ห่างเหินการเขียนบทความธรรมะมาเสียนาน วันนี้มาเคาะสนิมออกสักหน่อย เขียนบทความธรรมะส่งท้ายเดือนเกิดดีก่า
กินเจกันดีไหม?
ช่วงนี้เป็นเทศกาลกินเจ บางคนก็เห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วย บางคนก็เข้าใจวัตถุประสงค์ของการกินเจเป็นอย่างดี บางคนไม่เข้าใจ บางคนไปคอยจับผิดคนกินเจว่า ทำไมจะต้องทำให้มีรูปร่างเหมือน กลิ่นเหมือน รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ เช่นนั้นจักได้ประโยชน์กระไร? จักละกิเลสกระไร? นานาจิตตังครับ ทั้งนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำเทศน์ของครูบาอาจารย์ครับว่า
สาธุ.... จะกินเนื้อ กินเจ ขี้ก็เหม็นเหมือนเดิม กินเจ ขี้เหม็นน้อยกว่า ก็เหม็นอยู่ดี สำคัญว่ากินเจ คือการตั้งใจทำความดี คือไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นเขา ถ้าเทียบในบารมี 10 นะ เขาก็ได้ ทานบารมี ศีลบารมี ได้เนกขัมมะ สมาธิ ออกจากเรือนไปช่วยงานศาลเจ้า ปัญญาได้ วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา มากน้อยเกิดแตกต่างกันไป
เรื่องข้อเสีย เราอย่าไปมอง มันขาดกำไร ไม่ได้ลงทุนกับเขาไปว่าเขา นี้ขาดทุน ไม่ได้ลงทุน แต่อนุโมทนา นี้ได้กำไร
ส่วนตัวแล้วข้าพเจ้ารู้สึกเฉย ๆ กับการกินเจ กินมังสวิรัติ รวมถึงการอดอาหาร แต่ก็มิได้รู้สึกต่อต้าน และก็มิได้ไปจับผิดใคร เขาทำความดี เราโมทนา เราก็ได้บุญไปกับเขาด้วย โดยไม่ต้องใช้ความพยายามกระไรเลย จะไปแอนตี้ให้ขาดทุนทำไม? กระทั่งคำเสียดสีก็ไม่ควรใช้ครับ (เห็นบ่อยบน FB) คำที่ไปทำร้ายจิตใจคนที่กำลังพยายามทำความดีอยู่ ทำให้เขาเสียกำลังใจนั้นไม่ฉลาดเลย การทำเช่นนั้นถึงเวลาที่เราจักได้มรรคผลบ้าง ก็จักเจอคนมาทำให้เสียกำลังใจทำความเพียรเช่นกัน
มีข้อแนะนำเล็ก ๆ เท่านั้นเองว่า อย่ากินเจเพื่อสนองอัตตา ตัวตน ตัวกู ว่าข้าเก่ง ข้าทำได้ ข้าดีกว่าคนอื่นที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ อย่างนั้นลำบากเสียเปล่าครับ ไม่ได้ประโยชน์กระไร ยิ่งไปเบ่งทับคนอื่นนี่นอกจากไม่ได้บุญแล้ว ยังได้บาปกลับมาด้วย คือไปเพิ่มมานะอัตตาตัวตน หรืออีโก้ให้มากขึ้น พยายามทำตัวเราให้ดีครับ ไม่ต้องไปดูคนอื่น
ที่ข้าพเจ้ามีความเห็นเช่นนั้น ก็เพราะครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าทดลองฉันมาทุกแบบทุกอย่าง ฉันมังสวิรัติ ฉันเจ ฉันถั่ว ฉันงา ฉันมาก ฉันน้อย จนไม่ฉันเลย อดอาหารหลาย ๆ วัน กิเลสมันมิได้สะเทือนเลยสักกระผีก ไม่ว่าจะกินยากกินลำบากแค่ไหน บรรเทาได้แค่กิเลสหยาบ ๆ ระงับความเมามันในรส ในรูปร่าง ในกลิ่นเท่านั้น มีข้อดีคือทำให้เป็นคนอยู่ง่าย กินง่าย ไม่ลำบากญาติโยมแค่นั้นเอง
แต่เชื่อไหมครับ? ทั้งที่ท่านตัดกิเลสจากการขบฉันที่ไม่ปกติทุกอย่างไม่ได้เลย สุดท้ายท่านบรรลุอรหัตตผลเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาได้ด้วยข้าวเพียงคำเดียว ภายในเวลาเพียง ๕๕ วันเท่านั้น
จิตคนเราบริสุทธิ์หลุดพ้น ด้วยปัญญา ครับ มิใช่อย่างอื่น
เพราะฉะนั้นเราต้องขบฉันกันด้วยปัญญา มิใช่ขบฉันกันด้วยการทรมานกาย และมิใช่ขบฉันกันสบายตามใจกิเลสจนเกินไป มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางนั่นเอง เป็นหนทางอันประเสริฐ (แต่ท่านบอกไว้ครับว่า ฉันเจ ฉันมังสวิรัติ ฉันน้อย ทำให้เจริญพระกรรมฐานได้ดีขึ้น เบา สบาย เทพยดาอำนวยพร)
บรรลุมรรคผลนิพพานด้วยข้าวคำเดียว
ช่วงที่ท่านปฏิบัติอย่างเข้มข้นนั้น มีพระผู้ใหญ่มาสอนครับ สอนให้ท่านพิจารณาข้าวเพียงคำเดียวนี่ละ ไม่ต้องพิจารณาอย่างอื่น
แต่การพิจารณาของท่านมีเคล็ดไม่ลับนะครับ คือท่านเจริญพระกรรมฐาน มีการนั่งสมาธิ เป็นต้น ก่อน เข้าฌานสมาบัติลึกที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แล้วถอยออกมาที่อุปจารสมาธิ หรือปฐมฌาน (สมาธิขั้นต้น) แล้วค่อยเริ่มพิจารณา การทำเช่นนี้ ทำให้จิตบริสุทธิ์ชั่วคราว พ้นไปจากกิเลสชั่วคราว จิตมีกำลังมาก มีปัญญาแหลมคมมาก เห็นความเป็นจริง ยอมรับได้ง่าย และตัดกิเลสเป็นสมุทเฉทปหาน (ขาดสิ้นเชิงไม่กำเริบอีก) ได้ง่ายด้วย
ท่านสอนให้เริ่มพิจารณาว่า ข้าวสวยเมล็ดหนึ่งที่เรากินเข้าไปนี่ มันมาจากไหน? มันมาจากข้าวสารใช่ไหม ข้าวสารต้องซื้อต้องหามา อาการหาเงินไปซื้อข้าวมานี่ มันอาการของสุขหรือทุกข์? มีข้าวสารแล้วก็ยังไม่พอ ต้องมีหม้อ มีน้ำ มีเตา มีเชื้อเพลิง หรือไฟฟ้า ทุกอย่างล้วนต้องใช้เงินไปหาซื้อมา การหาเงินมาซื้อนั่นซื้อนี่นั้น มันเป็นอาการของสุขหรือทุกข์?
ภาพประกอบจาก : http://www.thaisiamboonphong.com/
ย้อนกลับไปอีก หากเรามิได้มีเงินไปซื้อข้าวสาร เราก็ต้องไปปลูกข้าวกินเอง ใครเคยไปลองปลูกข้าวก็คงทราบดีว่า การปลูกข้าวนั้นมันลำบากขนาดไหน หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ต้องหว่าน ต้องไถ ต้องดำนา ต้องใส่ปุ๋ย ต้องกำจัดวัชพืช ต้องกำจัดศัตรูพืช ต้องเก็บเกี่ยว สุดท้ายได้ข้าวเปลือกมา ก็ยังต้องเอาไปสีอีก กว่าจักได้มาเป็นข้าวขาว ๆ ให้เราหุง อาการทั้งหลายเหล่านี้ เป็นอาการของสุขหรือทุกข์? (ยิ่งไปอยู่ที่กันดาร ข้าวยิ่งปลูกยาก เช่น บนดอย พื้นราบไม่มี ต้องทำเกษตรขั้นบันได ทั้งที่ลำบากยากเย็นขนาดนั้นแล้ว บางทีก็ยังถูกซ้ำเติมด้วยศัตรูพืช เช่น หนู แมลง ปลูกตั้งมาก ขยันแทบตาย แต่ได้ข้าวไม่พอกิน น่าสงสารมากครับ)
ภาพประกอบจาก : http://www.thaisiamboonphong.com/
การทำนาทั้งหลาย ก็ยังไม่โหดเท่าตอนที่บุกเบิกแผ้วถางเอาป่ามาทำเป็นนาข้าว (เมื่อก่อนก็เคยสงสัยครับว่า ทำไมเมืองจีนพื้นที่ตั้งกว้างใหญ่ไพศาล ปลูกข้าวไม่พอกิน เพราะจริง ๆ การปลูกข้าวมิใช่เรื่องง่าย บรรพบุรุษของเราเหนื่อยบุกเบิกกันมามาก กว่าเราจักได้สบายในวันนี้) สมัยก่อนมิได้มีเลื่อยยนต์เหมือนปัจจุบัน ต้องใช้แรงคน ช้าง ม้า วัว ควาย ทั้งสิ้นในการโค่นต้นไม้ โค่นเสร็จยังไม่พอ ต้องมาเผาตอไม้ เผาเสร็จแล้วยังต้องขุดรากมันขึ้นมาอีก ขุดเสร็จแทบรากเลือด ยังต้องมาปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน ต้องทำคันนา อาการทั้งหมดนี้ เป็นอาการของสุขหรือทุกข์?
ถ้าคำตอบทั้งหมดคือทุกข์ แล้วเรายังจักพอใจการเกิดกันอีกหรือ? เพียงข้าวคำเดียวยังทุกข์ได้ขนาดนี้?
ท่านพิจารณาซ้ำ ๆ อยู่อย่างนี้ จนบรรลุอรหัตตผลครับ ภายในเวลาไม่ถึง ๒ เดือนดี
นั่นเป็นวิธีแบบฉบับของท่านครับ (ท่านอาจจะทำบุญด้วยข้าวมาเยอะ วัตถุมงคลยังมีชื่อว่า "พระคำข้าว" เลย) คนเราทุกคนมีวิธีบรรลุมรรคผลเป็นของตัวเอง ไม่เหมือนกันเลยสักคนเดียว ของท่านใช้การพิจารณาข้าวคำเดียว ของเราอาจเป็นอย่างอื่น กระนั้นการพิจารณาเรื่องทุกข์ของข้าวคำเดียวนี้ ก็เป็นสิ่งที่ควรระลึกถึง เพราะสิ่งใดที่ทำให้เราคลายความเมามันในกามคุณ ๕ มี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ล้วนเป็นบุญทั้งสิ้น
ทีนี้ถ้าเรากำลังใจไม่ถึงอย่างนั้นเล่า จักพอมีวิธีอื่นให้พิจารณา ทำให้เรากินข้าวแล้วได้บุญทุกมื้อหรือไม่?
ปกติคนเราเวลาจะกินข้าว ก็ต้องไปเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบมากินก่อน พอจานข้าวมาวางตรงหน้า ผนวกกับท้องที่กำลังหิว ก็ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมแล้ว ใครจะกิน ใครจะไม่กิน กรูไม่สน กรูจะกินของกรูละ
วิธีกินให้ได้บุญ คือ พิจารณาก่อนครับ แค่เริ่มมาก็ได้บุญแล้ว ที่เรากินเพราะหิวนี่เรากินเพราะสัญชาตญาณครับ สัตว์เดรัจฉานก็ทำได้ แต่หากเราหยุดพิจารณาอาหารก่อนกิน นั่งมองมันสักแป๊บนึง นี่เราก็ได้บุญแล้ว บุญจากอะไรหนอ?
บุญจาก "สติ" ครับ
การที่เราเบรคตัวเอง ไม่โจนเข้าหาอาหารด้วยอำนาจแห่งความหิวนั้น เบื้องต้นท่านได้สติมาตุนติ๊ดนึงก่อนแล้ว เพราะคนทั่วไปส่วนใหญ่จะกินโดยขาดสติ รู้สึกตัวอีกที อะ อะ... อิ่มซะแล้ว!!!
(ความจริงตรงนี้ฝึกง่ายนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้ก่อนจะกินอะไร คนจะเบรคติ๊ดนึงอยู่แล้ว เฮ้ย... ตรูถ่ายรูปไปลงเฟสบุ๊คก่อนดีปะ? การทำเช่นนั้นได้สติ <คนขาดสตินั่นกว่าจะรู้ตัวว่าควรถ่ายรูปอาหารไปลงเฟสบุ๊ค ก็หมดไปแล้วค่อนจาน หรืออิ่มไปแล้วค่อยนึกได้> แต่ไม่ได้ปัญญา คือเป้าหมายมิได้ละตัวตน แต่พอกพูนตัวตน การพอกพูนตัวตน เป็นการเพิ่มทุกข์ มิใช่พ้นทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้ เราต้องมีทั้งสติและปัญญา)
บุญขั้นต่อไป คือเราต้องพิจารณาเห็นความจริงของอาหาร เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เราไม่มัวเมาไปใน รูป รส กลิ่น ซึ่งในสมถกรรมฐาน ๔๐ กอง มีกองหนึ่งเป็นเรื่องอาหารโดยตรง คือ อาหาเรปฏิกูลสัญญา
แปลว่า จงจำไว้นะ!!! ว่าอาหารที่เราเจี๊ยะกันอย่างหอเจี๊ยะหอเจ๊าะนี่ มันคือสิ่งสกปรก มีวิธีพิจารณาได้ล้านแปดตลบมาก จักลองยกตัวอย่างให้ดูสักเล็กน้อย
๑. ถ้าอาหารสะอาด มันคงไม่เน่า แต่ทิ้งไว้ไม่นานมันก็เน่าบูดทุกจานไป แสดงว่า มันมีเชื้อความสกปรกแฝงอยู่ในตัวมัน
๒. อาหารที่เป็นพืชนี่ เขาต้องใส่ปุ๋ย ปุ๋ยทั้งหลาย ก็อิขี้ดี ๆ นี่เอง เขาเอาขี้มารดต้นไม้ ทำให้มันงอกงาม เสร็จแล้ววาดภาพขี้ในใจไปด้วย รับรอง อาหารอร่อยแค่ไหน ก็กินไปงั้น ๆ แหละ บางทีพาลกินไม่ลงไปเลย 5555+
๓. อาหารที่เป็นเนื้อนี่ มันก็มาจากสัตว์ สัตว์ก็ไปกินพืช พืชก็มาจากขี้ ฉะนั้นเนื้อสัตว์น่ากินแค่ไหน มันก็มาจากขี้นั่้นเอง นึกภาพไปถึงที่เราปล่อยลงส้วมไปเมื่อเช้าด้วยครับ แหวะ ๆ ๆ ... เอิ๊ก ๆ
๔. จะบอกว่า อาหารสะอาด เพราะทำสุกแล้ว ฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน ทว่าถ้าสะอาดจริง ทำไมหลังรับประทานเข้าไปแล้ว ก็ต้องไปแปรงฟัน ล้างปาก ล้างมือ ถ้ามันสะอาด มันก็คงต้องหอมหวลชวนดมไปตลอดจริงปะ?
๕. นอกจากอาหารจะสกปรกแล้ว อิตัวเราเองนี้ก็สกปรกด้วย อาหารที่ว่าสะอาด ๆ ลองเอาใส่ปากเคี้ยว ๆ สักหน่อย แล้วคายออกมาสิ จะกล้ากินเข้าไปใหม่ไหม? ถามว่า ทำไมไม่กิน ก็เพราะมันสกปรก อ้าว... เมื่อกี้มันยังสะอาดอยู่เลย เข้าไปกลั้วกับน้ำลายในปากเราแป๊บเดียว สกปรกไปแล้วเรอะ? ตกลงตัวเรานี้มันก็สกปรกโสโครกด้วยงั้นสิ?
๖. จริง ๆ แล้ว ร่างกายเรานี้มันก็สกปรกอิ๊บอ๋ายเลยแหละ ลองไม่อาบน้ำสักเจ็ดวันสิ เน่าสนิท ที่ว่าหอม ๆ สะอาด ๆ กันหน่ะ มันกลิ่นสบู่กลิ่นแชมพูกลิ่นน้ำหอมทั้งสิ้น บรรจงสรรหาทำกันก็เพื่อปกปิดความโสโครกของร่างกายเราชั่วคราวเท่านั้นเอง ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็ต้องไปทำความสะอาดมันอีก แล้วเราจักยังพอใจผิวหนังกำพร้าบาง ๆ ที่ห่อหุ้มความโสโครกข้างในกันอีกหรือ? ลองลอกหนังกำพร้าออกมาสิ ทั้งน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง จักพร่างพรูออกมา ร่างกายเรามันก็เหมือนถุงห่อขี้ห่อเยี่ยวนั่นเอง โสโครกไปเสียหมด
อ้าว... คุยเรื่องอาหารสกปรกอยู่ ข้ามมาเรื่องอสุภะได้ไงเนี่ยะ ความจริงมันก็เรื่องเดียว ๆ กันหมดนั่นแล ไม่ว่าจะอาหาร หรือขี้ หรือตัวเรา ก็ประกอบด้วยธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลมสกปรกซกมกพอ ๆ กัน เพียงแต่เรามาพิจารณาให้เห็นความจริงเท่านั้น ท่านแนะไว้กรรมฐานกองนี้ เหมาะแก่ผู้ที่เป็นราคจริต ชอบอะไรสวย ๆ งาม ๆ เป็นระเบียบเรียบร้อยนั่นแล
นี่เรากินข้าวกันมื้อหนึ่ง ถ้าพิจารณาได้สักนิดสักหน่อย ไม่ต้องเยอะหรอก วันละนิดวันละหน่อยก็พอ ก็ได้บุญไปตุนกันเพียบเลย
หรือจะเอาแบบพระ เวลาพระฉันภัตตาหารนี่ ท่านพิจารณาว่า "ปฏิสังขา โยนิโส..." แปลว่า อาหารทั้งหลายนี้ ไม่ได้กินเพื่อความอิ่มหมีพีมันของร่างกาย ไม่ได้กินเพื่อความเมาในรูป ในรส ในกลิ่น กินเพื่อระงับเวทนาเก่า (ความหิว) บรรเทาเวทนาใหม่ กินเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเพื่อประพฤติพรหมจรรย์เท่านั้น...
อันนี้ก็ได้บุญมากเช่นกัน
ได้บุญมากที่สุด ก็ต้องพิจารณาเป็นไตรลักษณ์ กินก็ทุกข์ ไม่กินก็ทุกข์ กินก็แก่ ไม่กินก็แก่ กินก็ตาย ไม่กินก็ตาย บังคับอะไรไม่ได้ซ้ากอย่าง... หามีกระไรน่ายึดน่ามั่นหมาย คลายกำหนัด เข้าวิปัสสนา หลุดพ้นกันไปเลย อันนี้ก็ตามแต่อัธยาศัย และอินทรีย์อ่อนแก่ของแต่ละคน
ไม่เห็นจะยากเลยใช่ไหมล่า? มาเริ่มกินข้าวให้เป็นบุญกันครับ
เจริญธรรม ฯ