที่ไม่สมควรเท่านั้น เช่น ในโพรงไม้ บนค่าคบไม้ ในตุ่ม
หรือในกระท่อมผี เป็นต้น ฯ และให้กำหนดบริเวณอาวาสเป็นเขต ฯ

ส่วนการปวารณาออกพรรษาเป็นสังฆกรรม กำหนดด้วยสงฆ์ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ฯ
และกำหนดให้ทำภายในเขตสีมา ถ้าต่ำกว่า ๕ รูป ท่านให้ปวารณาเป็นการคณะ
ถ้ารูปเดียวให้อธิษฐานเป็นการบุคคล ฯ

ผู้ออกข้อสอบ

:

.

พระพรหมเมธาจารย์

วัดบุรณศิริมาตยาราม

.

พระเทพปริยัติเมธี

วัดชลประทานรังสฤษฎ์

.

พระราชวรเมธี

วัดเทพธิดาราม

ตรวจ/ปรับปรุง

:

สนามหลวงแผนกธรรม

หน้านี้ปล่อยว่าง

_53_411

กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันศุกร์ ที่ ๑๘ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

 

ปมาทํ ภยโต ทิสฺวา อปฺปมาทญฺจ เขมโต

ภาเวถฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ เอสา พุทฺธานุสาสนี.

เห็นความประมาทเป็นภัย และเห็นความไม่ประมาทเป็นความปลอดภัยแล้ว พึงเจริญมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นพุทธานุสาสนี.

(พุทฺธ) ขุ. จริยา. ๓๓/๕๙๕.

-------------------

 

แต่งอธิบายเป็นทำนองเทศนาโวหาร อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบไม่น้อยกว่า ๓ ข้อ และบอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย ห้ามอ้างสุภาษิตซ้ำข้อกัน แต่จะ
ซ้ำคัมภีร์ได้ ไม่ห้าม สุภาษิตที่อ้างมานั้น ต้องเรียงเชื่อมความให้ติดต่อสมเรื่อง
กับกระทู้ตั้ง.

ชั้นนี้ กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๔ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป

------------------

 

ให้เวลา ๓ ชั่วโมง

_8_163

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันเสาร์ ที่ ๑๙ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

 

๑. การสำรวมจิตให้พ้นจากบ่วงแห่งมาร ในธรรมวิจารณ์ท่านแนะนำวิธีปฏิบัติไว้
อย่างไร ? และถ้าจะจัดเข้าในไตรสิกขา จัดได้อย่างไร ?

๑. แนะนำวิธีปฏิบัติไว้ ๓ ประการ คือ

๑. สำรวมอินทรีย์มิให้ความยินดีครอบงำ ในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น
ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา

๒. มนสิการกัมมัฏฐานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ คือ อสุภะและกายคตาสติ
หรืออันยังจิตให้สลด คือมรณัสสติ

๓. เจริญวิปัสสนา คือ พิจารณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์ สันนิษฐานเห็น
เป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯ

จัดเข้าในไตรสิกขาได้ดังนี้

ประการที่ ๑ จัดเข้าในสีลสิกขา

ประการที่ ๒ จัดเข้าในจิตตสิกขา

ประการที่ ๓ จัดเข้าในปัญญาสิกขา ฯ

๒. อนิจจตาแห่งสังขารทั้งหลาย จะกำหนดรู้ได้ด้วยวิธีใดบ้าง ?

๒. ๑. กำหนดรู้ในทางง่าย ด้วยความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และความสิ้นในเบื้องปลาย ได้ในบาลีว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้น
เป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับ

๒. กำหนดรู้ในทางละเอียดกว่านั้นด้วยความแปรในระหว่างเกิดและดับ
ได้ในบาลีว่า

อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย

วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ

กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป

๓. กำหนดรู้ในทางสุขุม ด้วยความแปรแห่งสังขารในชั่วขณะหนึ่ง ๆ คือ ไม่คงที่
อยู่นานเพียงระยะกาลนิดเดียวก็แปรแล้ว ได้ในคาถาวิสุทธิมรรค ว่า

ชีวิตํ อตฺตภาโว จ สุขทุกฺขา จ เกวลา

เอกจิตฺตสมา ยุตฺตา ลหุโส วตฺตเต ขโณ

ชีวิต อัตภาพ และสุขทุกข์ ทั้งมวล ประกอบกัน เป็นธรรมเสมอ
ด้วยจิตดวงเดียว ขณะย่อมเป็นไปพลัน ฯ

๓. สภาวทุกข์และปกิณณกทุกข์ คือทุกข์เช่นไร ?

๓. สภาวทุกข์ คือทุกข์ประจำสังขาร ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ ฯ

ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์จรได้แก่ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ฯ

๔. พระพุทธพจน์ว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี จะไม่เป็น
การปฏิเสธสุขอย่างอื่นไปทั้งหมดหรือ ? จงอธิบาย

๔. ไม่เป็นการปฏิเสธเสียทีเดียว เช่นทรงแสดงถึงสุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่างไว้เป็นต้น
แต่สุขอย่างอื่นนั้นยังเจือไปด้วยทุกข์อยู่ ยังไม่ใช่สุข ไม่อาจจะนับว่าเป็นสุข
ที่แท้จริงได้ มีแต่ความสงบเท่านั้นที่เป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่เจือไปด้วย
ความทุกข์ ฉะนั้นสุขที่ยิ่งกว่าความสงบจึงไม่มี ฯ

๕. สัตว์โลกตายแล้วมีคติเป็นอย่างไร ? ปัจจุบันภพนั้น เกี่ยวเนื่องกับสัมปรายภพ
อย่างไร ?

๕. สัตว์โลกตายแล้วมีคติเป็น ๒ คือ ถ้าทำดี คือ ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ก็ไปสู่สุคติ ถ้าทำไม่ดี คือประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ก็ไปสู่ทุคติ ฯ จิตดีชั่ว
ในปัจจุบัน ย่อมเป็นปัจจัยแห่งปฏิสนธิในสัมปรายภพ ภูมิและภพในภายภาคหน้า
ขึ้นอยู่กับภูมิและภพชั้นของจิตในปัจจุบันนี้แหละ ดังมีหลักธรรมในอุเทศบาลี
แสดงว่า เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง และว่าเมื่อจิตไม่เศร้าหมอง
แล้ว สุคติเป็นอันหวังได้ ฯ

๖. บุคคลผู้ถูกนิวรณ์ ๕ ครอบงำ พึงแก้ด้วยกัมมัฏฐานอะไรบ้าง ?

๖. ถูกกามฉันทะครอบงำ พึงแก้ด้วยอสุภกัมมัฏฐานหรือกายคตาสติ

ถูกพยาบาทครอบงำ พึงแก้ด้วยเมตตาพรหมวิหาร

ถูกถีนมิทธะครอบงำ พึงแก้ด้วยอนุสสติกัมมัฏฐาน

ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ พึงแก้ด้วยกสิณหรือมรณัสสติ

ถูกวิจิกิจฉาครอบงำ พึงแก้ด้วยธาตุกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ

๗. ผู้เจริญเมตตาพรหมวิหาร ท่านสอนให้แผ่ไปในตนก่อนนั้น มีความมุ่งหมายอย่างไร ?

๗. มีความมุ่งหมายอย่างนี้ ให้ทำตนเป็นพยานว่า ตนนี้อยากได้แต่ความสุข เกลียดชัง
ทุกข์และภัยต่าง ๆ ฉันใด แม้สัตว์ทั้งหลาย ก็อยากได้สุข เกลียดชังทุกข์และภัย
ต่าง ๆ ฉันนั้น เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว จิตก็ปรารถนาจะให้สัตว์ทั้งสิ้น มีความสุข
ความเจริญ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงให้แผ่เมตตาจิตไปในตนก่อน ฯ

๘. พระพุทธคุณบทว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เมื่อกล่าวถึงพุทธจรรยาในส่วน
ที่ทรงสั่งสอนมหาชน ประมวลลงเป็นข้อได้อย่างไรบ้าง ?

๘. ประมวลลงได้อย่างนี้

๑. ทรงพระกรุณาหวังจะให้ผู้ที่ทรงสั่งสอน ได้ความรู้อันจะให้สำเร็จประโยชน์

๒. ทรงมุ่งความจริงกับประโยชน์เป็นที่ตั้ง

๓. ทรงทำกับตรัสเป็นอย่างเดียวกัน

๔. ทรงฉลาดในวิธีสั่งสอน ฯ

๙. ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีพิจารณาสติสัมโพชฌงค์ไว้
ด้วยอาการอย่างไร ?

๙. ด้วยอาการอย่างนี้ คือ เมื่อสติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ณ ภายในจิต ก็รู้ชัดว่ามีอยู่
ณ ภายในจิตของเรา เมื่อไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ก็รู้ชัดว่าไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต
ของเรา เมื่อยังไม่เกิด แต่จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ก็รู้ชัดด้วยประการนั้น
เมื่อเกิดขึ้นแล้วเจริญบริบูรณ์ขึ้นด้วยประการใด ก็รู้ชัดด้วยประการนั้น ฯ

๑๐. ข้อว่า อนัตตสัญญา ในคิริมานนทสูตร ทรงให้ยกธรรมอะไรขึ้นพิจารณาว่าเป็น
อนัตตา ?

๑๐. ทรงให้ยกอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ขึ้นพิจารณาว่าเป็นอนัตตา ฯ

ผู้ออกข้อสอบ

:

.

พระธรรมธีรราชมหามุนี

วัดปากน้ำ

.

พระราชนันทมุนี

วัดละหาร

.

พระราชวิจิตรปฏิภาณ

วัดสุทัศนเทพวราราม

ตรวจ/ปรับปรุง

:

สนามหลวงแผนกธรรม

ปัญหาและเฉลยวิชาพุทธานุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

clip_image002[9]

๑. รูปกายอุบัติและธรรมกายอุบัติ แห่งพระมหาบุรุษนั้น มีความหมายว่าอย่างไร ?

๑. รูปกายอุบัติ คือความอุบัติในสมัยลงสู่พระครรภ์และในสมัยประสูติจากพระครรภ์

ส่วนธรรมกายอุบัติ คือการตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ฯ

๒. ข้ออุปมาว่า ไม้แห้งที่วางไว้บนบก ไกลน้ำ สามารถสีให้เกิดไฟได้ เกิดขึ้น
แก่ใคร ? โดยนำไปเปรียบกับอะไร ?

๒. แก่พระมหาบุรุษ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ โดยทรงนำไปเปรียบ
กับสมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า สมณพราหมณ์บางพวกมีกายหลีกออกจากกาม
ใจก็ละความรักใคร่ในกาม สงบดีแล้ว หากพากเพียรพยายามอย่างถูกต้อง
ย่อมสามารถตรัสรู้ธรรมได้ ฯ

๓. อนุปุพพีกถา คืออะไร ? ทรงแสดงแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยองค์เท่าไร ? อะไรบ้าง ?

๓. คือถ้อยคำที่กล่าวเรียงเรื่องเป็นลำดับไป ฯ ด้วยองค์ ๓ ฯ คือ เป็นมนุษย์ ๑
เป็นคฤหัสถ์ ๑ มีอุปนิสัยแก่กล้าควรบรรลุโลกุตรคุณในที่นั้น ๑ ฯ

๔. สหายของพระยสะ ๔ คน ได้ออกบวชตามพระยสะ เพราะคิดอย่างไร ?

๔. เพราะคิดว่า ธรรมวินัยที่พระยสะออกบวชนั้นจักไม่เลวทรามแน่แท้ คงเป็น
ธรรมวินัยอันประเสริฐ คิดดังนี้จึงได้ออกบวช ฯ

๕. พระพุทธดำรัสว่า เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงหามิได้ แต่เรา
มิใช่ไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงเลย
ตรัสแก่ใคร ? ทรงหมาย
ความว่าอย่างไร ?

๕. ตรัสแก่พระมหาโมคคัลลานเถระ ฯ ทรงหมายความว่า พระองค์ไม่ทรงสรรเสริญ
ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ แต่ทรงสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะอันสงัด ฯ

๖. พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุให้ประพฤติตนในการเข้าไปใกล้ตระกูลโดยยก
พระมหากัสสปะเป็นตัวอย่างไว้อย่างไร ?

๖. ตรัสสอนไว้มาก โดยสรุปทรงสอนว่า ท่านพระมหากัสสปะมีความสำรวมระวัง
อย่างยิ่ง ทำตนเป็นผู้ใหม่อยู่เสมอ ไม่ลำพอง ไม่ติดข้อง วางเฉยกับอิฏฐารมณ์
และอนิฏฐารมณ์ที่ประสบได้ทุกอย่าง ฯ

๗. ธรรม ๓๗ ประการมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น มีมรรคมีองค์ ๘ เป็นที่สุด เรียก
ชื่อว่าธรรมอะไรได้บ้าง ? เรียกอย่างนั้นเพราะเหตุไร ?

๗. เรียกชื่อว่า อภิญญาเทสิตธรรม เพราะเป็นธรรมที่พระองค์ทรงแสดงด้วย
พระปัญญาอันยิ่ง และเรียกชื่อว่า โพธิปักขิยธรรม เพราะธรรมเหล่านี้เป็น
ฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ฯ

๘. โมฆราชมาณพคิดจะทูลถามปัญหากะพระพุทธองค์ ๓ ครั้ง แต่มิได้ทูลถาม
เพราะเหตุไร ?

๘. ในครั้งที่ ๑ ไม่ได้ทูลถามเพราะเห็นว่าอชิตมาณพเป็นผู้ใหญ่กว่า จึงยอมให้ทูลถาม
ก่อน ในครั้งที่ ๒ และ ๓ ไม่ได้ทูลถามเพราะพระพุทธองค์ตรัสห้ามไว้ ฯ

๙. ในพุทธประวัติกล่าวถึงบุคคลต่อไปนี้คือ โสตถิยพราหมณ์ หุหุกชาติพราหมณ์
โทณพราหมณ์ ว่าอย่างไรบ้าง ?

๙. โสตถิยพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ที่ถวายหญ้าแด่พระมหาบุรุษในเวลาเย็นแห่งวันตรัสรู้

หุหุกชาติพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ที่เข้าเฝ้าทูลถามปัญหากะพระพุทธองค์ขณะ
ประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้อชปาลนิโครธ

โทณพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ที่ทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่กษัตริย์และ
พราหมณ์ทั้ง ๘ พระนคร ฯ

๑๐. พุทธบริษัท ๔ คือ ใครบ้าง ? ผู้ตั้งอยู่ในเอตทัคคะทางพระธรรมกถึกของแต่
ละฝ่ายคือใคร ?

๑๐. คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฯ

ฝ่ายภิกษุ คือ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ

ฝ่ายภิกษุณี คือ พระธัมมทินนาเถรี

ฝ่ายอุบาสก คือ จิตตคฤหบดี

ฝ่ายอุบาสิกา คือ นางขุชชุตตรา ฯ

ผู้ออกข้อสอบ

:

.

พระพรหมเวที

วัดไตรมิตรวิทยาราม

.

พระเทพมงคลสุธี

วัดราชประดิษฐ์ฯ

.

พระราชสุธี

วัดเทวราชกุญชร

ตรวจ/ปรับปรุง

:

สนามหลวงแผนกธรรม

 

106_580

ปัญหาและเฉลยวิชาวินัย นักธรรมชั้นเอก

สอบในสนามหลวง

วันจันทร์ ที่ ๒๑ พฤศจิกายน .. ๒๕๔๘

clip_image002[10]

๑. ในสังฆกรรมทั้ง ๔ นั้น การสวดอนุสาวนามีอยู่ในกรรมไหนบ้าง ? ในแต่ละกรรม
นั้นให้สวดกี่ครั้ง ?

๑. มีอยู่ใน ญัตติทุติยกรรม และ ญัตติจตุตถกรรม ฯ ในญัตติทุติยกรรมให้สวด
๑ ครั้ง ในญัตติจตุตถกรรมให้สวด ๓ ครั้ง ฯ

๒. สีมาเป็นหลักสำคัญแห่งสังฆกรรมอย่างไร ? พัทธสีมามีกำหนดขนาดพื้นที่ไว้อย่างไร ?

๒. สีมาเป็นเขตประชุมของสงฆ์ผู้ทำกรรม พระศาสดาทรงพระอนุญาตให้สงฆ์
พร้อมเพรียงกันทำภายในสีมา เพื่อจะรักษาสามัคคีในสงฆ์ ฯ

อย่างนี้ คือ กำหนดไม่ให้สมมติสีมาเล็กเกินไปจนจุภิกษุ ๒๑ รูป นั่งไม่ได้และ
ไม่ให้สมมติสีมาใหญ่เกินไปกว่า ๓ โยชน์ ฯ

๓. ภิกษุได้รับอานิสงส์กฐิน เข้าบ้านในเวลาวิกาลโดยไม่บอกลา ต้องอาบัติอะไร
หรือไม่ ? เพราะเหตุไร ?

๓. ในกรณีที่รับนิมนต์แล้ว ไปในที่นิมนต์ ภายหลังภัตรเข้าบ้านโดยไม่บอกลา
ไม่ต้องอาบัติ ซึ่งได้รับยกเว้นด้วยอานิสงส์ที่ว่าเที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ตาม
สิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ ฯ แต่ในกรณีที่ไม่ได้รับนิมนต์
เข้าบ้านในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ตามสิกขาบทที่ ๓ แห่งรัตนวรรค
ในปาจิตติยกัณฑ์ ยกเว้นในกรณีรีบด่วน เช่นภิกษุถูกงูกัดรีบเข้าไปเพื่อหายา
หรือตามหมอ ฯ

๔. วัตถุสมบัติในการอุปสมบทคืออะไร ? ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ?

๔. คือผู้จะเข้ารับการอุปสมบท ฯ ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ

๑. เป็นชาย

๒. มีอายุครบ ๒๐ ปี

๓. ไม่เป็นมนุษย์วิบัติ เช่นถูกตอน หรือเป็นกะเทย

๔. ไม่เคยทำอนันตริยกรรม

๕. ไม่เคยต้องปาราชิก หรือไม่เคยเข้ารีตเดียรถีย์ทั้งที่เป็นภิกษุ ฯ

๕. อภัพพบุคคลที่ถูกห้ามอุปสมบทเพราะกระทำผิดต่อพระศาสนา มีกี่ประเภท ?
ใครบ้าง ?

๕. มี ๗ ประเภท คือ

๑. คนฆ่าพระอรหันต์

๒. คนทำร้ายภิกษุณี ได้แก่ผู้ข่มขืนภิกษุณีในอัธยาจาร

๓. คนลักเพศ คือคนถือเพศเป็นภิกษุเอง

๔. ภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์

๕. ภิกษุต้องปาราชิก

๖. ภิกษุทำสังฆเภท

๗. คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต ฯ

๖. อธิกรณ์อันสงฆ์วินิจฉัยแล้ว ฝ่ายไม่ชอบใจจักอุทธรณ์ได้หรือไม่ ? จงตอบให้มีหลัก

๖. อุทธรณ์ได้ก็มี อุทธรณ์ไม่ได้ก็มี โดยอธิบายว่า ตามสิกขาบทที่ ๓ แห่งสัปปาณวรรค
ปาจิตติยกัณฑ์ โจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี สงฆ์ก็ดี รู้อยู่ว่าอธิกรณ์นั้น สงฆ์หมู่นั้น
วินิจฉัยเป็นธรรมแล้ว ฟื้นขึ้นเพื่อวินิจฉัยใหม่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ อย่างนี้อุทธรณ์
ไม่ได้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรม ฟื้นขึ้นไม่เป็นอาบัติ อย่างนี้ อุทธรณ์ได้ ฯ

๗. ปริวาส คืออะไร ? มานัต คืออะไร ?

๗. ปริวาส คือ การประพฤติวัตรพิเศษอย่างหนึ่งเท่าจำนวนวันที่ปกปิดอาบัติไว้
ก่อนจะประพฤติมานัตต่อไป ฯ

มานัต คือ การประพฤติวัตรพิเศษอย่างหนึ่ง เป็นเวลา ๖ ราตรี เพื่อออก
จากอาบัติสังฆาทิเสส ฯ

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

๘. มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง ?

๘. มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

๑. ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

๒. ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

๓. ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่
การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

๔. รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

๕. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น ฯ

๙. ตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนด
ให้พระภิกษุสละสมณเพศในกรณีใดบ้าง ?

๙. ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ ให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับ
นิคหกรรมนั้น

๒. ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ

๓. ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง

๔. ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ฯ

๑๐. ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ได้แก่ที่เช่นไร ? นาย ก ได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสให้เข้าปลูกบ้าน
อยู่อาศัยในที่เช่นนั้นนานเกินสิบปี ภายหลังจะยึดที่ดินผืนนั้นเป็นสมบัติส่วนตัว จึงยก
อายุความขึ้นต่อสู้กับวัด โดยอ้างสิทธิครอบครองได้หรือไม่ ? เพราะเหตุไร ?

๑๐. ที่วัด คือที่ที่ตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด ฯ
ไม่ได้ เพราะมาตรา ๓๔ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดหรือสำนักงาน
พระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้วแต่กรณี ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์
หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ฯ

ผู้ออกข้อสอบ

:

.

พระธรรมเจดีย์

วัดกัลยาณมิตร

.

พระธรรมบัณฑิต

วัดนรนาถสุนทริการาม

.

พระศรีวิสุทธิโสภณ

วัดไชยชุมพลชนะสงคราม

ตรวจ/ปรับปรุง

:

สนามหลวงแผนกธรรม

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons