โซตัสมีในพระพุทธศาสนาด้วยหรือ???
มีแน่นอนครับ แต่การประยุกต์ใช้ และความสัมพันธ์ระหว่างหัวข้อธรรมอาจแตกต่างกันตามเหตุปัจจัย
Seniority คือ การเคารพผู้อาวุโส เรื่องนี้มี ๒ ระดับ คือระดับโลกียะ (โลก ๆ) และโลกุตตระ (พ้นโลก) ในพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดามิได้ถืออาวุโสกันตามอายุ มิใช่คนหนุ่มกว่า เคารพคนที่แก่กว่าเสมอไป แต่นับเอา "พรรษา" เป็นหลัก หมายความว่า เมื่อบวชเข้ามาเป็นภิกษุแล้ว ภิกษุไม่จำเป็นต้องไหว้คนที่แก่กว่า ไม่จำเป็นต้องเคารพความคิดของคนที่แก่กว่า แต่ต้องเคารพพระที่บวชมาก่อนเรา เคารพความคิดที่เป็นธรรมเป็นวินัย หรือเคารพคุณธรรม ฉะนั้นในระดับโลกียะอาจพูดได้ว่า พระพุทธเจ้ามิได้ให้นับถือกันตามอายุ แต่ให้นับถือกันตามลำดับการบวชก่อนหลัง หรือพรรษา โดยมีกรอบคือการบวช พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ภิกษุไม่จำเป็นต้องเคารพผู้ที่อยู่นอกกรอบความเป็นภิกษุสงฆ์ แต่ต้องเคารพผู้ที่เข้ามาอยู่ในกรอบภิกษุสงฆ์ก่อน
ในส่วนโลกียะนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของหมู่คณะ สังคมพระจักวุ่นวายเพียงไร หากภิกษุผู้น้อย ไม่เคารพภิกษุผู้ใหญ่ ยึดถือเอาสิ่งที่ตัวเองต้องการเป็นหลัก ทำทุกสิ่งตามอำเภอใจ ไม่สนใจขนบธรรมเนียมที่ีมีมาแต่ดั้งเดิม ภิกษุผู้น้อยสามารถจ้วงจาบภิกษุผู้ใหญ่ได้ ทั้งที่ยังมิได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้
ในสายพระป่า เรื่องเคารพกันตามลำดับพรรษา ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ภิกษุผู้น้อยจักมีปากเสียงถกเถียงกับภิกษุผู้ใหญ่ไม่ได้เลย แม้ไม่เห็นด้วยก็ตาม ภิกษุพรรษามากกว่าสั่งให้ทำอย่างไร ต้องทำอย่างนั้น ประหนึ่งเป็นเด็กรับใช้ก็มิปาน ห้ามมีข้อโต้แย้ง หากไม่พอใจ ทนไม่ได้ ไม่เชื่อฟัง ก็พึงสมควรลาสิกขาออกไป (ความจริงเหมือนกันทุกสาย เพียงแต่สายพระป่ามีบรรยากาศการรักษาพระวินัยที่เข้มข้นกว่า จึงอนุมานได้ว่า ภิกษุที่สามารถรักษาวินัยได้เคร่งครัดส่วนใหญ่ จักเป็นสัมมาทิฏฐิ มิได้มีความคิดเหลวไหล ส่วนในสายพระบ้าน การคัดกรองผู้บวชใหม่ และบรรยากาศการรักษาพระวินัยอ่อนแอกว่า เรื่องเคารพกันตามลำดับพรรษาเลยอ่อนแอตาม อนึ่งเรื่องการรักษาพระวินัยนี้เป็นเรื่องปัจเจกครับ ข้าพเจ้าอนุมานเอาโดยภาพรวม อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะมักมีคนดีปะปนในหมู่คนเลว และมีคนเลวปะปนในหมู่คนดีเสมอ)
ภาพประกอบ : http://www.wattraimitr-withayaram.com
ดังนั้นภิกษุหนุ่มแต่บวชตั้งแต่เป็นสามเณรมีพรรษาสูง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องทำความเคารพภิกษุบวชใหม่เมื่อชรา ทั้งไม่ต้องทำความเคารพฆราวาสแก่เฒ่าที่ยังเสพกามอยู่ด้วย
ในระดับโลกุตตระนั้นแปลกกันออกไป ตามปกติภิกษุบวชใหม่ ไม่ถึง ๕ พรรษา ท่านให้เรียกว่า นวกะ เลย ๕ พรรษา พ้นมุตตกะ หรือพ้นความดูแลของอุปัชฌาย์แล้วถึง ๑๐ พรรษาเรียกว่า มัชฌิมะ เลย ๑๐ พรรษาไปแล้วเรียกว่า เถระ เลย ๒๐ พรรษาไปแล้วเรียกว่า มหาเถระ แต่หากภิกษุหรือสามเณรนั้นบรรลุอรหัตตผล แม้เป็นสามเณรอายุเพียง ๗ ขวบ พระองค์ก็ให้เรียกว่า "มหาเถระ"
คำอธิบายเรื่องนี้ ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์มาหาพระพุทธองค์ทูลถามว่า "ได้ข่าวว่าท่านสมณโคดมเป็นผู้ไม่ไหว้ผู้มีอาวุโสหรือ?" ท่านทรงอุปมาเรื่องที่พระองค์ไม่ไหว้ผู้ที่แก่กว่าไว้เหมือนลูกไก่ ที่เจาะเปลือกไข่ออกมาจากฟองก่อน ย่อมเป็นพี่เป็นพ่อเป็นแม่ของไก่ตัวที่เจาะเปลือกไข่ออกมาทีหลัง ผู้ที่มิได้บรรลุธรรมก็ประหนึ่งไก่ที่ยังไม่ได้เจาะเปลือกไข่ออกมา ยังเวียนว่ายอยู่ในเปลือกไข่ จักแก่เฒ่าเพียงไรก็ยังอยู่ในเปลือกไข่อยู่นั่นเอง
เรื่องนี้อาจนำไปเปรียบเทียบระหว่างกรอบของการบวช กับรั้วมหาวิทยาลัย ก็เป็นได้ ซึ่งมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน คงต้องถกเถียงหาขอยุติกันต่อไป
เรื่อง Seniority นี้ไปโยงกับโซตัสข้อต่อไปคือ Order หรือ การปฏิบัติตามระเบียบวินัย คือการเข้าไปอยู่รวมกลุ่มในหมู่คณะใด ก็ต้องเคารพกฏกติกาของกลุ่มคณะนั้น มิใช่จักทำตามอำเภอใจ กรณีของภิกษุก็คือต้องปฏิบัติตามพระวินัย ๒๒๗ ข้ออย่างเคร่งครัด ส่วนในสังคมอื่น ก็จักมีข้อตกลงกฏกติกาในสังคมนั้น หากไม่สามารถปฏิบัติตามกฏระเบียบของสังคมนั้นได้ ก็สมควรออกไปจากสังคมนั้น มิใช่พยายามหาเหตุผลมาหักล้างล้มล้างกฎกติกามารยาทที่ปฏิบัติกันมา
เรื่องนี้ขอพาดพิงถึงนักวิชาการฝีปากกล้าที่เอาเรื่องรับน้องมาทำให้สับสนกับคำว่า โซตัส แล้วลามไปถึงเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา มันคนละเรื่องกันครับ (นักวิชาการคนนี้ก็แปลก ไม่เคยร่วมรับน้อง ไม่รู้จักระบบโซตัส แต่วิจารณ์การรับน้อง ระบบโซตัสได้เป็นฉาก ๆ ตัวเองไม่ยอมถูกรับน้อง แต่เวลาตัวเองขึ้นปี ๒ อยากไปรับน้องคนอื่น บริบทอีเดียดมาก แต่คนก็ไปฟังมาก เชื่อมาก เพียงเพราะเธอพูดเก่ง แรง และมีคำว่า "นักวิชาการ" พ่วงมาเท่านั้นละหรือ?) ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม แสดงถึงความเรียบร้อยของหมู่คณะ ถูกให้ทัศนคติว่า เป็นการยอมจำนนต่ออำนาจ แต่อำนาจนั้นคือกฎของมหาวิทยาลัย เช่นนี้ก็อาจเทียบได้กับการบวชเข้ามาเป็นพระภิกษุแล้ว ขออนุญาตไม่ใส่จีวร ขออนุญาตไม่โกนศรีษะ แล้วอ้างว่ามรรคผลนิพพานนั้นเกิดที่ใจ ใช่เครื่องแต่งกายหรือรูปลักษณ์ภายนอก นี่มิใช่การยอมจำนนต่ออำนาจ แต่คือการเคารพกฎกติกามารยาทของหมู่คณะ
บางคนกล่าวถึงการแต่งตัวให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นแพทเทิร์นเดียวกันว่า เป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ พระอานนท์ดีไซน์เนอร์ระดับโลก ออกแบบจีวรที่ยังคงทันสมัยมากว่า ๒,๕๐๐ ปี (เชื่อว่า ไม่มีดีไซน์เนอร์ใดในโลกทำได้) ก็มิเห็นต้องฉีกกฎระเบียบของคณะ ออกไปทำตัวเซอร์ ๆ ติสต์แตกแล้วถึงจักมีไอเดียสร้างสรรค์ (และไม่เกี่ยวกับการบรรลุธรรมด้วย พระอานนท์ติดตามพระพุทธเจ้ามาเกือบ ๔๕ ปี แต่มิได้บรรลุอรหัตตผลแต่อย่างใด มาบรรลุคืนก่อนวันสังคายนา)
เรื่องกฏระเบียบกติกามารยาทของหมู่คณะนี้หากรับไม่ได้ ก็สมควรลาออกไป เพราะนิสิตนักศึีกษาก็ทราบดีตั้งแต่ยังมิได้สอบติดแล้วว่า เขามีกติกามารยาทกันอย่างไร (ถ้าไม่ทราบก็เป็นความบกพร่องของท่านเองที่ไม่ศึกษาให้ดีก่อนสมัครเรียน) อย่าลืมนะครับว่า ท่านเป็นผู้มาสมัครขอเรียนในมหาวิทยาลัยเอง มหาวิทยาลัยไม่ได้ไปขอร้องให้ท่านมาสมัครเรียนกับทางมหาวิทยาลัย เหมือน ๆ กับที่ภิกษุเห็นภัยในวัฏสงสารแล้วก็เข้ามาขอบวชเอง ทางวัดมิได้บังคับให้ใครมาบวช
เรื่อง Order นี้ ไปโยงกับขันติธรรมด้วย เพราะการประพฤติตนอยู่ในกฎในระเบียบของสังคมใดสังคมหนึ่งย่อมต้องใช้ความอดทน ไม่มากก็น้อย เพราะไม่มีที่ไหนให้เราทำตามอำเภอใจเหมือนอยู่ที่บ้านแน่นอน การที่ไม่มีความอดทน ย่อมหาความสำเร็จในชีวิตได้ยาก
เรื่องความอดทนต่อสิ่งที่ไม่ชอบธรรม (ในความคิดเราขณะนั้น) จนได้ดี มีตัวอย่างให้เห็นในพระไตรปิฎกด้วย เรื่องของเถระใบลานเปล่า ท่านชื่อพระโปฐิละ ได้ร่ำเรียนจนทรงพระไตรปิฎกในศาสนาของพระพุทธเจ้ามาแล้วถึง ๗ พระองค์ องค์ปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน เป็นอาจารย์ในสำนักใหญ่สอนปริยัติธรรมมีศิษย์ถึง ๕๐๐ แต่มิได้ปฏิบัติธรรมให้สมแก่ธรรม ยังคงเป็นสมมุติสงฆ์อยู่ ครั้นแล้วพระบรมศาสดาทรงทำให้เธอสลดสังเวชใจ ด้วยการเรียกเธอว่า "แน่ะ คุณใบลานเปล่า นั่งเถิด คุณใบลานเปล่า คุณใบลานเปล่าไปแล้ว" เป็นต้น ถูกเรียกหนักเข้าเธอก็ละอายว่าตนอยู่มาปูนนี้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่ยังหามรรคผลนิพพานมิได้ ยังคงเป็นภิกษุปุถุชนอยู่ ว่าแล้วท่านเลยออกไปหาผู้ใดจักพึงสอนท่านให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ไปฝากตัวเป็นศิษย์ใครก็ไม่มีใครรับ เหตุเพราะท่านเป็นเจ้าสำนักใหญ่ เหมือนตนเป็นครูสอนปริญญาเอก แต่กลับไปร้องขอให้เด็กปริญญาตรี หรือเด็ก ม.ปลาย สอนกรรมฐานให้ ไล่ฝากตัวไปตั้งแต่พระเถระท่านก็โบ้ยไปหาพระที่พรรษาอ่อนกว่า เรื่อยไปจนที่สุดมาขอสมัครเป็นศิษย์สามเณรอายุเพียง ๗ ขวบ (แต่ท่านบรรลุอรหัตตผลแล้ว)
สามเณรเห็นใจที่อาจารย์ใหญ่ไม่ถือตัว มาคุกเข่าขอเป็นศิษย์ จึงแกล้งสอบกำลังใจว่า "แน่ะ ท่านโปฐิละ แม้ท่านอยากเป็นศิษย์เราจริง เราสั่งสิ่งใด ท่านต้องทำตาม ตกลงไหม? จีวรท่านนี้เป็นผ้าแพรอย่างดี เราขอสั่งให้ท่านเดินลงน้ำทั้งจีวรเดี๋ยวนี้"
พระโปฐิละก็มีดีครับ ท่านเดินลงน้ำตามคำสั่งของสามเณรทันที โดยไม่ลังเล ไม่ต้องมานั่งวินิจฉัยว่า การลงน้ำมีดีมีเลวอย่างไร? เกี่ยวกับธรรมะของพระพุทธองค์ข้อไหน? สามเณรองค์นี้ต้องการกระไร? พอชายจีวรถูกน้ำสามเณรก็สั่งให้หยุด เพราะทราบว่า พระโปฐิละสิ้นมานะแล้ว ให้ท่านมานั่งในที่อันสมควร แสดงธรรมว่า "ริมแม่น้ำนี้มีรังเหี้ยอยู่รังหนึ่ง มีรูอยู่ ๖ รู หากท่านโปฐิละอยากจักจับเหี้ยให้ได้ พึงทำเช่นไร?"
พระโปฐิละตอบว่า "ข้าพเจ้าพึงอุดรูทั้ง ๕ เสีย เหลือทางออกเพียงรูเดียว ดักจับที่รูนั้น ก็จักพึงจับเหี้ยได้ขอรับ"
"ฉันใดก็ฉันนั้น อันร่างกายเรานี้ มีรูอยู่ ๖ รู เช่นกันคือ อายตนะทั้ง ๖ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านก็พึงปิดอายตนะทั้ง ๕ เสีย เหลือเพียง ใจ ประการเดียว เช่นนี้ท่านก็จักพึงถึงธรรม" สามเณรแสดงธรรม
เพียงเท่านี้ พระโปฐิละบอกพอละ (คือท่านเพียงต้องการจุดเริ่ม ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่านทรงอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จักเริ่มอย่างไร) แล้วหลีกไปทำความเพียร ไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล
เหตุการณ์ช่างละม้ายคล้ายการที่รุ่นพี่สั่งให้รุ่นน้องทำสิ่งประหลาด ๆ ไร้สาระ ๆ ไหม? หากอิงเอาตามพระไตรปิฎกสิ่งประหลาดต่าง ๆ เหล่านั้น มิใช่แก่นสารสาระกระไร สาระคือ Order ครับ คือการเอามานะ อัตตา ตัวตน ความเป็นลูกคุณหญิงคุณนายเจ้าคุณเจ้าหลวง หรือ "อีโก้" ของคนที่ถูกผู้ปกครองโอ๋ ออกขว้างทิ้งไป แล้วสวมหมวกใบใหม่ สถานะใหม่ เป็นน้ำครึ่งแก้ว หรือแก้วเปล่าที่พร้อมจักรับสิ่งใหม่ ๆ หากพระโปฐิละพกเอาอีโก้ที่ตัวเองเป็นอาจารย์ใหญ่ไปกราบครูบาอาจารย์ขอกรรมฐานด้วย เชื่อว่าป่านนี้พระโปฐิละคงยังไม่ได้บรรลุธรรม และคงทรงพระไตรปิฎกต่อไปถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปเป็นแน่
Tradition หรือประเพณีธรรมเนียมของพระภิกษุ มีชื่อเฉพาะว่า "อภิสมาจาร" ว่าด้วยเรื่องวัตรปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การดูแลร่างกาย การรักษาบาตร จีวร เป็นต้น ในตำราว่าไว้ ภิกษุผู้ที่ปฏิบัติตามอภิสมาจารย่อมมีความสบายใจ เวลาเข้าหมู่สงฆ์ก็รู้สึกทแกล้วกล้า
ทำนองเดียวกันครับ ผู้ที่ทำตัวแปลกแยกจากหมู่คณะ ก็ย่อมรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกว่า เป็นคนละพวก เวลาเข้าหมู่ก็ตะขิดตะขวงใจ ภาษาพระเรียกว่า "วิปปฏิสาร" แล้วจึงเกิดข้ออ้างนานาประการ เช่น "กรูก็เจ๋งได้ ไม่เห็นต้องทำตามเขาเลย" อันนี้ก็เป็นรสนิยมส่วนตัวครับ ไปเลือกกันเอง
Unity ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คนเราผ่านกระไรเหมือน ๆ กันร่วมกันมา จักรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันโดยอัตโนมัติครับ และพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่ ย่อมอยู่เป็นสุข อันนี้ใครอยากไป Diversify ก็ตามอัธยาศัยครับ สุดท้ายก็อาจเก่งสุดขั้วแต่ไม่มีเพื่อนสักคน หรือคนทั่วไปยอมรับ แต่ชีวิตไม่มีความสุขจนต้องเสพความมีตัวตนที่แปลกแยกไปวัน ๆ ชีวิตเราเลือกเองครับ อาจยกตัวอย่างของภิกษุเมืองโกสัมพี ทะเลาะกันจนโยมระอา ตกลงกันไม่ใส่บาตรพระ จับพระอดข้าวซะนี่ เดือดร้อนกันไปหมดถึงดีกันได้ เป็นต้น
Spirit ความมีน้ำใจ หากเข้าไปในห้องเชียร์คงแปลว่า "เห็นแก่ส่วนรวม" แทน ในศาสนาพุทธมีหรือไม่? แปลง่าย ๆ ว่า สุขของผู้อื่นหน่ะมาก่อน สุขของตัวเองเอาไว้ท้าย ๆ นี่คือ เมตตาพรหมวิหารแบบ "อัปปมัญญา" คือไม่มีประมาณ เป็นปฏิปทาของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทีเดียว ทางโลกจักไปแปลว่า "จิตอาสา" หรือกระไรก็ว่ากันไปครับ เมนไอเดียอยู่ที่คำนึงถึงผู้อื่นก่อนตัวเอง